รัฐบาลควรเปลี่ยนวิธีคิด: การแจกเช็คช่วยชาติหรือไม่

ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส ศูนย์ศึกษาธุรกิจและรัฐบาล มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
kriengsak@kriengsak.com, http:// www.kriengsak.com

การแจกเช็คช่วยชาติ 2,000 บาทของรัฐบาล เกิดปัญหาและความวุ่นวายในหลายด้าน อาทิ การตกหล่นของรายชื่อผู้ที่มีสิทธิได้รับเช็ค ความไม่ชัดเจนว่าคนที่มีสิทธิได้รับเช็คกลุ่มต่าง ๆ จะมารับเช็คได้ในวันใด ประชาชนที่มารอคิวรับเช็คมีจำนวนมาก ทำให้เจ้าหน้าที่และสถานที่ไม่สามารถรองรับได้ ประชาชนต้องเสียเวลาครึ่งค่อนวัน เพื่อมารอคิวรับเช็ค สถานประกอบการต้องหยุดการดำเนินงาน เพราะลูกจ้างต้องมารับเช็ค

ในวันแรกที่มีการแจกเช็คช่วยชาติ ที่ลานคนเมือง กทม. ประชาชนที่มารอคิว ถึงกับตะโกนถาม นายกรัฐมนตรีว่า ldquo;ทำไมต้องให้ประชาชนเสียเวลามารอคิว ทำไมไม่โอนเงินเข้าบัญชีไปเลยrdquo; นายกรัฐมนตรีชี้แจงว่า เหตุผลที่ไม่โอนเงินเข้าบัญชี เพราะไม่ต้องการให้เสียมูลค่าของเงินไป ประชาชนสามารถนำเช็คไปซื้อสินค้าและบริการ โดยได้มูลค่าสูงกว่า 2,000 บาท ในขณะที่ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานชี้แจงว่า การแจกเป็นเช็คมีต้นทุนการพิมพ์เช็คเพียงฉบับละ 2 บาท แต่การโอนเข้าบัญชี ต้องมีค่าธรรมเนียมในการโอนสูงกว่า กล่าวคือ 5 บาทต่อบัญชี

หากพิจารณาจากประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้น รวมถึงคำชี้แจงของนายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน จะเห็นว่ารัฐบาลนี้คิดไม่ครบถ้วนในการบริหารจัดการโครงการนี้ อาทิ

รัฐบาลคิดเฉพาะ ldquo;ต้นทุนทางการเงินrdquo; ไม่ได้คิด ldquo;ต้นทุนในเชิงเศรษฐศาสตร์rdquo;

ผมเคยเขียนบทความ เสนอให้แจกเงินด้วยวิธีที่มีต้นทุนต่ำที่สุด คือ การโอนเงินเข้าบัญชี ซึ่งต้นทุนในความหมายของผม คือ ต้นทุนทางเศรษฐศาสตร์ ไม่ใช่แค่ต้นทุนที่เป็นตัวเงินเท่านั้น การที่รัฐบาลแจกเป็นเช็ค สะท้อนว่า รัฐบาลไม่ได้คำนึงถึง ldquo;ต้นทุนทางเศรษฐศาสตร์rdquo; กล่าวคือ รัฐบาลคิดเฉพาะต้นทุนของรัฐบาล และคิดเฉพาะต้นทุนที่เป็นตัวเงินเท่านั้น

รัฐบาลมักจะอ้างเสมอว่า ต้นทุนการพิมพ์เช็คฉบับละ 2 บาท ต่ำกว่าการโอนเงินเข้าบัญชี 5 บาทต่อบัญชี แต่ไม่ได้นำต้นทุนทางสังคมเข้ามาคำนวณอยู่ในต้นทุนของโครงการด้วย เพราะไม่คำนึงถึงค่าเดินทางของประชาชนเพื่อมารับเช็ค ไม่คำนึงถึงมูลค่าของเวลาที่เสียไปของประชาชนที่มารอคิวรับเช็ค ไม่คำนึงถึงความสูญเสียของสถานประกอบการที่ต้องหยุดดำเนินงาน ไม่คำนึงถึงต้นทุนในการดำเนินการแจกเช็ค ฯลฯ
ผมลองคำนวณต้นทุนอื่น ๆ ที่เกิดขึ้นของผู้มารับเช็ค 2000 บาท อาทิ ต้นทุนค่าเดินทางไป-กลับ

