วิเคราะห์มาตรการส่งเสริมการลงทุนอีโคคาร์
จากสภาวะเศรษฐกิจของประเทศที่ชะลอตัวลง เนื่องจากการบริโภคภาคประชาชนและการลงทุนชะลอตัวลง รัฐบาลจึงต้องแสวงหามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจมาเพื่อแก้ไขปัญหา มาตรการหนึ่งที่มีการกล่าวถึง คือ โครงการผลิตรถยนต์ประหยัดพลังงานตามมาตรฐานสากล หรือ ldquo;อีโคคาร์rdquo; ซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรมเชื่อว่า เป็นโครงการที่สามารถดึงการลงทุนเข้ามาได้ และยังเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจในอีกทางหนึ่ง
สำหรับแนวคิดการสนับสนุนการผลิตอีโคคาร์นั้นเกิดขึ้นมานานแล้ว แต่ยังไม่ประสบความสำเร็จในการผลักดันแนวคิดนี้ เนื่องจากไม่สามารถหาข้อสรุปในประเด็นสำคัญ ๆ คือ การกำหนดคุณสมบัติของอีโคคาร์ และการลดอัตราการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตของอีโคคาร์
การหาข้อสรุปดังกล่าว ผู้กำหนดนโยบายจำเป็นต้องพิจารณาผลประโยชน์และผลกระทบหลายด้าน อาทิ การดึงดูดการลงทุน การพัฒนาการผลิตรถยนต์เล็กเพื่อการส่งออก การลดการใช้พลังงาน การลดมลภาวะ การลดลงของรายได้ภาครัฐ ผลกระทบต่อการผลิตรถยนต์ประเภทอื่น ฯลฯ
ซึ่งในที่สุด คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ได้สรุปมาตรการส่งเสริมการผลิตรถยนต์ประหยัดพลังงานมาตรฐานสากล (อีโคคาร์) ประกอบด้วย การยกเว้นอากรขาเข้าเครื่องจักรและภาษีเงินได้นิติบุคคลไม่เกิน 8 ปีในทุกเขตที่ตั้ง โดยมีเงื่อนไขว่า นักลงทุนที่สนใจต้องเสนอแผนการลงทุนในวงเงินไม่น้อยกว่า 5 พันล้านบาท ต้องผลิตชิ้นส่วนหลัก 4 ใน 5 รายการที่กำหนดไว้ ต้องมีการผลิตจริงไม่ต่ำกว่า 1 แสนคันต่อปีนับตั้งแต่ปีที่ 5 เป็นต้นไป และต้องยื่นคำขอรับการส่งเสริมการลงทุนภายใน 30 พฤศจิกายน 2550
การกำหนดเงื่อนไขต่าง ๆ ข้างต้นดูเหมือนจะอยู่ภายใต้ข้อสมมติที่ว่า อุตสาหกรรมการผลิตอีโคคาร์เป็นอุตสาหกรรมที่ต้องอาศัยความประหยัดจากขนาด (economy of scale) เพราะการผลิตสินค้าเป็นจำนวนมาก ๆ จะทำให้ต้นทุนต่อหน่วยต่ำกว่าการผลิตจำนวนน้อย ๆ
ดังนั้นแนวคิดของภาครัฐจึงเป็นความพยายามอุดหนุนอุตสาหกรรมในช่วงเริ่มต้น (baby industry) โดยการกำหนดมาตรการส่งเสริมการลงทุนในช่วงต้น และการจำกัดจำนวนผู้ประกอบการที่จะเข้ามาแข่งขัน โดยการจำกัดระยะเวลาการยื่นคำขอรับการส่งเสริมการลงทุน
