ปลดปล่อยตนให้พ้นจากการเป็น ?ทาสอารมณ์?
อารมณ์ หมายถึง ความรู้สึกต่าง ๆ ที่โดยทั่วไปแล้วจะประกอบด้วยแรงกระตุ้นทางกายภาพและความรู้สึกนึกคิดที่มีอิทธิพลต่อพฤติกรรมของคน ๆ นั้น นักจิตวิทยาได้แบ่งอารมณ์พื้นฐานที่มีความแตกต่างกัน ออกเป็น 8 อารมณ์หลัก ๆ อันได้แก่ อารมณ์สนุกชื่นชม (Joy) อารมณ์พึงพอใจ (Acceptance) อารมณ์กลัว (Fear) อารมณ์ตกใจ แปลกใจ (Surprise) อารมณ์เศร้า (Sadness) อารมณ์รังเกียจ (Disgust) อารมณ์โกรธ (Anger) อารมณ์คาดหวัง (Anticipation)
อันที่จริง ยังอาจมีอารมณ์ลักษณะอื่นนอกจากที่กล่าวมาแล้วอีก แต่ประเด็นสำคัญคือ อารมณ์ต่าง ๆ สามารถส่งแรงกระตุ้นได้ทั้งเชิงบวกและเชิงลบต่อการดำเนินชีวิต โดยในขณะอารมณ์ดี เช่น อยู่ในภาวะที่ประสบความสำเร็จ เรามีความสุข จิตใจย่อมปลอดโปร่งแจ่มใสสามารถใช้เหตุผลในการพิจารณาเรื่องต่าง ๆ ได้เป็นอย่างดี ในทางตรงกันข้ามหากเราอยู่ในอารมณ์เชิงลบ เช่น เมื่อตกอยู่ในอารมณ์โกรธอย่างรุนแรง ความโกรธจะปิดกั้นการคิดเชิงเหตุผล ส่งผลให้การพิจารณาหรือตัดสินใจเรื่องต่าง ๆ ขาดความรอบคอบเท่าที่ควร
คนที่ตกเป็น ldquo;ทาสอารมณ์เชิงลบrdquo; เช่น อารมณ์โกรธ อารมณ์กลัว อารมณ์เศร้า มีโอกาสที่จะนำชีวิตของตนเองและผู้อื่นไปสู่ปัญหา เนื่องจากอารมณ์เชิงลบมักจะกระตุ้นให้เราตอบสนองตามความต้องการของมัน โดยไม่ใส่ใจเหตุผลตามความจริงที่ควรจะเป็น
การปลดปล่อยตนเองให้พ้นจากการเป็น ldquo;ทาสอารมณ์rdquo; มาสู่การเป็น ldquo;เจ้านายเหนืออารมณ์rdquo; จึงเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับคนทุกคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่ปรารถนาความสำเร็จในชีวิต
การเปลี่ยนสถานะสู่ความเป็น ldquo;นายเหนืออารมณ์rdquo; สามารถกระทำได้ไม่ยากนัก โดยอาจเริ่มจาก
การมีกรอบโลกทัศน์ชีวทัศน์ที่ถูกต้อง กรอบโลกทัศน์ชีวทัศน์หรือปรัชญาการมองโลกของเราต่อเรื่องต่าง ๆ มีส่วนสำคัญในการกำหนดมุมมองต่อสิ่งต่าง ๆ ในชีวิตของเราแต่ละคนให้แตกต่างกันออกไป ทั้งนี้ขึ้นกับสิ่งที่มีอิทธิพลต่อการก่อรูปโลกทัศน์เกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว อาทิ ประสบการณ์ คำสอน ค่านิยม วัฒนธรรม ครอบครัว ฯลฯ โดยคนที่ตกเป็นทาสของอารมณ์ มักเป็นคนที่มีโลกทัศน์เกี่ยวกับเรื่องนั้นไม่ถูกต้อง ตัวอย่างเช่น หากเรามีโลกทัศน์ในการทำงานว่าเวลาทำงาน คือ เวลาที่กำหนดไว้เท่านั้น เวลาที่เหลือคือเวลาส่วนตัว หรือ งานคืองาน งานไม่ใช่ตัวเราแล้ว พฤติกรรมที่แสดงออกมาอาจเต็มไปด้วยความหงุดหงิด ไม่พอใจ และบ่นอยู่เสมอหากหัวหน้าบอกให้เราทำงานล่วงเวลา หรือทำงานในวันหยุดบางครั้ง การที่เรามีอารมณ์เช่นนี้หลายครั้งส่งผลต่อพฤติกรรมการทำงานของเรา อาทิ เริ่มอู้งานบ้าง พูดปดว่าไม่ว่างบ้าง หรืออาจมีเรื่องกับหัวหน้างานเนื่องจากหงุดหงิดเต็มประดา โดยการตอบสนองเช่นนี้ย่อมส่งผลเสียต่ออนาคตการทำงานทั้งของเราและต่อองค์กร ดังนั้นการปลดปล่อยตนให้พ้นจากการเป็นทาสของอารมณ์จึงต้องเริ่มจากการปรับโลกทัศน์ของเรา ด้วยการตั้งคำถามต่อตัวเองว่าเพราะเหตุใดเราจึงเกิดอารมณ์เช่นนี้และจะควบคุมมันได้อย่างไรโดยคิดถึงผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้นตามมา และตั้งเป้าหมายที่จะเอาชนะอารมณ์ที่ส่งผลเสียต่อตนเองให้ได้
