?การประกอบการเพื่อสังคม? กับการช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาส

ที่มาของภาพ http://nobelprize.org/nobel_prizes/peace/laureates/2006/yunus_diploma.jpg

สภาพโดยทั่วไปของการทำงานกับกลุ่มผู้ด้อยโอกาสทางสังคมในปัจจุบันยังคงให้ความสำคัญกับเรื่องมนุษยนิยม เช่น ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ความเป็นธรรม ความเสมอภาค การไม่เลือกปฏิบัติ ฯลฯ ซึ่งการทำงานในลักษณะดังกล่าวนี้มักจะเป็นไปในลักษณะรูปแบบของการจัดบริการเชิงสงเคราะห์ ซึ่งการให้บริการทางสังคมในลักษณะดังกล่าวนั้นมักประสบกับปัญหาการที่หน่วยงานของภาครัฐไม่สามารถให้บริการได้อย่างครอบคลุม ทั่วถึง และเพียงพอกับกลุ่มผู้ด้อยโอกาสในทุกกลุ่มเป้าหมาย เนื่องจากเงื่อนไขและข้อจำกัดบางประการที่เป็นอุปสรรคต่อการเข้าถึงบริการที่รัฐจัดสรรให้ผู้ด้อยโอกาส เช่น การไม่สามารถเข้าร่วมในระบบประกันสังคมของกลุ่มผู้ด้อยโอกาสในภาคชนบท เนื่องจากเป็นแรงงานนอกระบบและไม่มีรายได้ที่แน่นอน หรือการติดเงื่อนไขในการขอรับการสนับสนุนจากกองทุนต่าง ๆ ที่มักจะมีเงื่อนไขที่เป็นข้อจำกัดของกลุ่มยากจนที่สุดในชุมชน เช่น ต้องมีข้าราชการค้ำประกัน ต้องมีที่ดินเป็นของตัวเอง

จากเงื่อนไขข้อจำกัดดังกล่าวทำให้ ในอนาคต ภาครัฐควรให้ความสำคัญกับปรัชญาเรื่องความมั่นคงของมนุษย์มากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนาศักยภาพและการเสริมพลังของกลุ่มคนเหล่านี้ให้สามารถยืนอยู่ได้ด้วยตนเอง ควบคู่ไปกับการเร่งพัฒนาและปรับปรุงเงื่อนไขต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการขอรับบริการทางสังคมและบริการอื่น ๆ ที่ทางภาครัฐเป็นผู้จัด ให้มีความยืดหยุ่นและเอื้อต่อกลุ่มผู้ด้อยโอกาสทางสังคมเหล่านี้มากขึ้น รวมทั้งการเพิ่มพื้นที่ทางสังคมให้กับภาคประชาสังคมและภาคเอกชนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาศักยภาพของกลุ่มคนเหล่านี้ ทั้งทางด้านการศึกษา ด้านจิตใจ สภาพความเป็นอยู่ ด้านอาชีพ ทั้งนี้ โดยมีเป้าหมายปลายทางร่วมกัน คือ การพัฒนาศักยภาพของกลุ่มผู้ด้อยโอกาสทางสังคมให้สามารถเข้าถึงสิทธิที่พึงมีพึงได้ต่าง ๆ ด้วยตนเอง

ตัวอย่างแนวทางการพัฒนาศักยภาพของกลุ่มผู้ด้อยโอกาสทางสังคมโดยภาคเอกชนและภาคประชาสังคมที่ประสบความสำเร็จและเป็นที่รู้จักกันทั่วโลกก็คือ ธนาคารกรามีนหรือธนาคารคนจน ซึ่งจัดตั้งขึ้นโดย มูฮัมหมัด ยูนุส ผู้ได้รับรางวัลโนเบล สาขาสันติภาพ ปี พ.ศ. 2549 โดยธนาคารดังกล่าวถือได้ว่าเป็นตัวแบบสำคัญของการนำแนวคิดการประกอบการเพื่อสังคม (social entrepreneurship) มาใช้ในการแก้ไขปัญหาสังคมที่เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม ด้วยการให้บริการสินเชื่อรายย่อย (micro-credit) กับคนยากจน ซึ่งยึดหลักของความยั่งยืนและยืนอยู่บนหลักคิดของการพัฒนาเชิงวัฒนธรรมที่สอดคล้องกับบริบทท้องถิ่นของประเทศบังกลาเทศ ผลจากการดำเนินงานที่ผ่านมาของธนาคารกรามีนช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของคนยากจนในประเทศบังกลาเทศที่ได้รับการยอมรับว่ายากจนติดอันดับโลก ให้สามารถมีสถานะชีวิตความเป็นอยู่พ้นเส้นความยากจนเฉลี่ยร้อยละ 2 ต่อปีตั้งแต่ปี พ.ศ. 2543 เป็นต้นมา และที่สำคัญมากไปกว่านั้นก็คือ ธนาคารกรามีนยังช่วยพัฒนาทักษะการบริหารจัดการและควบคุมวินัยการใช้เงินให้กับกลุ่มคนยากจนเหล่านี้ ซึ่งนับได้ว่าเป็นความสำเร็จอย่างยิ่งยวดของธนาคารกรามีนในการแก้ไขปัญหาความยากจนที่เกิดขึ้นในประเทศบังกลาเทศ


สำหรับในประเทศไทย ตัวอย่างของการนำแนวคิดการประกอบการเพื่อสังคมมาใช้ในการแก้ไขปัญหาของกลุ่มผู้ประสบปัญหา (ด้อยโอกาส) ทางสังคมที่ประสบความสำเร็จ ทั้งในมิติของการดำเนินกิจกรรมทางธุรกิจและมิติของการพัฒนาศักยภาพของมนุษย์ก็คือ โครงการพัฒนาดอยตุง ซึ่งปัจจุบันโครงการดังกล่าวได้สร้างงานและสร้างรายได้ให้กับชุมชนท้องถิ่นอย่างมากมายมหาศาล ดังจะเห็นได้จากผลสำเร็จของการดำเนินกิจกรรมทางธุรกิจในช่วงที่ผ่านมาทำให้โครงการพัฒนาดอยตุงสามารถเลี้ยงตัวเองได้ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2544 เช่นเดียวกับที่ได้ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในท้องถิ่นให้ดีขึ้น ทั้งทางด้านรายได้ การศึกษา การได้รับสัญชาติ การพัฒนาและถ่ายโอนทักษะการประกอบต่าง ๆ ให้กับชุมชน


แม้ว่าการดำเนินกิจกรรมในลักษณะของการประกอบการเพื่อสังคมจะยังคงเป็นเรื่องใหม่สำหรับสังคมไทย แต่จากตัวอย่างขององค์กรต่าง ๆ ที่ได้มีการนำแนวคิดดังกล่าวมาปรับใช้เพื่อแก้ไขปัญหาของกลุ่มผู้ด้อยโอกาสทางสังคมในช่วงที่ผ่านมา ได้แสดงให้เห็นว่า แนวคิดการดำเนินงานในลักษณะนี้ไม่เพียงแต่จะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของกลุ่มคนดังกล่าวให้ดีขึ้นอย่างยั่งยืนเท่านั้น แต่ยังนับได้ว่าเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือหรือกลไกสำคัญที่ช่วยเสริมสร้างความเป็นธรรมและลดความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้นในสังคมได้อีกด้วย

นำมาจากหนังสือพิมพ์โลกวันนี้ ตีพิมพ์เมื่อวันอังคารที่ 20 มกราคม พ.ศ.2552

admin
Catagories: 
เผยแพร่: 
0
เมื่อ: 
2009-01-27