จัดสวัสดิการให้พอใจผู้ใช้รัฐธรรมนูญ

วันศุกร์ที่ 20 ก.ค. ที่ผ่านมา ผมได้เป็นผู้ดำเนินรายการในการสัมมนาทางวิชาการ ของสมาคมสังคมศาสตร์แห่งประเทศไทย ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หัวข้อร่างรัฐธรรมนูญที่ส่งเสริมเสรีภาพของประชาชน ซึ่งเกี่ยวกับสิทธิที่จะได้รับจากรัฐ และการคุ้มครองให้พ้นอำนาจของฝ่ายการเมืองที่อาจจะกีดกันเสรีภาพในการดำเนินชีวิตและการประกอบอาชีพของประชาชน คนไทย

ในการสัมมนาครั้งนี้มีวิทยากรผู้เชี่ยวชาญเรื่องสิทธิและเสรีภาพให้เกียรติมาร่วมเสวนาจำนวน 4 ท่าน ได้แก่ดร.สนั่นอินทรประเสริฐอาจารย์จอน อึ๊งภากรณ์นายวิฑูรย์เลี่ยนจำรูญและ ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล เพื่อร่วมประเมินสิทธิและเสรีภาพของประชาชนในร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 และถกเถียงหากลไกช่วยให้สิทธิและเสรีภาพเป็นจริงได้ในทางปฏิบัติ

การสัมมนาครั้งนี้
ได้แตกประเด็นความคิดที่เป็นประโยชน์หลายเรื่อง ผมขอยกตัวอย่างเรื่องรัฐสวัสดิการที่มีข้อเสนอให้ประเทศไทยเป็นระบบรัฐสวัสดิการที่เข้มแข็ง สร้างความเท่าเทียมให้กับคนในสังคม ไม่ว่าจะยากจนหรือร่ำรวยให้ได้รับสิทธิและบริการจากรัฐอย่างครบถ้วน อาทิ การรักษาพยาบาลฟรี ระบบสาธารณูปโภคที่ดี รวมถึงการศึกษา เครื่องแบบ วัสดุอุปกรณ์การเรียนฟรีตั้งแต่ระดับอนุบาลจนถึงระดับมหาวิทยาลัย ซึ่งรัฐจะได้รายได้มาจากการเก็บภาษีในอัตราก้าวหน้า กล่าวคือ ผู้มีรายได้สูงมากก็จะต้องจ่ายภาษีมากขึ้นเป็นเงาตามตัว

ส่วนอีกฝ่ายหนึ่งมีความเห็นว่า ร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 นี้ได้ให้สิทธิที่เหมาะสมแล้ว คือ ผู้ยากไร้ ผู้พิการหรือทุพพลภาพ หรือผู้อยู่ในสภาวะยากลำบาก มีสิทธิได้รับการศึกษาฟรีไม่น้อยกว่าสิบสองปี ส่วนสิทธิในการได้รับบริการสาธารณสุขและสวัสดิการจากรัฐ คือ ผู้ยากไร้ ผู้ทุพพลภาพ บุคคลไร้ที่อยู่อาศัย และไม่มีรายได้เพียงพอแก่การยังชีพ มีสิทธิได้รับสวัสดิการ สิ่งอำนวยความสะดวกอันเป็นสาธารณะ และความช่วยเหลือที่เหมาะสมจากรัฐ

อย่างไรก็ตาม ผมเคยเสนอทางออกที่เหมาะสมเกี่ยวกับการให้สวัสดิการของรัฐในปัจจุบัน ว่าต้องมีลักษณะผสมผสาน กล่าวคือ ระบบที่ดีนั้นจะต้องให้ประชาชนช่วยเหลือตัวเองให้มากที่สุด ไม่เอาเปรียบคนอื่น และต้องมีระบบช่วยคนที่เสียเปรียบในระบบด้วย เช่น เด็กที่เกิดมาพิการ โดยมีโครงสร้างการจัดเก็บและกระจายภาษีที่ครอบคลุมทุกกลุ่มอย่างมีประสิทธิภาพ มีการเก็บภาษีอัตราก้าวหน้าจากคนที่มีศักยภาพในการทำงานสูง แต่ต้องไม่มากจนทำลายแรงจูงใจในการทำงาน มีระบบช่วยคนป่วยให้ได้รับการดูแลอย่างทั่วถึง และขณะเดียวกัน ต้องไม่ทำคนป่วยนั้นรู้สึกอยากแช่อยู่ในระบบ รวมถึงการทำให้ผลตอบแทนจากการไปทำงานสูงกว่าการอยู่ในระบบ เพื่อจูงใจให้คนกลับไปทำงาน

ข้อเสนอหลากหลายนี้ ผมคิดว่าหากได้รับการพิจารณาจากผู้มีอำนาจ ย่อมทำให้ประชาชนผู้ใช้รัฐธรรมนูญทุกคนได้รับประโยชน์อย่างเต็มที่เท่าเทียมกัน


admin
เผยแพร่: 
0
เมื่อ: 
2007-08-01