รัฐบาลใหม่ต้องจัดการปัญหาภาคใต้อย่างเข้าใจ
ปัญหาการก่อความไม่สงบในภาคใต้ที่ทวีความรุนแรงขึ้นในสมัยรัฐบาลที่ผ่านมา สะท้อนให้เห็นถึงความบกพร่องของรัฐบาลในการจัดการกับปัญหาความขัดแย้งในสังคม การที่พยายามเริ่มอธิบายปัญหาภาคใต้ว่าเป็นเรื่องกลุ่ม ldquo;โจรกระจอกrdquo; ที่มุ่งทำสงครามมวลชนเพื่อการแบ่งแยกดินแดน เป็นตัวสะท้อนถึงการขาดความเข้าใจครบถ้วนในปัญหา ซึ่งตามมาด้วยการใช้เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง ซึ่งได้แก่ ทหาร ตำรวจ และข้าราชการฝ่ายปกครอง เข้าไปจัดการกับกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบด้วยวิธีการแบบ ldquo;ตาต่อตา ฟันต่อฟันrdquo; ซึ่งเป็นแนวทางที่ทำให้ปัญหายิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้น จนถึงจุดสูงสุดคือโศกนาฏกรรมที่ตากใบ
ความรุนแรงที่ขยายวงเพราะความไม่เข้าใจปัญหาของได้กลายเป็นตัวเพิ่มระดับแรงต้านของประชาชนในพื้นที่ต่อกลไกรัฐ ประกอบกับการให้ข่าวโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐว่าเหตุการณ์ความรุนแรงในภาคใต้นั้น มีชาวต่างชาติจากประเทศเพื่อนบ้านอยู่เบื้องหลัง ก็ยิ่งทำให้ปัญหาเลวร้ายลงไปอีก เจ้าหน้าที่บางส่วนเสนอให้ใช้ยุทธวิธีเดียวกับการปราบคอมมิวนิสต์เมื่อหลายสิบปีก่อน คือการใช้ลูกเสือชาวบ้านเข้าไปคลุกคลีกับชาวบ้านและคนในพื้นที่ ซึ่งไม่ใช่วิธีการที่สร้างความเข้าใจและสมานฉันท์ให้เกิดขึ้นได้ อีกทั้งบริบทของคอมมิวนิสต์ในสมัยก่อนกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในภาคใต้นั้นแตกต่างกันอย่างมาก จึงอาจกล่าวได้ว่า แนวทางการแก้ปัญหาของรัฐบาลที่ผ่านมานั้นไม่ประสบผลสำเร็จเลย และเหตุโศกนาฏกรรมที่ตากใบได้จุดประเด็นให้กลุ่มประเทศมุสลิมเริ่มตื่นตัวที่จะเข้ามามีบทบาทในการจัดการปัญหานี้
รัฐบาลพลเอกสุรยุทธ์ได้เปลี่ยนแนวทางแก้ปัญหา โดยในช่วงแรกที่เข้ามารับตำแหน่ง ท่านนายกรัฐมนตรีได้เดินทางไปเยี่ยมและกล่าวคำขอโทษต่อพี่น้องในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งช่วยลดความตึงเครียดระหว่างฝ่ายรัฐกับประชาชนในพื้นที่ลงไปได้ระดับหนึ่ง แต่มาตรการที่รัฐบาลใช้ไม่ได้ช่วยทำให้ความสงบเกิดขึ้นได้ทันทีทันใด พี่น้องในสามจังหวัดชายแดนยังได้รับความเดือดร้อนจากเหตุความรุนแรงอยู่ แต่กระนั้นก็มีสัญญาณบางอย่างที่เราไม่เคยเห็นในสมัยรัฐบาลก่อน นั่นคือความร่วมมือที่คนในพื้นที่มีให้กับเจ้าหน้าที่ของรัฐ ซึ่งนับเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการแก้ไขปัญหาเรื่องนี้ ส่วนเรื่องการชี้แจงกับต่างประเทศถึงเหตุการณ์ความไม่สงบในภาคใต้ รัฐบาลพลเอกสุรยุทธ์ได้ดำเนินการแตกต่างจากรัฐบาลก่อน กล่าวคือ รัฐบาลใช้การยุทธวิธีทางการทูตเพื่อสร้างความกระจ่างให้กับ Organization of the Islamic Conference (OIC) ในเรื่องการสังหารหมู่ที่ตากใบ และการอพยพของคนไทย 131 คน ในพื้นที่จังหวัดนราธิวาส ส่งผลทำให้ทางการไทยได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจาก OIC ในการแก้ไขปัญหาความไม่สงบใน 3 จังหวัดภาคใต้
อย่างไรก็ดี หลังการเลือกตั้งเรากำลังจะมีรัฐบาลใหม่ และปัญหาความไม่สงบในภาคใต้จะยังคงเป็นปัญหาสำคัญที่รัฐบาลต้องให้ความสนใจไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าปัญหาเศรษฐกิจ ปัญหาความไม่สงบนี้เป็นปัญหาความขัดแย้งในระดับโครงสร้างสังคมที่ถูกนำไปขยายผลด้วยการบิดเบือนประเด็นเรื่องหลักข้อเชื่อของศาสนาของกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบเป็นข้ออ้างเพื่อสร้างความชอบธรรมกับวิธีการรุนแรงของตน ความแตกต่างในอัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์ความเป็นมลายูก็ถูกนำไปขยายผลว่าเป็นเหตุให้ถูกปฏิบัติอย่างไม่เท่าเทียมกัน รวมทั้งประวัติศาสตร์รัฐปัตตานี นอกจากนี้ ความไม่เป็นธรรมในการบังคับใช้กฎหมายของเจ้าหน้าที่รัฐก็เป็นอีกสาเหตุที่กระตุ้นให้ปัญหาทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น เพราะเป็นปัจจัยที่ทำให้แนวร่วมกับผู้ก่อความไม่สงบขยายตัว อีกทั้งยังเป็นข้ออ้างของผู้ก่อความไม่สงบในการต่อสู้กับฝ่ายรัฐด้วยความรุนแรง
