คิดรอบคอบก่อนปรับระบบแอดมิชชั่น
นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2549 เราพบปัญหาจากการเปลี่ยนแปลง ระบบการรับนักเรียน เข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษา โดยนำระบบแอดมิชชั่นมาใช้ เช่น ในปีแรก ระบบประมวลผลคะแนนมีความผิดพลาด ทำให้เด็กบางส่วนไม่สามารถนำผลการสอบไปสมัครเรียนได้ ต่อมา เกิดข้อถกเถียงเกี่ยวกับการนำผล การทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน (O-NET) มาเป็นองค์ประกอบหนึ่งของการจบหลักสูตรในทุกช่วงชั้น ล่าสุด เกิดปัญหานักเรียนจำนวนหนึ่งไม่สามารถสมัครสอบ ในการทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติชั้นสูง (A-NET)
ผลกระทบจากการนำระบบการคัดเลือกเข้าศึกษาในระดับอุดมศึกษาแบบใหม่นี้ ไม่เพียงสร้างความเครียดแก่นักเรียน ผู้ปกครอง แต่ส่งผลต่อภาพลักษณ์ของการอุดมศึกษา ส่งผลให้ผู้เกี่ยวข้องในภาครัฐ ต้องเร่งเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหา ในประเด็นต่าง ๆ ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา จนนำไปสู่การเสนอทางออกใหม่คือ การปรับเปลี่ยนระบบการคัดเลือกอีกครั้ง เพื่อแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น
ทั้งนี้ ผมเห็นว่า โดยหลักการของระบบแอดมิชชั่นนั้น เป็นหลักการที่ดี เนื่องจากมีการพิจารณาคะแนนจากหลายส่วน เช่น ผลการเรียน ผลการทดสอบมาตรฐานจากผู้เรียนแต่ละคน ซึ่งสอดคล้องกับผลวิจัยที่พบว่า ldquo;ผลการเรียนในมหาวิทยาลัยrdquo; สัมพันธ์กับ ldquo;ผลการเรียนในโรงเรียนระดับมัธยมปลายrdquo; คือ หากเด็กที่เรียนมัธยมศึกษาตอนปลายได้ดี จะทำให้ เรียนในมหาวิทยาลัยดีด้วย
ปัญหาที่เกิดขึ้น ส่วนหนึ่งเกิดขึ้นจากการขาดความรอบคอบในการนำระบบมาใช้ กล่าวคือ การปรับเปลี่ยนระบบนี้ เป็นการคิดในระดับผู้บริหาร ทั้งที่มีคนหลายกลุ่มเสนอให้ทำวิจัย ประชาพิจารณา การปรับระบบเร็ว ไม่มีการทดสอบระบบที่น่าเชื่อถือ ทั้งที่จริงควรมีการทดสอบระบบจนแน่ใจว่าใช้ได้ดี เพื่อลดความผิดพลาดอันเกิดจากระบบที่ยังไม่สมบูรณ์ การละเลยปัญหาการปล่อยเกรด ทั้งที่มาตรฐานการศึกษาของแต่ละโรงเรียนยังไม่เป็นมาตรฐานเดียวกัน การจัดทำระเบียนการจัดสอบมีปัญหา เพราะล้วนอิงกับระบบอินเทอร์เนต ทำให้เด็กเข้าถึงได้ยาก โดยเฉพาะเด็กต่างจังหวัด รวมถึงขาดทางเลือกหากระบบมีปัญหา
ด้วยเหตุนี้ ผมเห็นว่า หากจะมีการปรับเปลี่ยน หรือ ปรับปรุงระบบการสอบคัดเลือก เพื่อวัดผลการจบหลักสูตรของผู้เรียน จึงควรศึกษาอย่างรอบคอบถึงผลดีผลเสียที่อาจจะตามมา เนื่องด้วยเกรงว่า หากมีการเร่งนำมาใช้ โดยไม่คิดให้รอบคอบ จะเกิดเหตุการณ์ในทำนองเดียวกันได้