ในขณะเดียวกันภาครัฐยังกำหนดจำนวนการผลิตอีโคคาร์ขั้นต่ำรายละ 1 แสนคันต่อปี ซึ่งน่าจะเป็นการป้องกันการใช้อำนาจผูกขาดของผู้ผลิต (น่าจะมีผู้ที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนน้อยราย) ทั้งนี้เพราะการกำหนดจำนวนการผลิตอีโคคาร์จะทำให้ผู้ผลิตไม่สามารถตั้งราคาขายอีโคคาร์สูง ๆ เพื่อทำกำไรส่วนเกิน (exess profit) มากเกินไปได้ และอาจทำให้บรรลุเป้าหมาย คือ การส่งเสริมให้ผู้บริโภคในประเทศหันมาใช้อีโคคาร์ในวงกว้าง การส่งเสริมอุตสาหกรรมต่อเนื่อง และการสร้างฐานการผลิตเพื่อส่งออก
อย่างไรก็ตาม การกำหนดจำนวนการผลิตอีโคคาร์มีข้อเสียคือ ความไม่ยืดหยุ่นในการปรับแผนการผลิตในภาวะที่พลวัตร (dynamic) ซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงของต้นทุนการผลิตหรือความต้องการของผู้บริโภค เช่น กรณีที่ต้นทุนการผลิตสูงขึ้นหรือความต้องการอีโคคาร์ลดลง อาจทำให้ผู้ประกอบการต้องประสบกับการขาดทุนหรือผลตอบแทนการลงทุนไม่คุ้มค่าจนต้องเลิกการผลิต ในกรณีตรงกันข้าม ผู้ผลิตจะได้กำไรส่วนเกินมากขึ้น และราคาอีโคคาร์สูงขึ้น แต่จำนวนการผลิตอาจไม่เพิ่มขึ้นเลย
ข้อเสียอีกประการหนึ่ง คือ การกีดกันผู้ผลิตรายอื่นเข้าสู่อุตสาหกรรม ทำให้ไม่เกิดบรรยากาศของการแข่งขัน ทำให้ไม่มีแรงผลักให้เกิดการพัฒนาประสิทธิภาพการผลิต และเสียโอกาสที่จะมีผู้ผลิตรายใหม่เข้ามาลงทุน และกีดกันผู้ผลิตที่มีประสิทธิภาพในการผลิตสูง ณ กำลังการผลิตที่ต่ำกว่า 1 แสนคันต่อปี
เมื่อมาตรการนี้มีทั้งข้อดีและข้อเสีย ผมจึงเกิดคำถามขึ้นว่า มีมาตรการส่งเสริมการลงทุนอีโคคาร์ที่ดีกว่ามาตรการปัจจุบันหรือไม่ และมาตรการที่เหมาะสมควรเป็นอย่างไร ระหว่างการกำหนดเวลายื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุน เพื่อเป็นหลักประกันแก่ผู้ลงทุนว่าจะมีผู้ผลิตเพียงน้อยราย โดยป้องกันการใช้อำนาจผูกขาดด้วยการกำหนดจำนวนการผลิต กับการเปิดให้มีการเข้ามาลงทุนแข่งขันกันอย่างไม่จำกัดจำนวน
ผมเห็นด้วยที่ภาครัฐมีมาตรการที่ช่วยลดต้นทุนให้กับการผลิตอีโคคาร์ เพราะการผลิตและใช้อีโคคาร์จะส่งผลกระทบภายนอกเชิงบวก (positive externality) ทั้งการลดการใช้พลังงานและลดการปล่อยมลพิษทางอากาศ แต่ด้วยเหตุที่ต้นทุนการผลิตอีโคคาร์ยังสูงมาก ภาครัฐจึงจำเป็นต้องสนับสนุนเพื่อให้การผลิตมีความคุ้มค่าในการลงทุน และทำให้มีการใช้อีโคคาร์กันมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม ผมค่อนข้างเชื่อในกลไกตลาดมากกว่าการแทรกแซงของภาครัฐ เพราะอุตสาหกรรมที่ได้รับการปกป้องจากการแข่งขันมากเกินไป มักจะขาดประสิทธิภาพและไม่สามารถแข่งขันได้ในระยะยาว ผมจึงเห็นว่าควรยืดเวลาการเปิดรับคำขอรับการส่งเสริมการลงทุนให้นานขึ้น เพื่อเปิดโอกาสให้นักลงทุนมีเวลาศึกษาข้อมูล และเตรียมการเข้ามาลงทุนในประเทศไทย ซึ่งจะทำให้มีผู้ประกอบการเข้ามาแข่งขันกันผลิตอีโคคาร์มากขึ้น ทำให้การผลิตมีประสิทธิภาพ มีปริมาณการผลิตมากขึ้นและราคาอีโคคาร์ต่ำลง
อุตสาหกรรมยานยนต์มีลักษณะกึ่งผูกขาดกึ่งแข่งขัน (monopolistic competittion) กล่าวคือ ผู้ผลิตแต่ละรายมีอำนาจผูกขาดระดับหนึ่งอันเกิดจากสินค้ามีเอกลักษณ์แตกต่างกัน และมีการแข่งขันกันเพราะเป็นสินค้าที่ทดแทนด้วยสินค้าของผู้ผลิตรายอื่นได้ ภาครัฐจึงไม่จำเป็นต้องรีบปิดรับคำขอการส่งเสริมการลงทุนเพื่อจำกัดจำนวนผู้ผลิตอีโคคาร์ เพราะการตัดสินใจลงทุนขึ้นอยู่กับความสามารถในการแข่งขันของผู้ผลิตแต่ละรายด้วย นักลงทุนที่ประเมินแล้วว่าไม่สามารถแข่งขันได้จะไม่เข้ามาลงทุนอยู่แล้ว
หากเป็นไปได้ ผมอยากเสนอให้ยกเลิกการกำหนดปริมาณการผลิตที่ 1 แสนคันต่อปีด้วย เพราะไม่จำเป็นต้องใช้มาตรการนี้ป้องกันการใช้อำนาจผูกขาด หากมีผู้ที่สนใจเข้ามาลงทุนจำนวนมากเพียงพอจนทำให้เกิดบรรยากาศการแข่งขัน และหากอุตสาหกรรมอีโคคาร์เป็นอุตสาหกรรมที่ต้องพึ่งพาความประหยัดจากขนาด ผู้ผลิตย่อมต้องพยายามผลิตจำนวนมาก ๆ เพื่อทำให้การผลิตเกิดประสิทธิภาพสูงสุด
ผมขอเสนอให้ภาครัฐใช้มาตรการจูงใจแทนการกำหนดจำนวนการผลิตในแต่ละปี โดยการลดภาษีสรรพสามิตแบบขั้นบันได ตามปริมาณการผลิตจริงและตามคุณสมบัติของอีโคคาร์ บริษัทที่สามารถผลิตอีโคคาร์ได้มากกว่า 1 แสนคันต่อปี หรือมีการพัฒนาคุณสมบัติของอีโคคาร์สูงกว่ามาตรการที่กำหนด จะเสียภาษีในอัตราต่ำกว่าร้อยละ 17 ซึ่งกลไกการลดภาษีอาจใช้วิธีการคืนภาษีย้อนหลัง ทั้งนี้ที่มาของอัตราภาษีควรมาจากการวิเคราะห์ วิจัยเพื่อกำหนดอัตราภาษีที่เหมาะสม
ผมเห็นว่า หากประเทศไทยมีความได้เปรียบเชิงเปรียบเทียบในการผลิตอีโคคาร์ และมีทั้งตลาดในประเทศและตลาดส่งออกขนาดใหญ่เพียงพอ รวมทั้งภาครัฐช่วยลดต้นทุนการผลิตอีโคคาร์จนสามารถแข่งขันกับรถยนต์ทั่วไปได้แล้ว นักลงทุนน่าจะสนใจเข้ามาลงทุนผลิตอีโคคาร์ในประเทศไทย โดยไม่จำเป็นต้องใช้มาตรการส่งเสริมการลงทุนที่ทำให้เกิดการผูกขาดในอุตสาหกรรมการผลิตอีโคคาร์อีก
Tags:
เผยแพร่:
www.sapasupsip.com
เมื่อ:
2007-07-24