เป็นนักบริหารเวลารุ่นเยาว์

เด็กที่ถูกฝึกในเรื่องการบริหารเวลาอย่างดี เด็กจะกลายเป็นผู้ที่มีวินัยสูง มีความรับผิดชอบ รู้ว่าเวลาไหนควรทำอะไร เรียนเป็นเรียน เล่นเป็นเล่น เวลาไหนควรอ่านหนังสือ เวลาใดควรเป็นเวลาในการพักผ่อน ฯลฯ เด็กในกลุ่มนี้มีแนวโน้มที่จะประสบความสำเร็จในการทำสิ่งต่าง ๆ และมีความก้าวหน้าในการเรียนมากกว่าเด็กในกลุ่มที่ไม่รู้จักบริหารเวลาหรือควบคุมตนเอง เอาแต่เล่นสนุกไปวัน ๆ ซึ่งดูเหมือนว่าชีวิตในช่วงสั้น ๆ จะเต็มไปด้วยความสุข สนุกสนาน แต่ท้ายที่สุดกลับต้องทุกข์ระทมในผลที่ได้รับ อาทิ สอบตก เรียนซ้ำชั้น ทำอะไรก็ไม่สำเร็จ ไม่รู้สึกภาคภูมิใจในตนเอง มองตนเองด้อยค่า เมื่อเติบโตขึ้นมาเป็นผู้ใหญ่ย่อมไม่สามารถประสบความสำเร็จในหน้าที่การงานได้

จากการวิจัยพบว่าเด็กส่วนใหญ่จะชอบอะไรที่เป็นกิจวัตรและสามารถคาดการณ์ได้ เนื่องจากเด็กจะรู้สึกมีความมั่นคงและสบายใจในสิ่งที่เขาสามารถควบคุมได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อทราบว่าในแต่ละวันเขาจะต้องทำอะไรบ้าง เช่น ในช่วงเวลาปิดเทอม หรือวันหยุดต่าง ๆ ที่ไม่ต้องเรียนหนังสือตามปกตินั้น เด็กต้องการทราบว่าเขาควรจะทำอะไรในช่วงเวลาดังกล่าว

การฝึกฝนเด็กให้เป็นนักบริหารเวลาที่ดีนั้นจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องเริ่มตั้งแต่ยังเป็นเด็กเล็ก เนื่องจากเป็นเรื่องของการฝึกวินัยดังนั้นเริ่มฝึกเร็วเท่าไรยิ่งดีเท่านั้น เข้าทำนองไม้อ่อนดัดง่ายไม้แก่ดัดยาก โดยการฝึกฝนเด็กให้เป็นนักบริหารเวลาที่ดีนั้นเริ่มจาก

ฝึกตั้งแต่ปฐมวัยอายุ 3 ปีขึ้นไป
หรือในวัยที่พอรู้ความ เริ่มรู้ภาษาเขียนและภาษาพูด เริ่มมีความเข้าใจในเรื่องของเวลาบ้างแล้ว เริ่มดูเวลาได้ อ่านเข็มนาฬิกาเป็นควรสอนให้เด็กรู้ถึงคุณค่าของเวลาโดยอธิบายให้เข้าใจง่าย ๆ ว่าเวลาเป็นสิ่งที่มีจำกัด เราไม่สามารถหยุด สะสม หรือซื้อเวลาได้ เวลาเมื่อผ่านไปแล้วจะผ่านไปเลยไม่ย้อนมาอีก การปล่อยเวลาให้ผ่านไปโดยเปล่าประโยชน์จะทำให้เราพลาดในสิ่งดีต่าง ๆ ไปอย่างน่าเสียดาย รวมทั้งสอนให้เด็กเห็นคุณค่าของการบริหารเวลาว่า จะทำให้สามารถทำในหลายสิ่งหลายอย่างได้มากมายเมื่อเทียบกับคนที่ไม่บริหารเวลา ฯลฯ