ปัญหาที่ซับซ้อนนี้จำเป็นต้องอาศัยความเข้าใจและความเห็นใจเพื่อเอาชนะปัญหาความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งไม่อาจจะใช้วิธีการตาต่อตาฟันต่อฟันได้อีก แต่จำเป็นต้องใช้มาตรการทางการเมืองเป็นหลัก โดยหัวใจหลักอยู่ที่การจัดความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับประชาชน และระหว่างประชาชนส่วนใหญ่กับคนส่วนน้อยทั้งในพื้นที่และในประเทศ เพื่อแก้ปัญหาในระดับโครงสร้าง เพื่อหักล้างกับข้ออ้างของกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบ
การแก้ไขปัญหาความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างยั่งยืนนั้นต้องใช้การเมืองนำ โดยการสร้างกลไกที่อำนวยให้ยุทธศาสตร์ของภาครัฐในพื้นที่เป็นเอกภาพ และเสริมสร้างความเข้มแข็งของภาคประชาชน ที่ผ่านมาจะพบว่า ยุทธศาสตร์ของภาครัฐในพื้นที่ขาดความเป็นเอกภาพ การเมืองของภาคประชาชนยังอ่อนแอ จึงถูกแทรกแซงจากผู้ไม่หวังดีได้ง่าย วิธีการแก้ปัญหาดังกล่าว ควรจะเริ่มด้วยการจัดตั้งศูนย์ยุทธศาสตร์สันติสุขในเขตสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ตามรายงานของคณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์ ซึ่งศูนย์ดังกล่าวจะเป็นที่ประสานงานระหว่างตัวแทนของส่วนราชการในพื้นที่ ตำรวจ ทหาร ครู ผู้ใหญ่บ้าน กำนัน ร่วมกันกำหนดนโยบาย กฎเกณฑ์ทางวินัยในสายบังคับบัญชา ตลอดจนการลงโทษข้าราชการที่สร้างความไม่เป็นธรรม โดยให้ศูนย์ยุทธศาสตร์สันติสุขจัดตั้งคณะกรรมการเพื่อควบคุมทางวินัยแก่ข้าราชการทุกหมู่เหล่าในการปฏิบัติงานในพื้นที่อย่างเป็นธรรมการรวมตัวของหน่วยงานดังกล่าวจะช่วยให้การประสานงานและควบคุมการทำงานเป็นไปได้ง่ายขึ้น เกิดความเป็นเอกภาพในทางยุทธศาสตร์ระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ทั้งในระดับนโยบาย ระดับบังคับบัญชา และระดับปฏิบัติ คณะกรรมการของศูนย์ควรมีอำนาจเสนอแนะการโยกย้ายข้าราชการที่ประพฤติไม่ถูกต้องออกจากพื้นที่ รวมทั้งการยับยั้งนโยบายจากหน่วยงานราชการต่าง ๆ ที่มีแนวโน้มจะสร้างปัญหาความขัดแย้ง
นอกจากนี้ ควรได้มีการพิจารณาความเหมาะสมในการจัดตั้ง ldquo;สภาพัฒนาพื้นที่rdquo; เพื่อเป็นเครื่องมือการเมืองวิธีการหนึ่งที่ใช้แก้ไขปัญหา สภาดังกล่าวจะจัดตั้งขึ้นในระดับตำบลหรือหมู่บ้านในพื้นที่ที่มีปัญหาความรุนแรง โดยเน้นการสร้างเครือข่ายของภาคประชาชน ประสานงานและร่วมมือกับศูนย์ยุทธศาสตร์สันติสุข สมาชิกในสภาอาจเป็นตัวแทนของธุรกิจในพื้นที่ ประชาชน และองค์กรประชาชนต่าง ๆ โดยสมาชิกของสภาจะไม่มีข้าราชการ เพื่อให้เป็นที่สะท้อนมุมมองความเห็นของคนนอกภาคนอกรัฐอย่างแท้จริง รวมทั้งช่วยติดตามการใช้งบประมาณของหน่วยราชการในพื้นที่อย่างตรงไปตรงมา
หัวใจหลักของการแก้ปัญหาอยู่ที่การจัดความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับประชาชนใหม่ให้เกิดความเท่าเทียมกันมากขึ้น รวมทั้งการสร้างกลไกที่ช่วยให้มีหลักประกันความเสมอภาคในการได้รับการปฏิบัติอย่างเป็นธรรมจากเจ้าหน้าที่รัฐ
Tags:
เผยแพร่:
0
เมื่อ:
2008-02-01