ปฏิรูประบบกรรมสิทธิที่ดิน

ผมได้รับเชิญไปเป็นผู้บรรยายหลักในการประชุมประจำปี 2008 ของ Economic Freedom Network Asia ที่ประเทศฟิลิปปินส์ โดยหนึ่งในสองหัวข้อที่ผมได้เตรียมไปบรรยายคือ ldquo;บทวิเคราะห์เกี่ยวกับระบบกรรมสิทธิที่ดินในประเทศไทยrdquo; ซึ่งเป็นการศึกษาและวิเคราะห์ปัญหาและให้ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการจัดระบบกรรมสิทธิ์ที่ดินในประเทศไทย
ปัญหากรรมสิทธิที่ดินมีความเกี่ยวข้องกับปัญหาสำคัญอื่น ๆ อาทิ ปัญหาความยากจน ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ ปัญหาความขัดแย้งในการเข้าถึงทรัพยากรที่ดิน ปัญหาการบุกรุกที่ดินของรัฐและที่สงวนหวงห้าม ปัญหาที่ดินรกร้างว่างเปล่าหรือใช้ประโยชน์ได้ไม่เต็มที่ ปัญหาดินเสื่อมโทรม ฯลฯ
สาเหตุสำคัญของปัญหากรรมสิทธิที่ดิน คือ หน่วยงานบริหารจัดการที่ดินของประเทศไทยยังขาดเอกภาพ ที่ดินของรัฐส่วนใหญ่จึงขาดความชัดเจนของกรรมสิทธิที่ดิน เพราะมีขอบเขตพื้นที่ทับซ้อนกันหรือมีหลักเขตไม่ชัดเจน ที่ดินสาธารณประโยชน์ไม่มีใครเป็นเจ้าของ ขณะที่ที่ดินราชพัสดุและที่ดินสงวนหวงห้ามขาดเจ้าหน้าที่ดูแลอย่างเพียงพอ ส่วนที่ดินของเอกชนถึงร้อยละ 40 ที่เจ้าของที่ดินไม่ได้มีสิทธิเหนือที่ดินของตนเองอย่างสมบูรณ์ รวมทั้งปัญหาทุจริตของเจ้าหน้าที่รัฐในการออกเอกสารสิทธิอย่างไม่ถูกต้อง
โดยหลักการแล้ว ระบบกรรมสิทธิในทรัพย์สิน (property right) ที่เข้มแข็งเป็นองค์ประกอบมูลฐานที่สำคัญของระบบเศรษฐกิจแบบตลาด การศึกษาในเชิงทฤษฎีและหลักฐานเชิงประจักษ์ทั่วโลกแสดงให้เห็นว่า การที่เอกชนมีกรรมสิทธิอย่างสมบูรณ์ในทรัพย์สิน ได้สร้างโอกาสในการเข้าถึงทรัพย์สินอย่างเป็นธรรม ทำให้เกิดเสรีภาพในการครอบครอง ใช้ประโยชน์ และจำหน่ายถ่ายโอนทรัพย์สิน ทำให้เกิดแรงจูงใจในการใช้ทรัพย์สินนั้นอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด และทำให้ระบบเศรษฐกิจมีประสิทธิภาพสูงสุด
ด้วยหลักการดังกล่าว ปัญหาข้างต้นจึงน่าจะสามารถแก้ไขได้ หากมีการปฏิรูประบบกรรมสิทธิที่ดินเพื่อให้กรรมสิทธิที่ดินมีความสมบูรณ์มากขึ้น ผมจึงได้นำเสนอแนวทางปฏิรูประบบกรรมสิทธิที่ดินในประเทศไทย ดังนี้
บูรณาการการจัดการที่ดินทั่วประเทศ โดยหน่วยงานต่าง ๆ ควรร่วมกันแก้ปัญหาพื้นที่ทับซ้อน และร่วมกันจัดทำแผนที่และฐานข้อมูลกรรมสิทธิที่ดินที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน โดยใช้เทคโนโลยีในการกำหนดระวางที่ดินทั่วประเทศที่ถูกต้องและแม่นยำ และสำรวจรังวัดและทำหลักหมุดที่ดิน และป้ายแสดงขอบเขตที่ดินชัดเจน ตลอดจนจัดทำระบบข้อมูลที่ดินโปร่งใส เปิดให้ประชาชนเข้าถึงฐานข้อมูลกรรมสิทธิที่ดิน เพื่อให้เกิดการตรวจสอบข้อมูลกรรมสิทธิ์ที่ดินได้โดยง่าย
ทำให้เอกสารสิทธิที่ดินมีกรรมสิทธิสมบูรณ์มากขึ้น โดยการแปลงเอกสารสิทธิที่ดินเอกชนประเภทอื่น ๆ ให้เป็นโฉนดที่ดิน เพื่อให้ประชาชนมีสิทธิบนที่ดินเท่าเทียมกัน ทำให้ระบบการจัดการที่ดินมีประสิทธิภาพ และลดปัญหาที่เกิดจากความไม่สมบูรณ์ของกรรมสิทธิ์ที่ดิน
