จตุคามรามเทพ?ผลกระทบของเครือข่าย

* ที่มาของภาพ http://thummada.com/php_upload2/love2.jpg


จตุคามรามเทพเป็นวัตถุมงคลที่กำลังได้รับความนิยมอย่างมากในปัจจุบัน เห็นได้จากปริมาณการผลิตจตุคามออกมามากกว่า 800 รุ่นในระยะเวลาอันสั้น งบประมาณโฆษณาที่แซงหน้าผลิตภัณฑ์ทุกประเภท ความเฟื่องฟูของแผงเช่าจตุคามและธุรกิจที่เกี่ยวข้อง เช่น ธุรกิจตลับสเตนเลส หนังสือและวีซีดีจตุคาม เป็นต้น จนมีการประเมินว่า ทำให้มีเม็ดเงินสะพัดในระบบเศรษฐกิจถึง 4 หมื่นล้านบาท

แท้ที่จริง จตุคามเกิดขึ้นมานานแล้วแต่ยังไม่ได้รับความนิยม แต่ประเด็นที่น่าสนใจคือ เหตุใดจึงมีความต้องการเช่าจตุคามเพิ่มขึ้นมากในระยะสั้น ๆ และทำให้ค่าเช่าของจตุคามพุ่งขึ้นสูงอย่างรวดเร็ว และคำถามที่น่าสนใจยิ่งกว่า คือแนวโน้มของกระแสจตุคามจะเป็นอย่างไร และเหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น

ลักษณะของตลาดจตุคามมีลักษณะคล้ายกับสินค้าแฟชั่น ซึ่งมีพฤติกรรมของตลาดสอดคล้องกับทฤษฎี ldquo;ผลกระทบของเครือข่ายrdquo; หรือ ldquo;Network Effectrdquo; ที่ระบุว่า คุณค่าหลักของสินค้าหรือบริการบางชนิดในตลาดไม่ได้อยู่ที่คุณสมบัติของสินค้าหรือบริการนั้น แต่ขึ้นอยู่กับจำนวนผู้ใช้สินค้าหรือบริการ ซึ่งยิ่งมีจำนวนมากคุณค่าจะยิ่งสูงขึ้น

การเติบโตของตลาดจตุคามสามารถอธิบายได้ดังกราฟอุปสงค์-อุปทานข้างล่างนี้ ซึ่งแกนตั้งแสดงราคาของสินค้า และแกนนอนแสดงจำนวนสินค้าที่ซื้อขาย โดยมีจุดดุลยภาพของตลาดอยู่ 2 จุด คือ จุด E1 และ E2 ซึ่งเป็นจุดที่แบ่งการเติบโตของตลาดออกเป็น 3 ช่วง

 

ช่วงที่ 1 เป็นช่วงที่มีผู้ใช้สินค้าไม่แพร่หลาย หรือมีปริมาณการซื้อสินค้าต่ำกว่าจุด E1 ซึ่งเป็นจุดที่ผู้ผลิตและผู้บริโภคยินดีจะซื้อและจะขายสินค้านั้น ณ ราคาและปริมาณที่เท่ากันพอดี แต่จุด E1 เป็นสภาวะที่ไม่มีเสถียรภาพ เพราะหากมีปัจจัยที่ทำให้ความต้องการจะใช้สินค้าต่ำกว่าระดับ E1 จะทำให้สินค้าหายไปจากตลาดในที่สุด แต่หากสามารถทำให้มีความต้องการเพิ่มขึ้นมากกว่าระดับ E1 จะทำให้ความต้องการใช้สินค้าเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจนเข้าสู่ช่วงที่ 2


 

ช่วงที่ 2 เป็นช่วงที่ความนิยมในสินค้านั้นเพิ่มขึ้น ทำให้ความต้องการใช้สินค้านั้นเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ความต้องการสินค้าจึงมีมากกว่าสินค้าที่มีอยู่ในตลาด สินค้าจึงมีราคาสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว จนกระทั่งเมื่อมีการผลิตสินค้ามากขึ้น ราคาของจตุคามจะเริ่มลดลง และตลาดจะเข้าสู่ภาวะดุลยภาพใหม่ที่จุด E2

