เคล็ดลับการวางแผนสู่ความสำเร็จ
ศัลยแพทย์ชาวฝรั่งเศสผู้มีชื่อเสียงท่านหนึ่งได้กล่าวไว้อย่างน่าคิดว่า ldquo;ถ้าผมมีเวลาแค่ 4 นาที ในการผ่าตัดคนไข้ ผมจะใช้เวลา 1 นาที เพื่อวางแผนการผ่าตัดให้ดีที่สุด และใช้เวลา 3 นาทีที่เหลือในการผ่าตัดrdquo;
จากประสบการณ์ส่วนตัว ผมพบว่า หากเรายอมเสียเวลาส่วนหนึ่งในตอนแรกเพื่อคิดวางแผนให้รอบคอบก่อนจะเริ่มดำเนินการใด ๆส่วนใหญ่งานนั้นมักจะได้ผลงานที่มีคุณภาพตามเป้าหมาย ไม่ต้องย้อนกลับไปเริ่มต้นนับหนึ่งใหม่เพราะทำผิดพลาด หลักการสำคัญที่เราควรเรียนรู้ คือ เราต้องคิดวางแผนให้ดีที่สุดก่อนการทำสิ่งใด ๆ เพราะในบางเรื่อง.เราอาจไม่มีโอกาสเริ่มต้นใหม่เป็นครั้งที่สองก็เป็นได้
การวางแผน คือ การตอบคำถามที่ว่า ldquo;จะประสบความสำเร็จในเป้าหมายได้อย่างไร?rdquo;การวางแผนเป็นกระบวนการที่ชี้ให้เห็นถึงวิธีการต่าง ๆ ที่จะต้องปฏิบัติ ช่วยให้เรามองเห็นว่าจะต้องทำอะไรบ้างจึงไปถึงเป้าหมาย โดยแจกแจงในรายละเอียดว่าเรามีเป้าหมายจะทำอะไร?...จะทำเมื่อไร?...จะทำอย่างไร?...ใครเป็นผู้กระทำ?... ฯลฯ
การวางแผนงานที่ชัดเจนทั้งในส่วนของเป้าหมาย วิธีการ ขั้นตอน และขอบเขตเวลาในการดำเนินการจะช่วยควบคุมความคิดและพฤติกรรมให้มุ่งสู่เป้าหมาย อันจะช่วยเปิดโอกาสให้เราเข้าใกล้ความสำเร็จที่วัดได้ รวมทั้งช่วยลดโอกาสความผิดพลาดที่อาจเกิดขึ้นจากการดำเนินการ โดยองค์ประกอบสำคัญในการวางแผนที่ดีและเอื้อต่อความสำเร็จนั้นเริ่มจาก
วางแผนเพื่อผลระยะยาวมากกว่าผลระยะสั้น คนที่ประสบความสำเร็จในการดำเนินการตามแผนมักเป็นผู้ที่วางแผนโดยคิดถึงผลระยะยาวมากกว่าหวังผลเฉพาะหน้า โดยยึดคติในการลงทุนที่แม้ดูเหมือนต้องเสียผลประโยชน์ในวันนี้ แต่จะเก็บเกี่ยวผลที่มากกว่าและยาวนานกว่าในภายหน้า
กำหนดเป้าหมายย่อยสอดคล้องเป้าหมายใหญ่สุดท้ายแบ่งซอยเป้าหมายใหญ่ออกเป็นเป้าหมายย่อย ๆ หลาย ๆ เป้าหมาย ให้มีความสอดคล้องกันระหว่างเป้าหมายระยะสั้น กลาง และระยะยาว จัดลำดับความสำคัญอย่างเหมาะสม และพยายามไต่ความสำเร็จไปทีละเป้าหมายจนถึงเป้าหมายใหญ่สูงสุด โดยหากเป้าหมายย่อยในแต่ละขั้นตอนประสบความสำเร็จแล้วย่อมเท่ากับว่าแผนการทั้งหมดบรรลุความสำเร็จด้วยเช่นกัน
วางแผนคู่ขนาน ndash; แผนสำรอง เนื่องจากแผนการที่วางไว้อาจไม่เป็นไปตามที่เราตั้งใจเนื่องจากมีปัจจัยบางอย่างที่ควบคุมไม่ได้ (uncertainty) โดยผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นอาจจะมีโอกาสที่จะเป็น 1 หรือ 2 หรือ 3 ก็ได้ ซึ่งแต่ละแบบจำเป็นต้องใช้การตอบสนองที่แตกต่างกัน ดังนั้น การวางแผนจึงควรวางแผนคู่ขนานสำรองไว้เพื่อเตรียมพร้อมและเป็นทางเลือกในสภาพแวดล้อมที่ไม่แน่นอน
