การนำเข้าแรงงานฝีมือ: ปัจจัยสำคัญต่อการพัฒนาประเทศไทย
เศรษฐกิจไทยในระยะที่ผ่านมาต้องประสบกับอุปสรรคหลายประการ เช่น ปัญหาการเมืองที่ทำให้ผู้บริโภคและนักลงทุนขาดความเชื่อมั่น และทำให้การบริโภคและการลงทุนชะลอตัว ตลอดจนค่าเงินบาทแข็ง ปัญหาซับไพร์ม และราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าสำคัญของไทย ทำให้การส่งออกของไทยมีแนวโน้มขยายตัวลดลงในปีหน้า ปัญหาเหล่านี้ได้มีการกล่าวถึงและหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้องพยายามอย่างมากในการแก้ไขในช่วงเวลาที่ผ่านมา
อย่างไรก็ตาม นอกเหนือจากปัญหาระยะสั้นดังกล่าวแล้ว ประเด็นสำคัญประการหนึ่งที่กำลังเป็นปัญหาอยู่ในปัจจุบัน และจะกลายเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการพัฒนาประเทศในอนาคต ซึ่งรัฐบาลไทยและคนไทยจะต้องคิดแก้ไขอย่างจริงจัง คือ ปัญหาการขาดแคลนแรงงานฝีมือ
ข้อมูลจากสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยได้ประเมินสถานการณ์แรงงาน ใน 35 กลุ่มอุตสาหกรรม พบว่าอุตสาหกรรมทุกสาขาขาดแคลนแรงงานฝีมือรวมกันประมาณ 1 แสนคน โดยเฉพาะแรงงานที่มีวุฒิการศึกษาระดับ ปวช. และ ปวส. ขาดแคลนมากที่สุด รวมทั้งแรงงานที่มีทักษะสูง เช่น ช่างเทคนิค (ไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องกล เครื่องยนต์) วิศวกร พนักงานขาย บัญชี การบุคคล การตลาด การจัดซื้อ และผู้จัดการสาขาต่างๆ เป็นต้น
นอกจากปริมาณแรงงานฝีมือจะขาดแคลนแล้ว แรงงานฝีมือที่มีอยู่ยังมีปัญหาด้านคุณภาพด้วย เช่น วิศวกรที่มีอยู่จำนวนหนึ่งมีความสามารถไม่ตรงกับงานที่ทำ จึงต้องให้ไปฝึกอบรมใหม่ก่อนทำงานได้จริง หรือแม้แต่ช่างเทคนิคหรือพนักงานสายการผลิตที่มีการหมุนเวียนของแรงงานมาก เนื่องจากบริษัทมีการแข่งขันกันดึงตัวด้วยการให้ค่าจ้างที่สูงกว่า ด้วยเหตุที่แต่ละบริษัทไม่ต้องการรับภาระต้นทุนในการฝึกอบรมแรงงาน เพราะมีความเสี่ยงที่แรงงานจะย้ายงานได้ตลอดเวลา
ปัจจุบันภาครัฐเริ่มตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาดังกล่าว กระทรวงอุตสาหกรรมจึงร่วมกับกรมอาชีวศึกษา กระทรวงแรงงาน และสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) พยายามจัดทำแผนระยะ 5 ปี ในการแก้ปัญหาแรงงานขาดแคลน โดยเฉพาะการทำให้ความต้องการแรงงานกับการผลิตแรงงานและบุคลากรออกสู่ตลาดแรงงานมีความสมดุลกัน
กระบวนการยกระดับฝีมือแรงงานและการสร้างแรงงานฝีมือตามแผนนั้น อาจต้องอาศัยระยะเวลาค่อนข้างมาก ซึ่งส่งผลให้ในระยะสั้น ประเทศไทยอาจยังมีปัญหาขาดแคลนแรงงานอยู่ต่อไป และทำให้มีข้อจำกัดในการพัฒนาความสามารถในการแข่งขัน ในขณะนี้ประเทศต้องการการลงทุนเข้ามาเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจที่ต้องเสียโอกาสไปในช่วงที่ผ่านมา แต่หากประเทศยังคงขาดแคลนแรงงานฝีมือ จะทำให้นักลงทุนขาดแรงจูงใจในการเข้ามาลงทุน ทุนใหม่ไม่กล้าเข้ามา ขณะที่นักลงทุนเดิมที่มีอยู่ไม่สามารถขยายการลงทุนได้และเริ่มเกิดความกังวลว่าระบบการผลิตจะสะดุด ด้วยเหตุนี้มาตรการระยะสั้นเพื่อการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงานฝีมือจึงเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ
ผมจึงขอเสนอแนวทางหนึ่งในการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงานฝีมือในระยะสั้น คือ การนำเข้าแรงงานฝีมือจากต่างประเทศ