ช่วงที่ 3 เป็นช่วงที่ตลาดอิ่มตัว เมื่อปริมาณการซื้อขายสินค้าเข้าสู่จุดดุลยภาพใหม่ หรือจุด E2 ซึ่งเป็นจุดที่ตลาดไม่ขยายตัวเพิ่มขึ้นและระดับราคาของสินค้าจะมีเสถียรภาพ เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของจำนวนผู้ใช้สินค้าจะไม่ทำให้คุณค่าของสินค้าเพิ่มขึ้นอีกแล้ว ตลาดในช่วงนี้จะมีลักษณะเหมือนสินค้าทั่วไป กล่าวคือ หากมีการผลิตสินค้าเพิ่มขึ้นอีกจะทำให้สินค้ามีมากเกินความต้องการ ราคาสินค้าจะตกต่ำลง จนไม่มีผู้ผลิตผลิตสินค้าออกมาอีก จากนั้นราคาสินค้าจะค่อย ๆ ปรับตัวเข้าสู่จุดดุลยภาพ E2

เช่นเดียวกับจตุคาม แม้ว่าในช่วงแรกยังไม่เป็นที่รู้จักมากนัก แต่เมื่อท่านขุนพันธรักษ์ราชเดชเสียชีวิตลง ข้อมูลเกี่ยวกับอิทธิฤทธิ์ของจตุคามได้แพร่กระจายออกไป รวมทั้งมีการโฆษณาจตุคามอย่างเเพร่หลาย ทำให้ความต้องการสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ขณะที่ปริมาณจตุคามยังมีอยู่อย่างจำกัด ส่งผลให้ค่าเช่าของจตุคามสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว จากรุ่นแรกที่เปิดให้เช่าในปี 2530 ที่ 39 บาท พุ่งเป็นหลักล้านในปัจจุบัน ผู้ผลิตที่เห็นโอกาสสร้างรายได้ จึงได้ทำการผลิตจตุคามออกมาหลายรุ่น

เมื่อพิจารณาด้วยทฤษฎี Network Effect ตลาดของจตุคาม ณ เวลานี้ น่าจะอยู่ในช่วงที่เลยจุดดุลยภาพจุดแรกมาแล้ว และกำลังเข้าสู่จุดดุลยภาพจุดที่สอง เนื่องจากปริมาณการผลิตจตุคามเพิ่มขึ้นมาก ทำให้แนวโน้มราคาจตุคามเริ่มคงที่ ไม่เพิ่มขึ้นหวือหวาเหมือนในช่วงก่อนหน้านี้

ดังนั้นแนวโน้มของตลาดจตุคามน่าจะยังคงเติบโตไปได้อีกช่วงหนึ่ง โดยจะมีผู้ผลิตจตุคามออกมาอีกอย่างต่อเนื่อง แต่ความต้องการจตุคามจะเริ่มชะลอตัวลง ทำให้ระดับราคาของจตุคามจะเริ่มลดลง และเมื่อเข้าถึงจุดดุลยภาพที่สองแล้ว จากนั้นความต้องการเช่าจตุคามใหม่ ๆ จะเริ่มหมดลง ณ จุดนี้หากยังมีผู้ผลิตจตุคามออกมาอีก จะทำให้ราคาตกต่ำลงอย่างรวดเร็ว เพราะจะมีผู้มาเช่าไปบูชาน้อยมาก

แม้การแสวงหาจตุคามรามเทพเป็นไปตามความศรัทธา และความคาดหวังว่าจะได้รับความร่ำรวยจากการได้ครอบครองวัตถุมงคลนี้ แต่ประชาชนอีกส่วนหนึ่งที่แสวงหากำไรจากการเช่าและให้เช่าจตุคาม จำเป็นต้องเข้าใจถึงพฤติกรรมของตลาดวัตถุมงคลชนิดนี้ มิฉะนั้นจากที่คาดว่าจะมีความร่ำรวยจากธุรกิจนี้อาจจะกลายเป็นความทุกข์เพราะขาดทุนอย่างไม่ตั้งตัว
 
* นำมาจากหนังสือพิมพ์สยามธุรกิจ ฉบับวันที่ 8-10 สิงหาคม 2550


แสดงความคิดเห็นเพิ่มเติม

admin
เผยแพร่: 
0
เมื่อ: 
2007-08-09