ถึงแม้ว่าการแปลง ส.ป.ก.4-01 ให้มีลักษณะคล้ายโฉนด มีข้อถกเถียงมาก โดยฝ่ายคัดค้านกลัวว่า เกษตรกรจะขายที่ดินทำให้ที่ดินหลุดมือไปเป็นของนายทุน และเมื่อขายที่ดินแล้วจะไปบุกรุกป่าอีก อย่างไรก็ตาม แม้กฎหมายห้ามขายที่ดิน ส.ป.ก.4-01 แต่ไม่สามารถห้ามเกษตรกรขายที่ดิน (อย่างไม่เป็นทางการ) ให้ผู้อื่นได้ ข้อจำกัดในการใช้ที่ดิน ส.ป.ก.4-01 ยังทำให้ขายที่ดินได้ราคาต่ำ ผู้ครอบครองที่ดิน ส.ป.ก.4-01 ขาดเสรีภาพในการประกอบอาชีพ และไม่สามารถหาทุนมาประกอบอาชีพ โดยนำที่ดินไปขอเงินกู้ได้ ทำให้ไม่สามารถยกคุณภาพชีวิตขึ้นมาได้
ปฏิรูประบบภาษีที่ดิน โดยเปลี่ยนการคำนวณภาษีจากฐานรายได้เป็นฐานมูลค่าทรัพย์สิน หรือคำนวณภาษีจากราคาประเมินของที่ดิน โดยอัตราภาษียังต้องคำนึงถึงมิติอื่น ๆ ด้วย อาทิ จำนวนและขนาดของการครอบครองที่ดินเพื่อป้องกันการกระจุกตัวของที่ดินและการกักตุนที่ดินเพื่อเก็งกำไรที่ดิน โดยไม่ใช้ประโยชน์ในที่ดินนั้น ลักษณะการใช้ประโยชน์จากที่ดิน และความสอดคล้องกับผังเมือง แผนการใช้ที่ดิน และสมรรถนะของดิน การปฏิรูปภาษีที่ดินควรมีการจัดระบบฐานข้อมูลที่ดินที่ทันสมัยและมีประสิทธิภาพ สามารถประมวลผลภาวะการกระจุกตัวของที่ดิน สามารถตรวจสอบการใช้ประโยชน์ที่ดินได้ (อาจใช้ภาพถ่ายจากดาวเทียม) และสามารถเชื่อมโยงและประมวลผลข้อมูลจากหน่วยงานต่าง ๆ ร่วมกันได้
จัดตั้งธนาคารที่ดิน เนื่องจากปัจจุบัน มีประชาชนที่ขาดแคลนที่ดินทำกินจำนวนมาก โดยประชาชนที่ไร้ที่ดินทำกินมีถึง 811,871 ครอบครัว และเกษตรกรที่ต้องเช่าที่ดินทำกินมีจำนวนถึง 1- 1.5 ล้านครอบครัว ธนาคารที่ดินจะเป็นกลไกในการแก้ปัญหาการกระจุกตัวของกรรมสิทธิที่ดิน และแก้ปัญหาการใช้ที่ดินไม่เต็มที่และที่ดินรกร้างว่างเปล่า ธนาคารที่ดินจะนำที่ดินรกร้างว่างเปล่ามาทำประโยชน์ เช่น นำที่ราชพัสดุที่ว่างเปล่ามาจัดสรรให้คนยากจนเช่า การซื้อที่ดินรกร้างของภาคเอกชนมาจัดสรรให้คนยากจนเช่าซื้อ หรือการนำที่ดินที่เป็นสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ (Non-Performing Asset) มาทำประโยชน์ในระหว่างที่อยู่ระหว่างฟ้องร้องดำเนินคดี เป็นต้น
พัฒนานวัตกรรมจัดการที่ดินร่วมกัน โดยเฉพาะโฉนดที่ดินที่ชุมชนเป็นเจ้าของร่วมกัน โดยนำที่ดินสาธารณประโยชน์มาออกเป็นโฉนดที่ดินของชุมชน หรือโอนให้เป็นกรรมสิทธิขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อแก้ปัญหาความขัดแย้งในการใช้ประโยชน์บนที่ดินสาธารณะ และป้องกันปัญหาผู้มีอิทธิพลยึดที่สาธารณะเป็นของตัวเอง รวมทั้งทำให้มีผู้รับผิดชอบจัดการและบำรุงรักษาที่ดินสาธารณะ
รวมทั้งการพัฒนาระบบจัดการพื้นที่สงวนหวงห้ามร่วมกัน โดยการสร้างเครือข่ายระหว่างหน่วยงานของรัฐ ชุมชน และองค์กรพัฒนาเอกชน เพื่อร่วมกันจัดการ ใช้ประโยชน์ ตรวจสอบการใช้ประโยชน์ และบำรุงรักษาพื้นที่สงวนหวงห้าม โดยเฉพาะการป้องกันการบุกรุกป่าสงวนและป่าอนุรักษ์ต่าง ๆ
ระบบกรรมสิทธิที่ดินที่สมบูรณ์ จึงเป็นระบบที่มีประสิทธิภาพในการลดข้อขัดแย้งเกี่ยวกับความเป็นเจ้าของที่ดินนั้น ทำให้เกิดการใช้ประโยชน์ที่ดินเต็มที่ ทำให้ผู้ครอบครองที่ดินได้รับประโยชน์สูงสุด ทำให้ผู้ครองครองที่ดินมีเสรีภาพในการประกอบอาชีพและการใช้ประโยชน์จากที่ดินนั้น
admin
เผยแพร่: 
หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์
เมื่อ: 
2008-07-18