วิธีการนี้ไม่ก่อให้เกิดผลเสียเหมือนการเปิดรับแรงงานต่างด้าวที่เป็นแรงงานไร้ฝีมือ เนื่องจากแรงงานมีฝีมือจากต่างประเทศนี้ไม่ได้เข้ามาแย่งงานคนไทยทำ เพราะเป็นการนำเข้าแรงงานเฉพาะในส่วนที่ประเทศขาดแคลน ซึ่งจะเป็นผลดีต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวม อีกทั้งไม่ก่อให้เกิดปัญหาด้านความมั่นคงและความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินเหมือนแรงงานต่างด้าวไร้ฝีมือ เนื่องจากแรงงานเหล่านี้มีรายได้สูงและคุณภาพชีวิตที่ดีกว่าแรงงานต่างด้าวไร้ฝีมือ ยิ่งไปกว่านั้นยังไม่เป็นภาระต่องบประมาณทางด้านสังคม เช่น การดูแลรักษาพยาบาล เนื่องจากแรงงานกลุ่มนี้มีศักยภาพในการจ่ายเพื่อให้ได้รับการบริการที่มีคุณภาพด้วยตนเอง
การดึงดูดแรงงานฝีมือจากต่างประเทศอาจทำได้โดย การที่ภาครัฐจัดสรรสิทธิประโยชน์กับแรงงานที่จะเข้ามาทำงานในประเทศ นอกเหนือจากผลตอบแทนที่แรงงานได้รับจากนายจ้าง เช่น การให้สิทธิการอยู่อาศัยถาวรหรือในบางกรณี อาจให้สัญชาติไทย หรือการยกเว้นภาษีเงินได้ในช่วงระยะเวลาหนึ่ง คล้ายกับการส่งเสริมการลงทุนโดยคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) เป็นต้น
นอกจากนี้รัฐบาลอาจจัดโปรแกรมพิเศษสำหรับการนำเข้าแรงงานฝีมือจากต่างประเทศ ดังตัวอย่างของโครงการนำเข้าแรงงานต่างประเทศแบบชั่วคราว (Temporary Foreign Worker program)[1] ของประเทศแคนาดา ที่จัดทำขึ้นเพื่อให้กระบวนการและการพิจารณาการเข้าประเทศของแรงงานจากต่างประเทศ ในกลุ่มที่ขาดแคลนมาก 12 สาขาอาชีพ เป็นไปอย่างรวดเร็ว (Fast-track) หรือกรณีการจัดทำบัญชีอาชีพที่ขาดแคลนของประเทศออสเตรเลีย (Migration Occupations in Demand List: MODL)[2] ซึ่งคนต่างชาติที่จะเข้ามาทำอาชีพตามบัญชีอาชีพที่ขาดแคลน จะได้รับพิจารณาการให้วีซ่าก่อนคนต่างชาติที่มีอาชีพอยู่นอกบัญชี ทั้งนี้บัญชีอาชีพดังกล่าวจะมีการทบทวนปีละ 2 ครั้ง เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์แรงงานภายในประเทศ หากสถานการณ์ในตลาดแรงงานเปลี่ยนไป บัญชีอาชีพนี้จะเปลี่ยนแปลงไปด้วย
การนำเข้าแรงงานมีฝีมือจากต่างประเทศอาจช่วยบรรเทาปัญหาขาดแคลนแรงงานลงได้บ้างในระยะสั้น อย่างไรก็ตามปัญหาการขาดแคลนแรงงานฝีมือเริ่มเป็นปัญหาในระดับนานาชาติแล้ว ไม่ใช่เฉพาะประเทศไทยเท่านั้นที่ประสบปัญหานี้ ประเทศอื่น ๆ เช่น สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และหลายประเทศในสหภาพยุโรปต่างประสบปัญหานี้ และหลายประเทศต่างใช้วิธีการเดียวกัน คือ การแข่งขันกันให้สิทธิประโยชน์เพื่อดึงดูดแรงงานฝีมือจากต่างประเทศเข้ามาทำงานในสาขาที่ประเทศของตนขาดแคลน แต่ด้วยเหตุที่แรงงานมีฝีมือในโลกนี้มีอยู่จำกัด การดึงดูดแรงงานฝีมือจากต่างประเทศ โดยแข่งขันกับประเทศอื่นในโลก จึงเป็นมาตรการที่ไม่สามารถทำได้ตลอดไป
วิธีการที่ดีที่สุดที่จะแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงานฝีมือ คือ การให้ความสำคัญและลงทุนอย่างจริงจังในด้านการศึกษา โดยพัฒนาหลักสูตรให้นักศึกษาสามารถนำความรู้ที่เรียนมาใช้ได้จริงในภาคปฏิบัติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการศึกษาสายอาชีพที่จะต้องผลิตแรงงานระดับ ปวช.และ ปวส.ออกมาสู่ตลาดแรงงานมากขึ้น และรวมทั้งต้องให้ความสำคัญกับการฝึกอบรมแรงงาน เพื่อสร้างแรงงานไทยให้มีคุณภาพ และมีปริมาณเพียงพอต่อความต้องการของภาคการผลิตในอนาคต แม้ว่าอาจจะต้องอาศัยระยะเวลามาก แต่หากมีการวางแผนและดำเนินการอย่างจริงจังตั้งแต่วันนี้ ยังถือว่าไม่สายเกินไป
[1] Richard Gilbert.ldquo;Skilled Labour Federal governmentrsquo;s solution to skilled labour shortage should encompass more trades: officialrdquo; Oct. 29, 2007.lt; http://www.joconl.com/article/id24868gt; Access: 05 Nov 2007.
[2] Australia. lt;ww.workpermit.comgt; Access: 05 Nov 2007.
เผยแพร่:
หนังสือพิมพ์เม็งราย
เมื่อ:
2008-01-01