สมมติว่า ผู้มารับเช็คนั่งรถเมล์ทั้งไปและกลับรวม 14 บาทต่อคน (เที่ยวละ 7 บาท) แต่ในความเป็นจริงมีผู้มารับเช็คที่นั่งแท็กซี่ หรือนั่งรถมาจากต่างจังหวัด, ต้นทุนการเสียเวลารอคิวรับเช็ค โดยสมมติว่าเสียเวลารอคิวครึ่งวัน คิดมูลค่าของเวลาต่ำสุด 100 บาทต่อคน (ค่าจ้างขั้นต่ำ 200 บาทต่อวัน) แค่เฉพาะต้นทุนค่าเดินทางและค่าเสียเวลาก็คิดเป็นต้นทุน 114 บาทต่อคนแล้ว ยังไม่รวมต้นทุนอื่น ๆ อีกจำนวนมาก ขณะที่การโอนเงินเข้าบัญชี แม้รัฐบาลจะมีต้นทุนที่เป็นตัวเงินมากกว่า แต่ต้นทุนทางเศรษฐศาสตร์ต่ำกว่ามาก รัฐบาลไม่ควรทำตัวเหมือนเอกชน ที่คิดแต่เพียงว่า จะแจกเงินด้วยวิธีที่รัฐบาลมี ldquo;ต้นทุนที่เป็นตัวเงินต่ำที่สุดrdquo; เท่านั้น

มีหลายวิธีที่จะช่วยเพิ่มมูลค่าของเงิน 2,000 บาท

เมื่อพิจารณาด้านผลตอบแทนของการแจกเงิน 2,000 บาท แม้การแจกเป็นเช็คจะทำให้ประชาชนได้สินค้าและบริการที่มีมูลค่ามากกว่า 2,000 บาท ซึ่งจะกระตุ้นให้ประชาชนมีการใช้จ่ายมากขึ้น และทำให้มีมูลค่าทางเศรษฐกิจมากกว่าจำนวนเงินที่รัฐบาลแจกให้ประชาชน แต่ไม่ใช่ว่า ไม่มีวิธีอื่นที่จะช่วยเพิ่มมูลค่าของเงินที่รัฐบาลแจกให้ประชาชน

ผมขอเสนอวิธีเพิ่มมูลค่าของเงิน โดยไม่จำเป็นต้องใช้เช็ค อาทิ การประสานกับธุรกิจห้างร้านต่าง ๆ ให้ช่วยลดราคาสินค้า ซึ่งในความเป็นจริงภาคธุรกิจพยายามลดราคาอยู่แล้ว เพราะต้องการที่จะกระตุ้นยอดขายของตนเอง การให้ประชาชนนำบัตรประกันสังคมหรือบัตรอื่น ๆ ไปซื้อสินค้าราคาพิเศษ เช่น ประชาชนสามารถนำเงิน 2,000 บาท ไปแลกคูปองก์ซื้อสินค้ามูลค่ามากกว่า 2,000 บาทในห้างร้านที่จัดโปรโมชั่นร่วมกับรัฐบาลในโครงการนี้ ซึ่งวิธีเหล่านี้จะจูงใจให้

กลุ่มคนที่ไม่ได้รับเงิน 2,000 บาท (รายได้สูงกว่า 15,000 บาท) มีการใช้จ่ายเพิ่มขึ้นด้วย ไม่ใช่จำกัดเฉพาะคนที่ได้รับเงินเท่านั้น ทำให้มีเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจมากขึ้น

ผมหวังว่า โครงการครั้งต่อ ๆ ไปของรัฐบาล จะคิดครบถ้วน และรอบด้านมากขึ้น เพื่อโครงการที่เกิดขึ้นเป็นโครงการที่ช่วยบรรเทาปัญหาให้กับประชาชนอย่างแท้จริง

admin
เผยแพร่: 
หนังสือพิมพ์โกลบอลบิซิเนส
เมื่อ: 
2009-04-23