บริหารเป็นเลิศสู่มหาวิทยาลัยระดับโลก

สิ่งที่สร้างความตื่นเต้นให้ประชาคมมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดในช่วงเดือนกรกฎาคมนี้คงไม่พ้น การต้อนรับอธิการบดีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์ ดรูว์ กิลพิน เฟาสต์ (Drew Gilpin Faust) ที่จะเข้ามาปฏิบัติหน้าที่ในฐานะอธิการบดีคนที่ 28 นับเป็นประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของมหาวิทยาลัยแห่งนี้นับตั้งแต่การก่อตั้งเมื่อ 371 ปีก่อน

การเข้ารับตำแหน่ง ldquo;อธิการบดีrdquo; นี้ เป็นงานท้าทายความสามารถของผู้มารับหน้าที่ในทุกยุคทุกสมัย เนื่องด้วยต้องปฏิบัติภารกิจเพื่อรักษาชื่อเสียงของมหาวิทยาลัยในฐานะผู้นำด้านวิชาการ และแหล่งผลิต พัฒนาบุคลากรชั้นยอดในทุกสาขาอาชีพต้องระดมเงินสนับสนุนมหาวิทยาลัยมูลค่ามหาศาล รวมถึงการจัดสรรทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาให้ยังคงเป็นมหาวิทยาลัยอันดับหนึ่งของโลก

ทั้งนี้การบริหารมหาวิทยาลัยท่ามกลางกระแสความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ดังที่อดีตอธิการบดี ดิเรค บ็อค (Derek Bok) เรียกว่า ldquo;wrap speedrdquo; ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่มหาวิทยาลัยต้องปรับตัวให้เป็นผู้นำในการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น รู้เท่าทันกระแสความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในสังคมโลก และการก้าวนำไปในเชิงรุกเพื่อคงเป็นมหาวิทยาลัยอันดับหนึ่ง นั่นหมายความว่าต้องอาศัยความสามารถของอธิการบดี รวมถึงองค์ประกอบอื่นเข้ามาช่วยสนับสนุนให้เกิดการขับเคลื่อนมหาวิทยาลัยก้าวไปข้างหน้า

จากการที่ได้ศึกษาประวัติศาสตร์ และแนวทางในการพัฒนาบริหารมหาวิทยาลัยในช่วงเวลาที่ผ่านมา พอจะวิเคราะห์องค์ประกอบที่สนับสนุนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในมหาวิทยาลัยแห่งนี้ ดังนี้
วิสัยทัศน์ผู้บริหาร จุดเปลี่ยนสู่มหาวิทยาลัยอันดับหนึ่ง

ปรับเปลี่ยนตัวเองเพื่อสร้างโอกาส
การปรับเปลี่ยนรูปโฉมของมหาวิทยาลัยจากวิทยาลัยที่ผลิตคนเพื่อทำงานรับใช้ศาสนา มาเป็นการเรียนการสอนที่สร้างคน เพื่อให้คนไปสร้างชาติ เริ่มต้นในสมัยของอธิการบดี ชาร์ล อีเลียต (Charles W.Eliot) ที่เห็นว่า โลกกำลังก้าวหน้ามากขึ้น วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเข้ามามีอิทธิพลต่อสังคม ดังนั้นการจัดการศึกษาจึงควรเปิดโอกาสให้นักศึกษาสามารถเข้าถึงการเรียนรู้ใหม่ ๆ และสามารถพัฒนาทักษะและความเชี่ยวชาญให้แก่ตนเองมากขึ้น อีเลียตได้กลายเป็นผู้วางรากฐานของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ให้เป็นมหาวิทยาลัยที่เน้นการวิจัยที่ทันสมัย การเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ได้ส่งอิทธิพลต่อมหาวิทยาลัยในสหรัฐอเมริกาจำนวนไม่น้อย รวมถึงการสนับสนุนนักศึกษาผ่านกองทุน Financial Aid ทำให้จำนวนนักศึกษาเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

กำหนดนโยบายเชิงรุก
ผู้บริหารในสมัยต่อ ๆ มาได้ปรับปรุงแนวทางการบริหาร นโยบายการรับนักศึกษาที่เปิดกว้างมากขึ้น รวมถึงการจูงใจให้คนเก่งไหลเข้าสู่ระบบการศึกษา สามารถคัดกรองผู้ที่มีความรู้ ความสามารถจากทั่วโลกเข้าสู่มหาวิทยาลัย และสร้างชื่อเสียงแก่มหาวิทยาลัยในเวลาต่อมา ไม่ว่าจะเป็น การก่อตั้งโครงการทุนศึกษานานาชาติในปี 1934 โดยอธิการบดีเจมส์ ไบรอัน โคเน็ตท์ (James Bryant Conant)สามารถดึงดูดนักเรียนที่มีคุณภาพทั่วอเมริกา นโยบาย need-blind admissions ของอธิการบดีดิเรค บ็อค ที่เปิดโอกาสให้นักเรียนที่มีความสามารถทั่วโลกจากหลายเชื้อชาติและฐานะทางเศรษฐกิจเข้าศึกษาต่อ

ยึดผลประโยชน์มหาวิทยาลัยเป็นหลัก
สิ่งสำคัญในการบริหารมหาวิทยาลัยนี้คือ ผู้บริหารแต่ละคนต่างยึดผลประโยชน์ของส่วนรวมเป็นหลัก หากนโยบายจากผู้บริหารชุดเดิมมีผลต่อการพัฒนาคุณภาพการศึกษามากขึ้น ผู้บริหารชุดถัดไปจะแสดงจุดยืนในการสานต่อนโยบายนั้น ดังที่ ดิเรค บ็อคได้กล่าวในช่วงที่เข้ามารับตำแหน่งอธิการบดีชั่วคราวแทน ลอเรนซ์ ซัมเมอร์ที่ลาออกไป เขายืนยันในการรักษานโยบายการสร้างความร่วมมือระหว่างคณะ และระหว่างมหาวิทยาลัยไว้ โดยเห็นว่า นโยบายดังกล่าวมีความหมายต่อการพัฒนางานวิจัยและการศึกษา โดยไม่ขึ้นอยู่กับว่า ใครเป็นผู้บริหาร หากแต่สิ่งเหล่านั้นล้วนมีประโยชน์ในการใช้คนที่เก่งที่สุด สร้างผลงานที่ดีที่สุดให้เกิดขึ้นต่อไป

การเข้ามาเป็นผู้บริหารจึงไม่ได้เป็นเพียงการเข้ามาสู่บทบาทหน้าที่ที่สูงขึ้น ผู้บริหารต้องเป็นผู้นำที่มีวิสัยทัศน์ และสื่อสารวิสัยทัศน์แก่ผู้อยู่ภายใต้ให้เข้าใจเป้าหมาย และลำดับความสำคัญของแต่ละกิจกรรมที่มหาวิทยาลัยดำเนินการ เพื่อให้ทุกคนเข้าใจตรงกัน ลดความผิดพลาดให้น้อยที่สุด รวมถึงลดความสับสนในบทบาทหน้าที่ที่ตนรับผิดชอบอยู่ รวมถึงส่งผ่านเป้าหมายนั้นไปสู่ผู้ที่เข้ามาใหม่ได้

ระบบบริหารที่มีประสิทธิภาพ ขับเคลื่อนคุณภาพทางวิชาการ

บริหารแบบกระจายอำนาจ
รูปแบบการบริหารที่เป็นหัวใจหลักที่ทำให้ฮาร์วาร์ดพัฒนาตนเองจนกลายเป็นที่หนึ่งคือ การบริหารแบบไม่รวมศูนย์หรือแบบกระจายอำนาจ ซึ่งเป็นที่รู้จักกันในวลี "every tub on its own bottom" คือการให้แต่ละหน่วย สามารถบริหารจัดการเบ็ดเสร็จในตัวเอง ทั้งด้านการจัดองค์กร การบริหารจัดการ การรับสมัครบุคลากร งบประมาณ ฯลฯ โดยมีผู้ดูแลสูงสุดคือคณบดี

การยึดหลักการบริหารที่มีความยืดหยุ่นและให้อำนาจการตัดสินใจให้แต่ละหน่วยงานนี้ ส่งผลให้แต่ละคณะ สาขาวิชา สามารถพัฒนาองค์ความรู้ของตนเองอย่างอิสระ และปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์การจัดหลักสูตร การเรียนการสอนให้เป็นสหวิทยาการมากขึ้น เพื่อสร้างโอกาสใหม่ ๆ เช่น วิทยาลัยธุรกิจ (Bussiness School) ที่ถือได้ว่าเป็นผู้นำด้านการจัดหลักสูตรการเรียนการสอนด้านธุรกิจของโลก ได้ริเริ่มการเรียนการสอนแบบใหม่ เช่น หลักสูตรผู้ประกอบการ (entrepreneurship) การร่วมมือกับผู้ประกอบจัดตั้งศูนย์อบรมผู้บริหาร และจัดทำกรณีศึกษาของแต่ละหน่วยงานที่น่าสนใจ จนเป็นเจ้าของกรณีศึกษากว่า 7,000 ตัวอย่าง เป็นต้น

สิ่งสำคัญประการหนึ่งคือ แม้ระบบบริหารจะให้อิสระแก่ผู้บริหาร หากแต่ผู้นำเหล่านั้นต้องรับผิดชอบต่อประชาคมอยู่เสมอ เช่น การจัดทำรายงานผลงานประจำปีของอธิการบดี คณะผู้บริหาร เผยแพร่แก่ประชาคมในรูปแบบของสื่อสิ่งพิมพ์และทางเว็บไซต์ การเปิดโอกาสให้คณาจารย์และคณะกรรมการบริหารเสนอญัตติและลงมติไม่ไว้วางใจผู้บริหารได้

