2008 ชั้นหนังสือในชุมชน
การขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานความรู้ นวัตกรรมและเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่เชื่อมโยงและแข่งขันทั่วโลก อีกทั้งกรุงเทพฯ ในฐานะเมืองหลวงที่เป็นศูนย์กลางการค้า ธุรกิจ การศึกษา ฯลฯ ของประเทศ จำเป็นต้องพัฒนาคนเมือง ให้เป็นคนแห่งการเรียนรู้ เพื่อเผชิญหน้ารับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรู้เท่าทัน สามารถปรับตัว อยู่รอดและแข่งขันได้ โดยปลูกฝังวัฒนธรรมหนึ่งที่สำคัญคือ วัฒนธรรมรักการอ่าน
จุดเริ่มต้นที่สำคัญในการสร้างนิสัยและวัฒนธรรมรักการอ่านคือ ครอบครัว และสถานศึกษา แต่ที่ผ่านมาบ้านและสถานศึกษาเพียงบางแห่งเท่านั้น ที่สามารถดำเนินภารกิจและบทบาทนี้ได้ดี
ดังนั้น หากเราเห็นว่า การสร้างวัฒนธรรมการอ่านเป็นสิ่งจำเป็น ต้องมีความพยายามผลักดันในทุกทางกทม. จำเป็นต้องพัฒนาชุมชน ให้มีส่วนสร้างหล่อหลอมให้คนรักการอ่าน เพราะในแต่ละวันมีเด็กและเยาวชน รวมถึงคนในชุมชนจำนวนมากที่มีเวลาว่าง แต่ยังไม่ได้ใช้เวลาว่างนั้น ให้เกิดประโยชน์เท่าที่ควร ส่วนหนึ่งมาจากการไม่มีกิจกรรมเชิงสร้างสรรค์และพัฒนาการเรียนรู้ในชุมชนมากนัก นับเป็นการเสียโอกาสเรียนรู้ของคนในชุมชน
ผมเสนอว่าต้องสร้าง ldquo;ชั้นหนังสือที่มีชีวิตมีคุณภาพและทันสมัยในทุกชุมชนrdquo; โดยเฉพาะชุมชนแออัดใน กทม. ที่จดทะเบียนไว้ 2008 ชุมชน เพื่อให้กลุ่มคนต่าง ๆ มีโอกาสได้เปิดโลกการเรียนรู้และสร้างวัฒนธรรมรักการอ่าน โดยมีแนวทางดังนี้
คัดเลือกหนังสือที่คนในชุมชนชอบและหนังสือที่ต้องอ่าน ควรส่งเสริมให้คนอ่านหนังสืออย่างสมดุล โดยให้คนอ่านหนังสือครบทั้ง 2 ประเภทที่จะช่วยในการพัฒนาคุณภาพชีวิต อันได้แก่ ldquo;หนังสือที่ตนชอบrdquo; เป็นหนังสือที่ให้ความสุขเมื่อได้อ่าน อาจเป็นหนังสือประเภทใดได้ และ ldquo;หนังสือที่ต้องอ่านrdquo; คือหนังสือที่สนับสนุนความสำเร็จของชีวิต โดยลดการอ่านด้านบันเทิงลงบ้าง ทั้งนี้เพื่อส่งเสริมให้อ่านหนังสือครบถ้วนทุกด้าน เพิ่มพูนความรู้ และความเข้าใจอย่างต่อเนื่อง
วิธีคัดเลือกหนังสือที่คนในชุมชนชอบ วิเคราะห์ความต้องการของคนในชุมชนเป็นการสำรวจความต้องการหนังสือประเภทต่างๆ ของคนในชุมชนว่า แต่ละกลุ่มคนต้องการและสนใจหนังสือประเภทใด ไม่ว่าจะเป็นนิยาย นิตยสารการบันเทิง การ์ตูน การฝึกอาชีพ-ทำอาชีพเสริม ฯลฯ โดยเลือกหนังสือที่เป็นพิษภัยน้อยที่สุด และมีส่วนให้ข้อคิด และจะเป็นจุดเริ่มต้นให้คนในชุมชนหันมาอ่านหนังสือ แล้วค่อย ๆ ขยับสู่การอ่านหนังสือประเภทอื่น ที่จำเป็นต้องอ่าน
