รัฐควรกู้เงินจากต่างประเทศหรือนำเงินทุนสำรองมาใช้
ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส ศูนย์ศึกษาธุรกิจและรัฐบาล มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
kriengsak@kriengsak.com, http:// www.kriengsak.com
การที่ ครม.เศรษฐกิจ อนุมัติกรอบการกู้เงินต่างประเทศ ตามมาตรการเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและโครงสร้างพื้นฐานจำนวน 2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 7 หมื่นล้านบาท กู้จาก 3 แห่ง ประกอบด้วย ธนาคารโลก ธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย (เอดีบี) และไจก้า กรอบวงเงินกู้จากธนาคารโลก 1,000 ล้านดอลลาร์ ส่วนการกู้เงินจากเอดีบี และ ไจก้า แห่งละ 500 ล้านดอลลาร์
ผมมองว่าหากรัฐจะนำเงินมาใช้ในการพัฒนาเศรษฐกิจและโครงสร้างพื้นฐาน ควรนำเงินทุนสำรองระหว่าประเทศมาใช้ในการลงทุน แทนการกู้เงินจากต่างประเทศทั้งหมด เพื่อการบริหารจัดการเงินทุนฯ อย่างมีประสิทธิภาพตามที่ได้กล่าวในบทความที่ผ่านมา
สำหรับข้อโต้แย้ง ที่ให้นำเงินทุนสำรองมาใช้ แทนการกู้เงินต่างประเทศ ผมเห็นว่า ต้องพิจารณาจากต้นทุนค่าเสียโอกาสของทุนสำรอง เทียบกับต้นทุนของเงินกู้ต่างประเทศ หากการนำทุนสำรองมาใช้มีค่าเสียโอกาสสูงกว่า ดอกเบี้ยเงินกู้ต่างประเทศก็ควรกู้เงิน แต่หากนำทุนสำรองมีค่าเสียโอกาสต่ำกว่า ดอกเบี้ยเงินกู้ต่างประเทศก็ควรใช้ทุนสำรอง
เมื่อพิจารณาดอกเบี้ยเงินกู้ของสถาบันต่างประเทศ 3 แห่ง ไจก้า คิดอัตราดอกเบี้ยที่ร้อยละ 1.4 (ดอกเบี้ยคงที่) ระยะเวลาชำระคืนหนี้ 25 ปี เวิลด์แบงก์ และเอดีบีคิดอัตราดอกเบี้ยอิง Libor บวกเล็กน้อย ปัจจุบัน อัตราดอกเบี้ย Libor ระยะเวลา 1 ปี อยู่ที่ร้อยละ 2.12++ ขณะที่ ธปท.นำทุนสำรองไปลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ 30 ปี ผลตอบแทนร้อยละ 3.67
จะเห็นได้ว่า พันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ มีผลตอบแทนสูงกว่า ดอกเบี้ยเงินกู้สถาบันทั้ง 3 แห่ง แต่ในระยะยาว อัตราดอกเบี้ย Libor อาจเพิ่มสูงขึ้น ดอกเบี้ยเงินกู้เวิลด์แบงก์และเอดีบี อาจสูงกว่าผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐ ขณะที่ ผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอาจลดต่ำลง ผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐ อาจต่ำกว่าดอกเบี้ยเงินกู้ต่างประเทศ แต่โดยปกติดอกเบี้ยเงินกู้จากญี่ปุ่นมักจะมีดอกเบี้ยต่ำที่สุดในโลก
ผมเห็นว่า ไม่ควรนำเงินทุนสำรองมาใช้ แทนการกู้เงินจากไจก้า เพราะเงินกู้ไจก้ามีดอกเบี้ยต่ำกว่า ผลตอบแทนจากการลงทุนในพันธบัตรสหรัฐ แต่สำหรับเงินกู้เวิลด์แบงก์และเอดีบี ควรพิจารณาจาก แนวโน้มของอัตราดอกเบี้ย LIBOR และแนวโน้มผลตอบแทนของพันธบัตรสหรัฐ
อย่างไรก็ตาม การเงินกู้จากต่างประเทศอาจไม่เพียงพอกับความต้องการลงทุน รัฐบาลมีแผนลงทุนโครงสร้างพื้นฐานถึง 2 ล้านล้านบาทหรือ 5.7 หมื่นล้านดอลลาร์ ซึ่งอาจจำเป็นต้องนำเงินทุนสำรองบางส่วนมาใช้ และส่งเสริมให้เอกชนทั้งในและต่างประเทศนำเงินมาร่วมลงทุนในโครงการของรัฐ
นอกจากนี้ การที่จะนำเงินทุนสำรองออกมาใช้ จะต้องกำหนดหลักเกณฑ์อย่างรัดกุม ต้องกำหนดกรอบการนำเงินทุนสำรองไปใช้ในปริมาณที่เหมาะสม ไม่กระทบเสถียรภาพทางการเงิน ต้องไม่นำทุนสำรองออกไปมากเกินกว่าความต้องการเงินตราต่างประเทศ ได้แก่ หนี้ต่างประเทศระยะสั้น เงินต่างประเทศที่ลงทุนในหุ้น และการนำเข้าอย่างน้อย 3-5 เดือน ต้องไม่นำทุนสำรองออกไปใช้มากเกินไปในช่วงเวลาหนึ่ง ๆ เพราะค่าเงินบาทอาจผันผวน ต้องวางกรอบในการใช้อย่างเหมาะสม โปร่งใส เพื่อป้องกันการคอร์รัปชัน ต้องจำกัดประเภทของโครงการลงทุน โดยเน้นโครงการของรัฐ ป้องกันปัญหาการขาดทุนจากการลงทุน เพราะหากเปิดกว้างมาก อาจขาดทุนเหมือนเทมาเซ็คของสิงคโปร์