สร้างหุ้นส่วนพัฒนาเด็กปฐมวัย

ldquo;ปฐมวัยrdquo; (เด็กแต่แรกเกิด-5 ปี) เป็นช่วงวัยของการวางรากฐานสำคัญของบุคคล ทั้งด้านสติปัญญา ความสามารถ ความฉลาดทางอารมณ์ บุคลิกภาพ และพฤติกรรม โดยหลายประเทศต่างให้ความสำคัญกับการวางรากฐานเด็กวัยนี้มาก สำหรับประเทศไทยมีหน่วยงานรับผิดชอบการศึกษาปฐมวัยหลายหน่วยงาน ได้แก่ กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และโดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) กระทรวงมหาดไทย และหน่วยงานย่อยต่าง ๆ มากกว่า 20 หน่วยงาน

ปีการศึกษา 2548 ศธ. ได้ตั้งศูนย์ปฐมวัยต้นแบบ 943 ศูนย์ทั่วประเทศ อปท. ได้รับการถ่ายโอนศูนย์พัฒนาเด็กเล็กจากหน่วยงานต่าง ๆ อาทิ กรมการพัฒนาชุมชน ศูนย์อบรมเด็กก่อนเกณฑ์ในวัดของ สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ และศูนย์พัฒนาเด็กเล็กของ ศธ. ซึ่งปี 2548 รวมแล้วมีศูนย์พัฒนาเด็กเล็กทั้งสิ้น 16,841 แห่ง ทั่วประเทศ นอกจากนี้ กระทรวงแรงงาน ได้จัดศูนย์เลี้ยงเด็กเพื่อผู้ใช้แรงงานในสถานประกอบการและชุมชน

ปัญหาการเข้ารับบริการของผู้เรียนระดับปฐมวัย การศึกษาระดับปฐมวัยยังพบว่ามีปัญหาหลายประการ โดยพบว่าอัตราส่วนนักเรียนระดับปฐมวัยต่อประชากรกลุ่มอายุ 3-5 ปี มีสัดส่วนลดลงเรื่อย ๆ จากร้อยละ 96.8 ในปีการศึกษา 2542 เหลือร้อยละ 90.6 ในปีการศึกษา 2545 จากร้อยละ 83.7 ในปีการศึกษา 2548 เหลือร้อยละ 75.03 ในปีการศึกษา 2549
ปัญหาด้านคุณภาพการศึกษาปฐมวัย ผลการประเมินของสำนักงานรับรองมาตรฐานและคุณภาพการศึกษา (สมศ.) ปี 2548 พบว่า ผู้เรียนระดับปฐมวัยส่วนใหญ่ มีระดับความคิดสร้างสรรค์อยู่ในระดับดีมีเพียงร้อยละ 11.1 มีหลักสูตรสื่อการเรียนรู้ที่เหมาะสมกับผู้เรียนเพียงร้อยละ 36.9 และครูจัดการเรียนการสอนอย่างมีประสิทธิภาพและเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญเพียงร้อยละ 38 ซึ่งต่ำกว่ามาตรฐานอย่างมาก
สาเหตุปัญหาการศึกษาปฐมวัยดังข้างต้นมีหลายประการ เช่น ความไม่พร้อมด้านครู อาคารสถานที่ อุปกรณ์การเรียนการสอน ศูนย์การศึกษาปฐมวัยมีจำนวนไม่เพียงพอ และ ศธ. ขาดหน่วยงานที่ทำหน้าที่ดูแลการศึกษาปฐมวัยโดยตรง รวมทั้ง ขาดการประสานงานที่มีประสิทธิภาพระหว่างภาครัฐและเอกชน นอกจากนี้ พ่อแม่ผู้ปกครองและครูยังขาดความรู้เกี่ยวกับการพัฒนาเด็กในวัยนี้ อีกทั้ง ฐานะทางเศรษฐกิจของครอบครัวยังเป็นอุปสรรคสำคัญประการหนึ่ง ที่ทำให้เด็กปฐมวัยขาดโอกาสทางการศึกษา ผู้ปกครองไม่สามารถส่งผู้เรียนเข้าสู่ระบบการศึกษาปฐมวัยในรูปแบบต่าง ๆ ได้
แนวทางจัดการศึกษาปฐมวัย: กระจายความรับผิดชอบสู่ภาคีที่มีความพร้อม
สภาพปัญหาและความจำกัดดังข้างต้นเป็นปัญหาที่หนักหน่วง ในขณะที่ความต้องการและความจำเป็นในการพัฒนากลุ่มเด็กปฐมวัยตั้งแต่แรกเกิดนั้นมีเพิ่มขึ้นและต้องการคุณภาพที่สูงขึ้น การจะให้รัฐบาลเป็นผู้รับภาระแต่ฝ่ายเดียวอาจไม่สามารถดำเนินการได้อย่างมีคุณภาพและเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงการจัดการเรียนรู้และการศึกษาระดับปฐมวัยได้มากนัก ผมเสนอว่า จำเป็นยิ่งที่จะต้องกระจายความรับผิดชอบ ให้กับภาคีอื่นที่มีความพร้อมเข้ามามีส่วนในการพัฒนาการจัดการเรียนรู้และการศึกษาสำหรับเด็กกลุ่มปฐมวัย อาทิ อาสาสมัคร ชุมชน ผู้ประกอบการทางสังคม หรือองค์กรภาคเอกชนอื่น ฯลฯ ที่มีความพร้อมและศักยภาพในการดูแลเด็กปฐมวัย