จับจ้องมองเป้าหมายการมีเป้าหมายที่ชัดเจนจะช่วยให้ไม่ถูกกำหนดโดยสถานการณ์รอบข้าง ไม่ปล่อยตัวเองไปตามอารมณ์ความรู้สึก ทำให้เราคิดยาวไม่คิดสั้น เมื่อมีเป้าหมายชัดจะช่วยให้เราประเมินคุณค่าความสำคัญของสิ่งต่าง ๆ ที่เราทำได้ ทำให้เราเห็นว่าสิ่งใดมีคุณค่า เมื่อเกิดอารมณ์ย่อมประเมินได้ว่า หากตกเป็นทาสของอารมณ์นั้นแล้วจะทำให้พลาดเป้าหมายหรือไม่
ชะลอการตัดสินใจ การตกเป็นทาสอารมณ์อาจส่งผลให้เราตัดสินใจไม่รอบคอบเท่าที่ควร ดังนั้น เราจึงควรฝึกชะลอการตัดสินใจโดยคาดการณ์ผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้นหากเราตัดสินใจไปตามอารมณ์
มีมุมมองเชิงบวกการพยายามคิดในมุมบวกอยู่เสมอ จะช่วยให้เราไม่ท้อถอยใจอะไรง่าย ๆ แม้ในยามที่ประสบอารมณ์เชิงลบต่าง ๆ อาทิ อารมณ์เศร้า เหงา กลัว ผิดหวัง ตัวอย่างเช่น เมื่อมีปัญหากับเพื่อนร่วมงาน เมื่อถูกเจ้านายต่อว่าในเรื่องการทำงาน ทั้ง ๆ ที่ได้ทำอย่างสุดความสามารถแล้วก็ตาม ในกรณีเช่นนี้เราต้องเรียนรู้ที่จะให้กำลังใจตนเองด้วยการมีความคิดแง่บวก เช่น มองว่าอุปสรรคที่เกิดขึ้นนั้นทำให้เรามีประสบการณ์มากขึ้นและ เป็นสิ่งที่ท้าทายความสามารถของเราในการเรียนรู้จักวิธีการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น อันนำมาซึ่งผลดีต่อการพัฒนาตนเองในทักษะด้านต่าง ๆ ต่อไปในอนาคต
รู้เท่าทันอารมณ์ของตนเองโดยการประเมินสภาพทางอารมณ์ของตนว่ามีจุดอ่อนหรือจุดแข็งในด้านใด เช่น เราเป็นคนอ่อนไหว โกรธง่าย เศร้าโศกเสียใจได้โดยง่ายหรือไม่ เมื่อทราบแล้ว เราควรเพิ่มความระมัดระวังมากยิ่งขึ้นในสภาพการณ์ที่เสี่ยงต่อการกระตุ้นอารมณ์ที่เป็นจุดอ่อนของเรา ทั้งนี้อาจโดยการขอความช่วยเหลือจากครอบครัวหรือเพื่อนสนิทให้มีส่วนในการประเมินสภาพทางอารมณ์ของเราว่าเป็นแบบใด รวมทั้งอาจให้ช่วยเตือนสติทุกครั้งในยามที่เราตกอยู่ภายใต้สภาวะอารมณ์ดังกล่าว เป็นต้น
ให้กำลังใจตนเองในการเปลี่ยนแปลง เรียนรู้ที่จะให้กำลังใจตนเองว่าเราสามารถปลดปล่อยตนเองจากการเป็นทาสอารมณ์เชิงลบ รวมทั้งสามารถพัฒนาวุฒิภาวะทางอารมณ์ของเราให้ดีขึ้นได้อย่างแน่นอน เพื่อช่วยให้เราไม่ถอดใจหมดความพยายามที่จะเปลี่ยนแปลงตนเองโดยง่ายเมื่อมีอุปสรรคปัญหาเกิดขึ้น เราสามารถให้กำลังใจตนเองได้โดยการเขียนบันทึกประจำวันถึงเหตุการณ์ต่าง ๆ ในอดีตที่เราสามารถเอาชนะตนเองไม่ตกเป็นทาสของอารมณ์ได้ เพื่อนำมาอ่านทบทวนให้กำลังใจตนเองในยามที่มีปัญหาเกิดขึ้น เป็นต้น
ทำสิ่งสร้างสรรค์เพื่อผ่อนคลายอารมณ์ ความเครียดนับเป็นตัวบั่นทอนพลังกายและพลังใจในการหลุดพ้นจากการเป็นทาสของอารมณ์ การรู้จักจัดการกับความเครียดจึงเป็นสิ่งสำคัญเพราะเมื่อไม่มีความเครียดแล้วเราย่อมคิดหาทางในการแก้ไขปัญหาได้อย่างสร้างสรรค์ต่อไปโดยเลือกวิธีการคลายเครียดและผ่อนคลายอารมณ์ที่เหมาะสมกับตนเอง เช่น เล่นดนตรี กีฬา อ่านหนังสือที่ชอบ เดินทางท่องเที่ยว ฯลฯรวมทั้งควรออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ พักผ่อนให้เพียงพอ เพื่อให้ร่างกายแข็งแรงไม่เจ็บไข้ได้ป่วย ส่งผลให้จิตใจแจ่มใสเบิกบานอยู่เสมอ
นักจิตวิทยาได้กำหนดหน้าที่ของอารมณ์ไว้ประการหนึ่งว่า อารมณ์จะเตรียมเราก่อนที่เราจะลงมือทำสิ่งใด การตกเป็นทาสของอารมณ์จึงเป็นอุปสรรคสำคัญที่ขัดขวางเราในการทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดให้ประสบความสำเร็จ การปลดปล่อยตนเองให้พ้นจากการเป็นทาสอารมณ์มาสู่การเป็นเจ้านายเหนืออารมณ์จึงเป็นสิ่งสำคัญที่เราควรตระหนักอย่างเร่งด่วน
เผยแพร่:
งานอัพเกรด
เมื่อ:
2007-07-12