การป้องกันภัยพิบัติธรรมชาติ...ต้องเป็นวาระของโลก
ภัยพิบัติทางธรรมชาติได้กลายเป็นภัยคุกคามร้ายแรงที่นำมาซึ่งความสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สินแก่มวลมนุษยชาติอย่างมหาศาล ภัยธรรมชาติเหล่านี้สร้างความหวาดกลัวและความไม่แน่นอนในเรื่องความปลอดภัยในการดำเนินชีวิตแก่ประชาชนในหลายประเทศทั่วโลก ล่าสุด ในกรณีของพายุไซโคลนนาร์กีสที่สร้างความเสียหายร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ของประเทศพม่า ในพื้นที่ 55 เมืองแถบที่ลุ่มปากแม่น้ำอิระวดีและพื้นที่อื่น ๆ ซึ่งโดนไซโคลนถล่ม พบว่า ยอดผู้เสียชีวิตอยู่ระหว่าง 63,290-101,682 คน นอกจากนี้ ยังมีผู้สูญหายประมาณ 220,000 คน ในขณะที่จำนวนผู้ได้รับผลกระทบจากพายุมีอยู่ถึงประมาณ 1,215,885-1,919,485 คน ก่อนหน้านี้ไม่นาน ได้เกิดแผ่นดินไหวรุนแรงขนาด 7.8 ริกเตอร์ ในประเทศจีน ซึ่งได้คร่าชีวิตผู้คนจำนวนเกือบสามหมื่นคน เมื่อย้อนกลับไปไม่นาน เราก็จะพบภัยพิบัติธรรมชาติที่เกิดขึ้นมากมาย ไม่ว่าจะเป็น การเกิดพายุไต้ฝุ่น ldquo;ทุเรียนrdquo; ที่พัดถล่มเมืองบิโคล ประเทศฟิลิปปินส์ เมื่อเดือนธันวาคม ปี 2006 ทำให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนถึง 1,200 คน หรือในกรณีพายุไซโคลน ldquo;ซิดร์rdquo; ที่ถล่มบังคลาเทศ ในปีถัดมา ก็ได้คร่าชีวิตผู้คนไปถึง 3,000 คน สถานการณ์เหล่านี้ได้ย้ำให้เห็นถึงความร้ายแรงของมหันตภัยของภัยพิบัติธรรมชาติที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านได้ชัดเจนยิ่งขึ้น
เหตุภัยพิบัติเหล่านี้ส่งผลทั้งความสูญเสียชีวิตและทรัพย์สิน และผลกระทบที่มีต่อสภาพจิตใจของผู้ที่รอดชีวิต ซึ่งหากจะตีเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจก็มีจำนวนมหาศาล นอกจากนี้ ในหลายกรณี ผลกระทบจากภัยพิบัติทางธรรมชาติยังส่งแรงสะเทือนข้ามพรมแดนไปยังประเทศหรือภูมิภาคต่าง ๆ ที่อยู่รอบข้าง ดังเช่น กรณีของคลื่นสึนามิเมื่อปี 2547 ความตระหนักในมิติเรื่องผลกระทบข้ามพรมแดนนี้ ทำให้ประเด็นเรื่องการป้องกันภัยธรรมชาติได้รับความสนใจจากนานชาติมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การร่วมมือกันป้องกันภัยพิบัติธรรมชาติในระดับโลก
องค์การสหประชาชาติได้สนับสนุนให้เกิด International Strategy for Disaster Reduction หรือ ISDR ที่มีวัตถุประสงค์หลักที่การสร้างความร่วมมือในระดับนานาชาติเพื่อการป้องกันและการลดภัยพิบัติทางธรรมชาติร่วมกัน นอกจากนี้ ในภูมิภาคเอเชียยังมี Asian Disaster Preparedness Center ซึ่งจัดตั้งขึ้นโดยความร่วมมือของ UN Office for the Coordination of Humanitarian Affairs, World Metrological Organization และ United Nations Development Programme การมีองค์กรและหน่วยงานมากมายที่ล้วนแต่เห็นความสำคัญของการดำเนินการป้องกันและลดภัยพิบัติธรรมชาติเช่นนี้ เป็นเรื่องที่ดีที่ทำให้เห็นว่าประเทศต่าง ๆ และรวมถึงองค์กรระหว่างประเทศ ต่างก็เห็นสอดคล้องกันว่า ถึงเวลาแล้วที่จะต้องมาร่วมมือกันการหาทางป้องกันและลดภัยพิบัติธรรมชาติ