อย่างไรก็ตามเราพบว่าเด็ก ๆ จะสามารถเข้าใจสิ่งที่เป็นรูปธรรมมากว่าสิ่งที่เป็นนามธรรม และชอบในสิ่งที่สามารถจับต้องมองเห็นได้อย่างชัดเจน ดังนั้นการสอนให้เด็กเรียนรู้เรื่องการบริหารเวลาจึงต้องมีตัวช่วยที่ทำให้เด็กเห็นว่าเวลานั้นเป็นสิ่งที่สามารถจับต้องได้ นั่นคือ การทำ ldquo;ตารางเวลาrdquo;
ตารางเวลาเป็นอุปกรณ์ที่สำคัญมากของการเป็นนักบริหารเวลาที่ดี การทำตารางเวลาจะช่วยให้เห็นคุณค่าของเวลามากยิ่งขึ้น ฝึกฝนการเป็นนักวางแผนสิ่งต่าง ๆ ที่ต้องทำในแต่ละวัน

การฝึกให้เด็กทำตารางเวลาของตัวเองมีประโยชน์ในการฝึกฝน ให้เด็กใช้เวลาให้เกิดประโยชน์สูงสุด ฝึกให้เรียนรู้ที่จะไม่ทำตามใจตนเอง มีความรับผิดชอบ มีความคิดรอบคอบ มีเหตุมีผล มีการวางแผนล่วงหน้า มีกรอบกติกาชัดเจนรู้ว่าจะต้องทำอะไรก่อนหลังนอกจากนี้ยังเป็นประโยชน์ทำให้ทราบว่าในแต่ละวันเด็กได้ทำอะไรไปบ้าง ใช้เวลาไปในทำในสิ่งที่ไร้สาระหรือไม่ เพื่อหาทางช่วยเหลือได้อย่างทันท่วงที เป็นต้น

สอนเด็กรักทำตารางเวลาอย่างไร
หลักการสำคัญ คือ ต้องทำให้ตารางเวลาเป็นเรื่องที่สนุกสำหรับเด็ก ให้เด็กรู้สึกตื่นเต้นและท้าทายเมื่อทำได้สำเร็จ โดยเริ่มจาก

ประดิษฐ์ตัวตารางเวลา
สามารถใช้กระดาษทั่วไป กระดาษสีโปสเตอร์ กระดานไวท์บอร์ด กระดานดำ หรืออาจดัดแปลงมาจากปฏิทินที่มีอยู่แล้วโดยเลือกปฏิทินแขวนหรือปฏิทินตั้งโต๊ะที่มีช่องขนาดใหญ่พอที่จะสามารถเขียนกิจกรรมต่าง ๆ ลงไปได้ และนำมาตกแต่งให้สวยงาม ตีตารางให้เป็นช่องขึ้นกับว่าเราจะทำเป็นตารางเวลารายวัน รายสัปดาห์หรือรายเดือน นอกจากนี้ยังสามารถใช้คอมพิวเตอร์ช่วยในตีตารางหรือใช้โปรแกรมสำเร็จรูปที่สามารถเลือกรูปแบบของตารางเวลาและพิมพ์ออกมาได้เลย เช่น ในโปรแกรม Microsoft Outlook เป็นต้น อย่างไรก็ตามในปัจจุบันได้มีผู้ผลิตซอร์ฟแวร์สำหรับสอนเด็กทำตารางเวลาโดยตรง

จัดกิจกรรมลงตารางเวลา
โดยเริ่มจาก

...ตั้งเป้าหมาย
ว่าในแต่ละสัปดาห์หรือในแต่ละเดือนนั้นมีสิ่งใดบ้างที่เด็กต้องทำให้เสร็จ ตัวอย่างเช่น ทำงานประดิษฐ์จากวัสดุเหลือใช้ส่งครู โดยกำหนดเวลาให้ เสร็จภายใน 1 สัปดาห์สามารถสอนให้เด็กเรียนรู้ที่จะซอยเป้าหมายใหญ่ให้ย่อยลงมาด้วยการแบ่งชิ้นงานออกเป็นส่วน ๆเช่น ใช้เวลา 2 วันในการหาวัสดุ และใช้เวลา 3 วันในการประดิษฐ์ชิ้นงานให้เสร็จ
นอกจากนี้ สามารถกำหนดเป้าหมายพิเศษในแต่ละสัปดาห์หรือในแต่ละเดือนให้กับเด็กได้ด้วย โดยอาจตั้งเป็นชื่อหัวข้อที่น่าสนใจ เช่น ตั้งเป้าว่าให้สัปดาห์นี้เป็นสัปดาห์แห่งการท่องอาณาจักรสัตว์โลก โดยสัปดาห์นี้จะเน้นให้เด็กเรียนรู้จักสัตว์ชนิดต่าง ๆ ให้มากที่สุดในแต่ละวันผ่านทางรูปภาพหรือซีดีสื่อการสอน เป็นต้น

