เร่งแก้วิกฤตเขตพื้นที่การศึกษาระหว่างประถม-มัธยม
ประเด็นความขัดแย้งการบริหารจัดการเขตพื้นที่การศึกษาระหว่างการประถมศึกษาและการมัธยมศึกษา ได้กลายเป็นวิกฤตที่บานปลาย ปะทุรุนแรงขึ้น ล่าสุดเมื่อต้นสัปดาห์ ครูมัธยมทั่วประเทศรวมตัวชุมนุม ผลักดันให้แยกเขตพื้นที่การมัธยมศึกษาออกมาเพื่อดำเนินการด้านการมัธยมโดยเฉพาะ
ความเป็นมา การรวมเอาส่วนประถมศึกษาและมัธยมศึกษาทั่วประเทศอยู่ภายใต้กำกับการดูแลของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน และมีสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาทั่วประเทศ 185 แห่ง ดำเนินการบริหารจัดการ กระทบต่อการบริหารจัดการของสถานศึกษาในสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา เนื่องจากเป็นการบริหาร
จัดการที่กว้างขวาง ไม่เฉพาะเจาะจงสำหรับการมัธยมศึกษา ขาดความคล่องตัว ขาดบุคลากรที่เชี่ยวชาญเฉพาะด้านของการมัธยมศึกษา ส่งผลต่อการพัฒนาบริหารการวิชาการ บริหารงบประมาณ และบริหารกำลังคน ฯลฯ ซึ่งเป็นปัญหาต้องแก้ไขเร่งด่วน โดยมิได้เป็นการแก้ไขแบบลูบหน้าปะจมูก พอปัญหานี้บรรเทาลงไปอาจจะก่อเกิดปัญหาใหม่ที่อาจส่งผลกระทบรุนแรงกว่าเดิม หลักสำคัญคือ
มุ่งคุณภาพในการจัดการศึกษาระดับมัธยมศึกษาเป็นประเด็นสำคัญ ส่วนเรื่องอื่นเป็นองค์ประกอบย่อย ดังนั้นโจทย์ใหญ่คือ จะทำอย่างไรให้การจัดการมัธยมศึกษามีคุณภาพ ไม่ได้มุ่งว่าเพื่อประโยชน์ของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง
บูรณาการแก้ไขและจัดการทั้งระบบ เพราะการแก้ไขแต่การปรับโครงสร้างให้มีเขตพื้นที่การมัธยมศึกษาขึ้นมานี้ อาจไม่ใช่วิธีการเดียวแต่ต้องผนวกกับวิธีการอื่นที่จำเป็นให้การแก้และพัฒนาการมัธยมศึกษาสำเร็จได้ เช่น การแก้ไขกฎหมายต่าง ๆ การวางอัตรากำลังคน การจัดตั้งสำนักการมัธยมขึ้นในสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เป็นต้น
เชื่อมโยงตั้งแต่ระดับก่อนอนุบาล อนุบาล การประถมศึกษาและมัธยมศึกษา เป้าของการจัดการศึกษาต้องมีความเป็นระบบและเอกภาพ จึงจำเป็นที่จุดเชื่อมระหว่างการบริหารจัดการของการประถมศึกษา การมัธยมศึกษาและการอุดมศึกษาต้องสอดรับกันอย่างไม่แยกส่วนหรือต่างฝ่ายต่างทำ โดยกีดกันอีกฝ่ายอยู่ตลอดเวลา อันส่งผลกระทบต่อการจัดการศึกษาและการพัฒนาประเทศในภาพรวม
กระจายอำนาจทางการศึกษา ตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญไทย พ.ศ.2550 มุ่งกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นโดยเฉพาะสถานศึกษา การจัดตั้งเขตพื้นที่การมัธยมศึกษาเพิ่มเติม ควรพิจารณารอบคอบ แต่อีกช่องทางหนึ่งคือ กระจายอำนาจสู่โรงเรียนมัธยมศึกษาให้เป็นนิติบุคคลเต็มรูปแบบ ซึ่งเป็นช่องทางที่กฎหมายเปิดให้และโรงเรียนกลุ่มนี้มีความพร้อม อันจะส่งผลต่อการเพิ่มคุณภาพในการจัดการศึกษาได้
การบริหารจัดการของโรงเรียนมัธยมในเขตพื้นที่การศึกษา ควรศึกษาเป็นระบบ วิเคราะห์และรับฟังความคิดเห็นจากทุกฝ่าย เพื่อกำหนดแนวทางแก้ไขและพัฒนาให้ได้แนวทางที่ดีที่สุด โดยวิเคราะห์หาจุดอ่อน จุดแข็ง โอกาส ความเสี่ยง ผลกระทบระยะสั้น-ยาว โดยเป้าหมายเพื่อเพิ่มคุณภาพผู้เรียนเป็นสำคัญ
* นำมาจากหนังสือพิมพ์บางกอกทูเดย์ ฉบับวันพุธ ที่30 กรกฎาคม 2551
Catagories:
เผยแพร่:
0
เมื่อ:
2008-07-31
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง
ทรัพยากรมนุษย์ ทุนมนุษย์ ศักยภาพมนุษย์ ในแนวคิด ดร.แดน
Total views: อ่าน 1,475 ครั้ง
บูรณาการวิทยาการเพื่อการพัฒนานวัตกรรมในศตวรรษที่ 21
Total views: อ่าน 2,311 ครั้ง
คิดเป็นระบบ Systematic Thinking ช่วยพัฒนาประเทศได้อย่างไร
Total views: อ่าน 4,223 ครั้ง
ความสัมพันธ์ของการศึกษากับการเป็นมหาเศรษฐี
Total views: อ่าน 2,051 ครั้ง
STEMMAD-CINDERELLA สร้างบุคลากรด้านนวัตกรรมเพื่อการสร้างชาติ
Total views: อ่าน 4,461 ครั้ง