วิธีคัดเลือกหนังสือที่ต้องอ่าน จัดชุดหนังสือที่ควรอ่าน การจะทำให้คนในชุมชนเกิดความรู้สึกต้องการอ่านหนังสือ ควรช่วยให้เขาเห็น ldquo;เป้าหมายrdquo; ว่าหนังสืออะไรบ้างที่เขาควรอ่าน ดังนั้นจึงควรส่งเสริมให้จัดชุดหนังสือสำหรับคนกลุ่มต่าง ๆ ในชุมชน เพื่อให้เขาสามารถเลือกอ่านได้อย่างมีเป้าหมาย เช่น จัดชุดหนังสือที่ควรอ่านสำหรับคนกลุ่มต่าง ๆ ทั้งที่มีการศึกษาและด้อยการศึกษา ว่าควรอ่านอะไร โดย กทม. อาจขอความร่วมมือกับผู้ผลิตสื่อสิ่งพิมพ์ต่าง ๆ จัดทำคู่มือ รายชื่อหนังสือที่ส่งเสริมชีวิตคนแต่ละอาชีพหรือแต่ละกลุ่ม โดยอาจรวบรวมรายชื่อหนังสือที่เป็นเรื่องคล้ายกันจัดเป็นชุด เช่น ชุดบริหารเวลา ชุดพัฒนาทักษะภาษาอังกฤษ ชุดการคิด ฯลฯ พร้อมแผนงานในการอ่าน ที่บอกแนวทางในการอ่านอย่างเป็นระบบ เพื่อให้คนได้วางแผนด้วยตนเองว่าจะอ่านหนังสือจบเมื่อไร และจะอ่านชุดอะไรต่อ นำไปเข้าชั้นหนังสือในแต่ละชุมชน
1 ภาคธุรกิจ 1 ชั้นหนังสือ สร้างความร่วมมือให้บริษัทเอกชนเข้าร่วมสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการสร้างชั้นหนังสือในชุมชน โดยให้บริษัทเอกชนมีส่วนเกื้อหนุนการจัดหาชั้นหนังสือหรือตู้ราคาถูกจากฝีมือของผู้ต้องขังหรือจากศูนย์ส่งเสริมอาชีพมาติดตั้งในชุมชน เป็นต้น รวมถึงหากเอกชนรายใดมีศักยภาพในการช่วยค่าใช้จ่ายในการดำเนินการให้บริการตลอดปี ซึ่งจะเป็นค่าใช้จ่ายที่ไม่มากนักที่สามารถหาบริษัทเอกชนมาเป็นผู้สนับสนุนได้ไม่ยาก
พัฒนารูปแบบบริจาค สนับสนุนหนังสือสู่ชุมชนในรูปแบบต่าง ๆ ผมเชื่อว่า คนในกรุงเทพฯ จำนวนไม่น้อย มีหนังสือดีมีคุณภาพที่อ่านแล้วหรือไม่ได้ใช้แล้ว และยังเป็นประโยชน์ ทันสมัยอยู่ ซึ่งพร้อมบริจาคสู่ผู้อื่น แต่ต้องพัฒนารูปแบบบริจาคและนำหนังสือเข้าสู่ชุมชนอย่างมีประสิทธิภาพ โดยระบุว่าชั้นหนังสือที่ชุมชนต้องการกลุ่มหนังสือประเภทใดบ้าง จำนวนเท่าใด ต้องการหนังสือในช่วงใดของปี และมีระบบรับบริจาคและจัดส่งสู่ชุมชนที่มีประสิทธิภาพ หากหนังสือบริจาคประเภทใดยังไม่ครบก็หาจากแหล่งอื่น เช่น เจรจากับสำนักพิมพ์ให้ได้หนังสือราคาที่ถูกลง หรือใช้วิธีหมุนเวียนหนังสือจากชุมชนสู่ชุมชน เพื่อให้แต่ละชุมชนได้รับหนังสือไม่ซ้ำกันและเป็นการประหยัดทรัพยากร ฯลฯ ทั้งนี้อาจใช้วิธีจัดจ้างให้เอกชนเข้ามาบริหารจัดการและดำเนินการในภาพรวม โดยกำหนดหน้าที่ภารกิจและเป้าหมายที่ชัดเจน มีการประเมินผลต่อเนื่อง
ให้ชุมชนมีส่วนร่วมยืม-คืนหนังสือ การพัฒนาระบบยืมคืนหนังสือ ควรให้ชุมชนมีส่วนร่วมรับผิดชอบและเป็นผู้ดูแล โดยมอบหมายหน้าที่และภารกิจที่ชัดเจน มีระบบการนำคนจากชุมชนเช่น อาจเป็นกลุ่มเยาวชนที่เป็นอาสาสมัคร เวียนเข้ามาให้บริการยืม-คืน และมีส่วนดูแลหนังสือให้ไม่สูญหายและเสียหาย
2008 ชั้นหนังสือในทุกชุมชน เป็นเพียงจุดเริ่มต้นในการพัฒนาและปลูกฝังนิสัยรักการอ่าน ซึ่งจะต้องมีมาตรการและแนวทางดำเนินการต่อเนื่องและพัฒนาปรับปรุงให้มีคุณภาพ มีความหลากหลาย และทันสมัย โดยจุดเริ่มต้นที่ชุมชนแม้จะดูเล็กน้อย แต่เป็นช่องทางที่เพิ่มโอกาสให้คนในชุมชนสามารถเข้าถึงได้ แต่ถึงกระนั้น กทม. ต้องเร่งพัฒนาช่องทางการเรียนรู้อื่นเพิ่มเติม เพื่อมีส่วนสร้างและปลูกฝังลักษณะนิสัยรักการอ่านและการเรียนรู้ให้คน กทม.
* นำมาจากนิตยสารการศึกษาวันนี้ ฉบับวันพฤหัสบดีที่1 ndash;วันพฤหัสบดีที่ 8 พฤษภาคม พ.ศ.2551
Tags:
เผยแพร่:
0
เมื่อ:
2008-05-07