...จัดลำดับความสำคัญของกิจกรรมต่าง ๆ
ที่ต้องทำในแต่ละสัปดาห์หรือแต่ละเดือน ว่าสิ่งใดมีความสำคัญมากกว่ากัน อะไรควรทำก่อน อะไรควรทำทีหลัง โดยควรรับฟังความคิดเห็นของเด็กในการจัดตารางเวลาด้วยเช่นกันและควรจัดกิจกรรมต่าง ๆ ให้สมดุลกันในทุกด้านไม่เอียงข้างจนเกินไป เช่น จัดเวลาให้เด็กเรียนพิเศษอย่างอัดแน่นโดยไม่มีเวลาให้เด็กได้ไปเล่น หรือพักผ่อนหย่อนใจเลย

...ใส่กิจกรรมต่าง ๆ ลงไปในตารางเวลา
โดยอาจใช้วิธีเขียนด้วยสีต่าง ๆ เป็นตัวแบ่งประเภทของกิจกรรม หรือใช้เป็นภาพสัญลักษณ์แทนก็ย่อมได้ โดยวางตารางเวลาที่เสร็จเรียบร้อยแล้วนี้ในบริเวณที่สามารถเห็นได้ชัดเจน เช่น หน้าโต๊ะเขียนหนังสือติดที่ผนังกำแพง บานประตู เป็นต้น

ควบคุมการใช้ตารางเวลา
โดยการย้อนกลับมาดูและประเมินผลด้วยกันในแต่ละวันว่าเด็กสามารถทำกิจกรรมต่าง ๆ ที่กำหนดไว้ในตารางเวลาได้สำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดีหรือไม่

...หากเด็กทำไม่สำเร็จ
ช่วยกันหาว่าเป็นเพราะสาเหตุใด และหาวิธีการช่วยเหลือ เช่น หากสาเหตุมา มาจากตัวเด็กเองที่เถลไถล ขี้เกียจ ไม่ทำการบ้านให้เสร็จ อาจใช้วิธีลงโทษด้วยการสอนในเรื่องค่าเสียโอกาส เช่น ไม่ให้เด็กเล่นเกมคอมพิวเตอร์ หรือไปทำความสะอาดบ้านเพื่อเป็นการลงโทษ แต่หากสาเหตุมาจากการวางตารางเวลาที่แน่นเกินไป ควรปรับเปลี่ยนให้ใหม่ให้ยืดหยุ่นและเหมาะสมกับบริบทชีวิตจริง

...หากเด็กทำสำเร็จ
ซึ่งเป็นสิ่งที่สะท้อนให้เห็นว่าเด็กได้ทำอย่างมุ่งมั่นตั้งใจในการทำตามตารางเวลาที่วางไว้ ไม่ท้อถอยหรือเลิกราไปกลางครัน อาจให้กำลังใจเด็กด้วยการให้เป็นรางวัล โดยการสะสมแต้มคะแนนในแต่ละสัปดาห์แล้วนำมาแลกเป็นรางวัล หรือด้วยการพูดให้กำลังใจให้เด็กทำดียิ่งขึ้นต่อไป

การสอนเด็กให้เรียนรู้จักการทำตารางเวลาเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับเด็กทุกคน ควรฝึกฝนเด็กตั้งแต่เยาว์วัย เพราะผู้ที่บริหารจัดการเวลาได้ดีย่อมจะบริหารจัดการชีวิตของตนเองได้ดีเช่นกัน จึงไม่ควรละเลยที่จะฝึกฝนเด็กให้เป็นนักบริหารเวลาที่ดี
admin
เผยแพร่: 
การศึกษาวันนี้
เมื่อ: 
2007-08-02