ความร่วมมือในการป้องกันภัยพิบัติธรรมชาติในระดับโลกเช่นนี้ หากจะเกิดผลดี จำเป็นจะต้องตั้งอยู่บนฐานคิดที่เหมาะสม นั่นคือ (1) ต้องสร้างการป้องกันความปลอดภัยทุกรูปแบบ ภัยธรรมชาติที่มีสิทธิ์เกิดขึ้นได้ในหลากหลายรูปแบบ ทั้งพายุ แผ่นดินไหว น้ำท่วม คลื่นยักษ์ ไฟป่า การสร้างระบบป้องกันยังควรครอบคลุมภัยหรือเหตุร้ายที่ยังไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนด้วย (2) สร้างความปลอดภัยตลอดทั้งกระบวนการ คือเป็นการวางระบบป้องกันภัยให้ครบตั้งแต่การเฝ้าระวัง การเตือนภัย การป้องกันภัย และแก้ปัญหาเมื่อเกิดภัย ซึ่งแต่ละภาคีความร่วมมืออาจมีบทบาทหน้าที่ที่แตกต่างกันไป ตามความรับผิดชอบและความสามารถในการดำเนินร่วมกันอย่างเป็นระบบ และ (3) สร้างความปลอดภัยแบบครบวงจร กล่าวคือ การมองหายุทธวิธีอื่น ๆ ที่จะมีช่วยให้การป้องกันภัยพิบัติธรรมชาติประสบความสำเร็จ ยกตัวอย่างเช่น การใช้มาตรการทางเศรษฐกิจเพื่อจูงใจผู้ที่ให้ความร่วมมือในการแก้และป้องกันภัยพิบัติ ในขณะที่มีบทลงโทษผู้ที่สร้างความเสียหายให้กับธรรมชาติ เช่น ประเทศที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกในอัตราสูง ซึ่งนอกเหนือจากการจัดตั้งตลาดซื้อขายสิทธิในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกแล้ว น่าจะได้มีการพิจารณาการจัดเก็บภาษีจากประเทศที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกเกินกว่ามาตรฐานที่กำหนด โดยนำเงินเข้ากองทุนโลกเพื่อการป้องกันภัยธรรมชาติ หรือการจัดเก็บภาษีเพิ่มขึ้นในสินค้านำเข้าที่ก่อให้เกิดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงกว่ามาตรฐาน ตลอดจนให้การลดหย่อนภาษีแก่ผู้ที่สามารถดำเนินการได้ตามมาตรฐานและเป้าหมาย เป็นต้น
ปัญหาสำคัญขององค์กรระดับโลกคือเรื่องของการบังคับใช้ข้อตกลงต่าง ๆ ที่ได้กำหนดขึ้นมา เพราะขาดมาตรการในการจูงใจหรือลงโทษประเทศที่ไม่ให้ความร่วมมือ และการขาดทรัพยากรทางการเงินในการสนับสนุนการทำงาน การสร้างให้เกิดประสิทธิผลในการทำงานขององค์กรระหว่างประเทศเรื่องการป้องกันและบรรเทาภัยพิบัติทางธรรมชาติจึงเป็นความท้าทายสำคัญสำหรับอนาคตของมนุษยชาติ การเสาะแสวงหาวิธีการต่าง ๆ เพื่อป้องกันภัยิบัติธรรมชาติที่มีแนวโน้มจะเกิดขึ้นในทั่วทุกมุมโลก และความพร้อมในการระดมทรัพยากรทั้งหมดเพื่อป้องกันและบรรเทาภัยพิบัติที่จะเกิดขึ้น ยังคงเป็นคำถามสำคัญองค์กรที่กล่าวไว้ข้างต้นต้องหาคำตอบให้ได้
Catagories:
Tags:
เผยแพร่:
หนังสือพิมพ์โลกวันนี้
เมื่อ:
2008-07-17
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง
ปัจจัยความสำเร็จสู่ประเทศชั้นนำด้านนวัตกรรม
Total views: อ่าน 2,077 ครั้ง
การบริหารภาครัฐภายใต้สภาวะการเปลี่ยนแปลงในอนาคต
Total views: อ่าน 3,388 ครั้ง
แนวโน้มภัยคุกคามของการก่อการร้ายโลก
Total views: อ่าน 8,756 ครั้ง
การพัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพเพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร : กรณีศึกษาประเทศจีน
Total views: อ่าน 5,082 ครั้ง
คลังสมอง (Think - Tank) กับการพัฒนาประเทศไทย
Total views: อ่าน 6,676 ครั้ง