ฮาร์วาร์ด คริมสัน ประสบการณ์เรียนรู้นอกห้องเรียน

เดอะ ฮาร์วาร์ด คริมสัน (The Harvard Crimson) เป็นหนังสือพิมพ์ประจำมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ที่มีอายุยาวนานถึง 135 ปี (ก่อตั้งเมื่อปี ค.ศ. 1873) และเป็นหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นฉบับเดียวของเมืองเคมบริดจ์ ที่เผยแพร่ข้อมูลข่าวสารไปยังผู้อ่านประมาณ 14,000 คน
หนังสือพิมพ์ฉบับนี้ เป็นแหล่งบ่มเพาะความรู้ความสามารถของนักศึกษาที่สำคัญ นอกเหนือจากการเรียนในชั้นเรียน เพราะหนังสือพิมพ์ฉบับนี้จัดทำโดยนักศึกษาฮาร์วาร์ดทั้งหมด
ศิษย์เก่าที่มีชื่อเสียงของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดหลายคนต่างเคยเป็นหนึ่งใน ldquo;The Comprdquo; หรือ ทีมงานของหนังสือพิมพ์ อาทิ อดีตประธานาธิบดีจอห์น เอฟ เคเนดี้ เคยเป็นบรรณาธิการโต๊ะข่าวธุรกิจ อดีตประธานาธิบดี แฟรงคลิน ดี รูสเวลล์ เคยเป็นประธานคณะกรรมการของหนังสือพิมพ์ นอกจากนี้ยังมีบุคคลที่มีชื่อเสียงที่เคยร่วมงานในฐานะบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ เช่น แอนโทนี เจ ลูกัส (J. Anthony Lukas) นักเขียนที่ได้รับรางวัลพูลิตเซอร์ มาร์ค เพนน์ (Mark Penn) หัวหน้าคณะยุทธศาสตร์การเลือกตั้งประธานาธิบดีปี 2008 ของนางคลินตัน สตีฟ บราเมอร์ (Steve Ballmer) CEO บริษัท ไมโครซอร์ฟ เป็นต้น


กระบวนการบ่มเพาะที่สำคัญเกิดจากการเรียนรู้ผ่านการทำงานจริง ดังนี้
นักศึกษาได้เรียนรู้เรื่อง สิทธิ เสรีภาพและความรับผิดชอบต่อสังคม หนังสือพิมพ์มีการบริหารจัดการเป็นเอกเทศ ไม่ขึ้นอยู่กับมหาวิทยาลัย มีสำนักพิมพ์เป็นของตัวเอง นักเขียนทุกคนจึงสามารถนำเสนอข่าวสารได้อย่างเสรี แต่ขณะเดียวกัน ต้องรับผิดชอบโดยตรงต่อกองบรรณาธิการและผู้อ่าน ทำให้นักศึกษาได้เรียนรู้จักคำว่า ldquo;สิทธิ เสรีภาพ และความรับผิดชอบต่อสังคมrdquo;
นักศึกษาได้รับการพัฒนาทักษะตามความสนใจ หนังสือพิมพ์จะเปิดกว้างให้นักศึกษาจากทุกคณะ ทุกวิทยาลัยที่สนใจเข้าร่วมเป็นทีมงาน ตามประเด็นที่สนใจ ไม่ว่าจะเป็นข่าวกีฬา ข่าวธุรกิจ ข่าวประจำวันเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในเมืองและทั่วประเทศ ข่าวเทคโนโลยีสารสนเทศ หรือแม้แต่กองบรรณาธิการ โดยทีมงานทุกคนจะรับการฝึกทักษะที่จำเป็นต่อการรายงานข่าว เช่น การเขียนข่าว การรายงานข่าว การตรวจข่าว การจัดวางหน้าหนังสือพิมพ์ รวมถึงทักษะในการสื่อสาร การทำวิจัย เป็นต้น
นักศึกษาได้รับประสบการณ์แปลกใหม่นอกห้องเรียน การเป็นตัวแทนหนังสือพิมพ์ ทำให้นักศึกษามีโอกาสสัมภาษณ์บุคคลที่มีชื่อเสียงจากหลายอาชีพ ไม่ว่าจะเป็น อดีตรองประธานาธิบดี อัล กอร์ วุฒิสมาชิก จอห์น เคลี่ วุฒิสมาชิก บารัค โอบามา ประธานาธิบดียัสเซอร์ อาราฟัต รวมถึงได้เข้าไปมีส่วนค้นคว้าประเด็นที่ได้รับความสนใจ ทั้งในระดับมหาวิทยาลัย ท้องถิ่น และระดับประเทศ ดังนั้น การเข้าร่วมงานกับหนังสือพิมพ์นี้ จึงเปิดโอกาสให้นักศึกษาได้เรียนรู้ชีวิตนอกห้องเรียน เสริมสร้างทักษะใหม่ ๆ ทั้งยังเป็นการเตรียมความพร้อมแก่นักศึกษา ทั้งในการทำงานในอนาคต และการก้าวไปเป็นส่วนหนึ่งของพลเมืองโลก
สะท้อนคิดสู่ระบบการเรียนรู้ของไทย จำเป็นอย่างยิ่งที่เราต้องทำให้เกิดการปฏิรูปการเรียนรู้ทั้งในเชิงโครงสร้างและผู้เรียน โดยการสร้างช่องทางให้ผู้เรียนได้ทำกิจกรรมนอกห้องเรียนเชิงสร้างสรรค์ ไม่ว่าจะเป็น การทำหนังสือพิมพ์ การทำจุลสาร การทำวิทยุของมหาวิทยาลัย ซึ่งแต่กิจกรรมจะต้องมีแก่นที่มุ่งสร้างและพัฒนานักศึกษา ให้เป็นผู้มีความรับผิดชอบ ฝึกฝนทักษะการทำงาน และการอยู่ร่วมกับผู้อื่น รวมถึงการช่วยเหลือสังคม โดยในระยะเริ่มแรกมหาวิทยาลัยหรือสถาบันการศึกษา จำเป็นต้องมีระบบการให้คำปรึกษา ให้คำแนะนำ และมีส่วนสนับสนุนเท่าที่จำเป็น เพื่อให้การทำกิจกรรมของมหาวิทยาลัยโดยกลุ่มนักศึกษาเป็นไปอย่างมีคุณภาพ ตรงตามเป้าหมาย แต่ต้องไม่แทรกแซงจนนักศึกษาไม่มีอิสระในการทำงาน
admin
เผยแพร่: 
สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์
เมื่อ: 
2008-03-07