ทั้งนี้ ไม่ว่าจะมีการปรับเปลี่ยนระบบใหม่ หรือไม่นั้น ผมเห็นว่า สิ่งสำคัญที่ควรคำนึงถึงคือ การวัดผลที่ควรสะท้อนถึงคุณค่าของการศึกษาอย่างแท้จริง โดยผมขอนำเสนอ กรอบเชิงปรัชญาของระบบการคัดเลือกเข้าอุดมศึกษาที่ดี ที่อาจมีประโยชน์สำหรับผู้ที่เกี่ยวข้อง นำไปพิจารณา ได้แก่
ให้โอกาสทุกคนเข้าถึงอุดมศึกษา นั่นคือ การพิจารณาควรเอื้อทุกคน เข้าถึงอย่างเท่าเทียม ซึ่งครอบคลุมหลายแง่มุมดังนี้ ไม่เลือกปฏิบัติต่อบุคคลที่มีสถานะต่างกัน ไม่เหลื่อมล้ำในการได้รับข้อมูลข่าวสาร จัดสรรทางเลือกหลากหลายในการศึกษาต่อ ไม่มองข้ามคนนอกระบบการศึกษา
ตอบสนองความต้องการในการพัฒนาประเทศ แม้ว่าโดยหลักควรให้อิสระกับสถาบันในการรับคนและผลิตคน แต่ในอีกทางหนึ่ง สถาบันการศึกษาต้องคำนึงถึงความสมดุลในความต้องการของประเทศและกลไกตลาด รองรับการเปลี่ยนแปลงของตลาดแรงงาน และการพัฒนาประเทศ
ผู้เรียนมีคุณสมบัติตรงตามสาขา สถาบันการศึกษาจำเป็นต้องคัดคนที่มีความรู้ความสามารถตรงกับสาขาที่จะศึกษา หรือตั้งใจเรียน เพื่อนำความรู้ไปใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อแวดวงนั้น หลักการนี้จะช่วยให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดต่อทั้งระบบอุดมศึกษา และแวดวงสาขาวิชาเหล่านั้นอย่างแท้จริง
ผู้เรียนมีความรู้คู่คุณธรรม คนที่เรียนในระดับสูงจำเป็นอย่างยิ่งจะต้องเป็นผู้มีคุณธรรม เพื่อไม่ใช้ความรู้ความสามารถเพื่อแสวงหาประโยชน์ส่วนตน รูปแบบการรับคน จึงควรมีเกณฑ์อย่างเป็นรูปธรรมในการคัดเลือกผู้สมัคร เพื่อให้ได้คนเก่งและดี เข้าเรียนต่อ
ส่งเสริมคุณภาพชีวิตผู้สมัครให้ดีขึ้น การจะกำหนดระบบการคัดเลือก ควรมุ่งแก้ปัญหาเชิงสังคมในปัจจุบันด้วย เช่น ความรู้สึกกดดันและเครียดเมื่อถึงฤดูสอบ ค่านิยมสังคมที่ให้ความสำคัญกับการเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยของรัฐที่มีชื่อเสียง
ใช้ทรัพยากรในการจัดการสอบคัดเลือกอย่างมีประสิทธิภาพสุด การใช้ทรัพยากรที่ได้ลงทุนไปแล้วได้ผลคุ้มค่ากับการลงทุน และไม่นำไปสู่การสูญเสียค่าใช้จ่ายจำนวนมากในการจัดสอบหรือเปลี่ยนแปลงระบบการรับคนเข้าศึกษาต่อ ในขณะที่ยังทำให้ได้คนที่มีคุณสมบัติตรงกับความต้องการของแต่ละคณะ
เราทุกคนคงไม่อยากให้เหตุการณ์ความผิดพลาดเกิดขึ้นอีก ดังนั้นภาครัฐควรมีความระมัดระวังในการดำเนินนโยบายทางการศึกษา ควรศึกษาอย่างรอบคอบถึงผลดีผลเสียที่อาจจะตามมา ซึ่งผลที่เกิดขึ้น มักจะส่งผลกระทบมากและโดยตรงต่อผู้เรียน ผู้ปกครอง สถาบันการศึกษาและผู้เกี่ยวข้อง อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
** นำมาจากหนังสือพิมพ์โลกวันนี้ ตีพิมพ์เมื่อวันอังคารที่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2552