ทดสอบในสถานการณ์จำลองการทดสอบในสถานการณ์จำลองเป็นการช่วยลดข้อผิดพลาดเมื่อต้องเผชิญเหตุการณ์ดังกล่าวในสนามจริง ส่งผลให้แผนงานสามารถสัมฤทธิ์ผลตามเป้าหมายได้อย่างรวดเร็ว ช่วยลดความกระวนกระวายหรือตื่นตระหนกกับเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่อาจเกิดโดยไม่คาดฝันเนื่องจากมีการคาดการณ์ล่วงหน้าถึงเหตุการณ์นั้นไว้แล้ว โดยการทดสอบในสถานการณ์จำลองนั้นเริ่มจาก
...การทดสอบแผนใน ldquo;สนามความคิดrdquo; หรือสมองของเราด้วยการคิดเชิงวิพากษ์ในการฝึกซ้อมการตอบโต้ทางความคิดจากสถานการณ์จำลองที่คาดการณ์ว่าอาจจะเกิดขึ้นในอนาคต ซักซ้อมการป้องกันและแก้ไขเหตุบังเอิญที่อาจเกิดขึ้น
...วิพากษ์แผนและมองหาจุดอ่อน เมื่อเราวางแผนสำเร็จ ก่อนนำไปใช้ปฏิบัติจริงควรมีการวิพากษ์เพื่อหาข้อบกพร่อง หาจุดอ่อน โอกาสการเกิดเหตุการณ์ไม่คาดคิดที่ทำให้แผนนี้ล้มเหลว โดยการพิจารณาในทุก ๆ เรื่อง ไม่ว่าจะเป็นตัวผู้ดำเนินการ จังหวะเวลา เครื่องมือที่นำมาใช้ รวมทั้งการพยายามค้นหาสิ่งที่แย่ที่สุดที่อาจจะเกิดขึ้น โดยใช้หลักการสำคัญอันได้แก่
สวมบทบาทเป็นฝ่ายตรงข้าม ลองสวมบทบาทเป็นผู้รับผลกระทบจากแผนปฏิบัติการของเรา และดูว่าเขาจะใช้วิธีตอบโต้อย่างไร หรือหากเขาโต้ตอบกลับมาเราสามารถรับมือได้มากน้อยเพียงใด โอกาสที่เขาจะมีชัยชนะต่อเรามีความเป็นไปได้มากน้อยเพียงใด เป็นต้น
ค้นหาข้อบกพร่องของแผนให้พบ พยายามหาข้อบกพร่องของแผน ความเสี่ยงต่อความล้มเหลวจากเหตุการณ์ไม่คาดฝันในอนาคต จากจุดอ่อนข้อจำกัดของตนเองที่มีอยู่ หรือจากสถานการณ์ภายนอกที่มีโอกาสส่งผลกระทบเชิงลบต่อแผนการดำเนินการ โดยพิจารณาปัจจัยที่เกี่ยวข้องต่าง ๆ ให้ครบถ้วน และหาความเสี่ยงต่อความล้มเหลวของแผนอย่างน้อย 5 ประการ เพื่อเป็นการบีบความคิดให้มองในอีกมุมหนึ่งของแผนถึงความเป็นไปไม่ได้และความเสี่ยงต่อความล้มเหลว และนำข้อบกพร่องที่อาจเกิดขึ้นนั้นมาวิเคราะห์โอกาสความเป็นไปได้ เพื่อให้แผนสำรองยามฉุกเฉิน สามารถปฏิบัติการแก้ปัญหาได้จริง
ความสำเร็จที่เกิดขึ้นโดยความบังเอิญนั้นไม่สามารถนับได้ว่าเป็นความสำเร็จแท้ที่ยั่งยืน หากแต่ความสำเร็จแท้ต้องเกิดจากการวางแผนการดำเนินการที่ดีรอบคอบอย่างมียุทธศาสตร์และชั้นเชิง เพื่อให้แผนงานที่วางไว้สามารถบรรลุเป้าหมายได้ แม้ต้องพบกับอุปสรรคปัญหาระหว่างทางที่จะไปถึงความสำเร็จนั้นก็ตาม
Tags:
เผยแพร่:
งานอัพเกรด
เมื่อ:
2008-06-12