ตัวอย่างของ รัฐบาลประเทศอังกฤษมีนโยบาย Neighbourhood Nurseries ซึ่งผลการดำเนินงานพบว่า ภายในระยะเวลาเพียง 4 ปี (ปี 2001-2004) มีศูนย์รับเลี้ยงเด็กปฐมวัยแห่งใหม่เกิดขึ้นในประเทศอังกฤษกว่า 45,000 แห่ง ตอบสนองความต้องการในการเรียนรู้และการศึกษาปฐมวัยได้ค่อนข้างมาก

สาเหตุที่รัฐบาลอังกฤษนำนโยบาย Neighbourhood Nurseries มาใช้ เนื่องจากรัฐไม่สามารถจัดการศึกษาให้เด็กปฐมวัยได้ทั่วถึง โดยเฉพาะเด็กที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลและครอบครัวมีรายได้ต่ำ รัฐบาลอังกฤษจึงใช้ช่องทางการสร้างความร่วมมือกับประชาชนจากหลาย ๆ ฝ่าย ไม่เฉพาะกับหน่วยงานภาครัฐเท่านั้น อาทิ กลุ่มอาสาสมัคร กลุ่มคนในชุมชน กลุ่มผู้ประกอบการทางสังคม หรือองค์กรภาคเอกชน ที่มีความพร้อมและศักยภาพในการดูแลเด็กปฐมวัย ให้เข้ามาเป็นหุ้นส่วนกับรัฐบาล หรือที่เรียกว่า Early Years Development and Childcare Partnerships (EYDCPs) โดยที่รัฐไม่จำเป็นต้องกำหนดรูปแบบศูนย์ฯ ตายตัว เน้นตอบสนองความต้องการของคนในพื้น (community based nursery) และสนับสนุนงบประมาณแก่หุ้นส่วนสำหรับการดำเนินงาน จึงเป็นเหตุให้มีกลุ่มผู้สนใจเข้ามาร่วมเป็นจำนวนมาก โดยในระยะเวลา 4 ปี รัฐบาลอังกฤษใช้งบประมาณไปกว่า 300 ล้านปอนด์ เพื่อแลกกับประสิทธิภาพและความทั่วถึงของการจัดการเรียนรู้และการศึกษาระดับปฐมวัย
เปรียบเทียบกับประเทศไทย หน่วยงานภาครัฐจะรับผิดชอบการจัดการศึกษาปฐมวัยเป็นหลัก ซึ่งจากผลการประเมิน ได้สะท้อนให้เห็นแล้วว่า รัฐไม่สามารถจัดการศึกษาได้อย่างทั่วถึงและมีคุณภาพ ดังนั้นควรเปิดโอกาสให้ภาคส่วนต่าง ๆ เข้ามามีส่วนร่วมจัดการศึกษาปฐมวัย แต่ทั้งนี้ ต้องกำหนดเกณฑ์มาตรฐานความพร้อม เพื่อประเมินกลุ่มบุคคลหรือองค์กรที่เข้ามามีส่วนร่วมจัดการศึกษาว่ามีความพร้อมจริงหรือไม่ โดยรัฐให้การสนับสนุนด้านงบประมาณ ความรู้ และประเมินคุณภาพเป็นหลัก แต่รูปแบบการจัดการเรียนการสอนให้เป็นไปตามความต้องการของคนในพื้นที่
การศึกษาปฐมวัย เป็นช่วงที่สำคัญของการพัฒนาศักยภาพของมนุษย์ แต่ที่ผ่านมาประเทศไทยให้ความสำคัญกับการจัดการศึกษาในระดับนี้น้อยมาก เด็กไทยจึงขาดความพร้อมด้านทักษะที่จำเป็นต่อการเรียนรู้ในระดับที่สูงขึ้น ซึ่งส่งผลกระทบต่อคุณภาพบุคลากรของประเทศในอนาคต ดังนั้น รัฐบาลควรหันมาลงทุนด้านการศึกษาปฐมวัยมากขึ้น ซึ่งจะให้ผลตอบแทนในอนาคตนั้นคุ้มค่า เพราะเป็นการสร้างรากฐานที่มีคุณภาพให้เด็กไทยก่อนเข้าสู่ระบบการศึกษาขั้นพื้นฐาน
admin
เผยแพร่: 
การศึกษาวันนี้
เมื่อ: 
2008-01-14