มุ่งสังคมฐานความรู้ ต้องทุ่ม ?ทุนวิจัย?

จากการเสวนาเรื่อง ldquo;ทิศทางการวิจัยของประเทศไทยในอนาคตrdquo; ในงานครบรอบ 10 ปี ของสถาบันวิจัยและให้คำปรึกษาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (TU-RAC) เมื่อวันที่ 22 ก.ค.ที่ผ่านมา พบว่า ประเทศไทยได้รับงบประมาณการวิจัยเพียงร้อยละ 0.3 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) เท่านั้น ในขณะที่สิงคโปร์และสวีเดนมีงบวิจัยร้อยละ 2 และร้อยละ 3.9 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศตามลำดับ

ข้อมูลข้างต้นไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะประเทศไทยประสบปัญหาการขาดแคลนงบประมาณและนักวิจัยมานานแล้ว เช่น พ.ศ. 2530 งบประมาณเพื่อการวิจัยและพัฒนาของไทยมีเพียงร้อยละ 0.22 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ จนถึงปัจจุบัน ยังไม่มีการเพิ่มงบวิจัยในสัดส่วนที่จะสามารถผลักดันประเทศให้ก้าวหน้าได้ ส่งผลให้ประเทศไทยขาดศักยภาพในการแข่งขันด้านต่าง ๆ โดยเฉพาะนวัตกรรมด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี อุตสาหกรรม และพลังงาน ที่ต้องใช้ทุนมหาศาลเพื่อสนับสนุนการวิจัย และเป็นเหตุให้ไทยต้องรับเทคโนโลยีราคาแพงจากประเทศเพื่อนบ้าน เช่น เกาหลีใต้ สิงคโปร์ และอินเดีย ซึ่งจะมาพร้อมกับกระแสวัฒนธรรมที่ไหลบ่าเข้ามาอย่างต่อเนื่อง จนอาจทำให้สังคมไทยเสียสมดุลได้

การจะสร้างสังคมไทยให้มีศักยภาพพร้อมสำหรับการแข่งขันในเวทีนานาชาตินั้น ผมเชื่อว่าการลงทุนสร้างสังคมไทยให้เป็น ldquo;สังคมฐานความรู้rdquo; นั้น จำเป็นต้องทุ่มเทสรรพกำลังเพื่อพัฒนาการวิจัยและนักวิจัยในประเทศไทยหลายประการ อาทิ
หาช่องทางอื่นเพื่อสนับสนุนการวิจัย งบประมาณไม่ควรมาจากรัฐบาลฝ่ายเดียว แต่ภาคเอกชน องค์กรที่ไม่แสวงหาผลกำไร ควรให้ความสำคัญในการวิจัยปัญหาสำคัญ ๆ ของประเทศอย่างต่อเนื่อง โดยอาจหาช่องทางเพื่อขอทุนวิจัยจากองค์กรระหว่างประเทศ หรือศิษย์เก่าของมหาวิทยาลัย เพื่อช่วยพัฒนาให้งานวิจัยสำเร็จเป็นรูปธรรมได้

เรียนรู้บนฐานของการวิจัย โดยการพัฒนาการเรียนการสอนในห้องเรียน ควบคู่กับการส่งเสริมคุณภาพการวิจัย ให้ผู้เรียนได้นำเสนอผลงานการศึกษาวิจัย และได้ฝึกฝนประสบการณ์ด้านการวิจัยในสาขาที่ตนเองสนใจ ผ่านกิจกรรมที่มีผู้ทรงคุณวุฒิคอยให้คำปรึกษาอย่างใกล้ชิด จะทำให้ได้ทั้งการฝึกฝนภาคทฤษฎี และได้ปฏิบัติงานจริงก่อนนำผลการวิจัยมาใช้ในสังคม

เพิ่มคุณภาพงานวิจัยและการนำไปใช้ประโยชน์ ผ่านการเชื่อมโยงกับมหาวิทยาลัยอื่นที่ศึกษาวิจัยในเรื่องที่เกี่ยวเนื่องกัน หรือนำเสนอผลงานวิจัยต่อองค์กรที่มีความเชี่ยวชาญด้านนั้น ๆ เพื่อเป็นประโยชน์ต่อการบูรณาการองค์ความรู้ และเพื่อต่อยอดการวิจัยให้ครบถ้วนรอบด้านมากยิ่งขึ้น

ก้าวต่อไปของประเทศไทยจะเป็นอย่างไรนั้น ขึ้นอยู่กับการวิจัยและการพัฒนาเป็นสำคัญ หากผลลัพธ์ที่ได้จากการวิจัยมีประสิทธิภาพ สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้จริง ก็จะส่งผลให้คนไทยมีคุณภาพชีวิตที่ดี มีความสุขกาย สบายใจ และคลายความกังวลไปได้ ท่ามกลางสภาวการณ์ที่ไม่แน่นอนในโลกครับ

* นำมาจากหนังสือพิมพ์โลกวันนี้ ฉบับวันอังคารที่29 กรกฎาคม 2551
admin
Catagories: 
เผยแพร่: 
0
เมื่อ: 
2008-07-30