บริหารทรัพย์สินให้งอกเงยและเกิดผลสูงสุด
นอกเหนือจากการวางรากฐานการบริหารจัดการที่ดีเลิศ ยังมีกลไกการบริหารสินทรัพย์ของมหาวิทยาลัย ซึ่งยึดแนวคิดการบริหารจัดการทรัพย์สินที่มีอยู่ให้เกิดผลสูงสุด คือจัดตั้งองค์กรบริหารเฉพาะกิจขึ้นมาเรียกว่า บริษัทบริหารจัดการมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด (HMC) ที่เข้ามาบริหารทรัพย์สินที่มีอยู่ให้งอกเงยมากขึ้นผ่านการซื้อหุ้น ตราสารหนี้ทั้งในและต่างประเทศ การลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ ฯลฯ

จุดแข็งในเรื่องของเงินสะสมที่มากถึง 29,200 ล้านเหรียญสหรัฐ มาจากการที่มหาวิทยาลัยรณรงค์หาเงินตลอดเวลา โดยอธิการบดีและทีมงานจะช่วยกันหาเงินบริจาคจากทั่วอเมริกา และนำเงินเหล่านั้นมาดำเนินกิจกรรมใน 3 กลุ่มใหญ่คือ กองทุนพัฒนา (Endowment Fund) การบริจาคเพื่อลงทุนด้านการก่อสร้าง (Capital Fund) และ ทุนดำเนินการประจำปี (Annual Fund) ซึ่งเป็นพื้นฐานในการพัฒนาเพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาจนเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำระดับโลก

สะท้อนสู่มหาวิทยาลัยไทย ผมเห็นว่าการจัดการศึกษา ให้มีคุณภาพมากขึ้นนั้น ควรเริ่มต้นจากผู้บริหารมหาวิทยาลัยของไทย ที่ไม่เพียงมีวิสัยทัศน์ผลักดันให้มหาวิทยาลัยไทยเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำระดับโลก (World-Class University) เท่านั้น หากแต่ต้องหากลยุทธ์ที่จะไปให้ถึงวิสัยทัศน์ ทั้งนี้เพราะแต่ละมหาวิทยาลัยมีทรัพยากรจำกัด ดังนั้น จึงจำเป็นต้องกำหนดทิศทางที่ชัดเจน เช่น อาจเริ่มต้นจากการแสวงหาเอกลักษณ์ที่เป็นจุดเด่นของมหาวิทยาลัย หรือการพัฒนาไปสู่การเป็น มหาวิทยาลัยเฉพาะทาง ซึ่งผมเคยนำเสนอแนวคิดนี้ในการบรรยายต่าง ๆ ตั้งแต่ปี พ.ศ.2547 และได้นำเสนอแนวคิดนี้ในการอภิปรายเพื่อรับหลักการร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยรามคำแหง พ.ศ. ....จากการประชุมรัฐสภาฯ สมัยสามัญทั่วไป ครั้งที่ 6 เมื่อวันที่ 27 เมษายน 2548 ล่าสุดเมื่อปี 2549 ผมได้ทำวิจัยที่เกี่ยวข้องคือเรื่อง ldquo;Will specialized universities improve the quality of higher education in Thailand?rdquo; ที่พบว่า มหาวิทยาลัยเฉพาะทางจะสนับสนุนการพัฒนาคุณภาพการศึกษา ในด้านการยกระดับคุณภาพบัณฑิต และเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของมหาวิทยาลัย

นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยจะไปถึงซึ่งความเป็นเลิศได้นั้น จำเป็นต้องมีวิสัยทัศน์ในเรื่องความมั่นคงทางการเงินที่มากเพียงพอ โดยมีกลยุทธ์ในการระดมทุนให้เพียงพอในการจ้างคณาจารย์ที่เชี่ยวชาญ และการบริหารจัดการด้านต่าง ๆ เพื่อพัฒนาคุณภาพมหาวิทยาลัยให้โดดเด่น

ประการสำคัญต่อมาคือ ผู้บริหารแต่ละชุดควรมีระบบส่งต่อองค์ความรู้ด้านบริหารจัดการ แนวทางปรับปรุงหลักสูตรการเรียนการสอนแก่ผู้บริหารรุ่นต่อไป โดยมีการดำเนินการอย่างเป็นกระบวนการและเป็นระบบ เพื่อให้เกิดความต่อเนื่องในการบริหารจัดการ โดยให้ผู้บริหารชุดต่อไปสามารถต่อยอดการทำงานและพัฒนาคุณภาพการจัดการบริการของมหาวิทยาลัย ให้สามารถแข่งขันได้ในระดับเวทีโลก

การสร้างมหาวิทยาลัยสู่ความเป็นเลิศนั้น แม้ว่าจะเป็นเรื่องที่ไม่ง่ายนัก เพราะมีองค์ประกอบหลายด้าน ทั้งด้านการเงิน การบริหารจัดการ บุคลากร ฯลฯ อย่างไรก็ตาม เราจำเป็นต้องพัฒนามหาวิทยาลัยของไทยให้มีคุณภาพ เพื่อเป็นฐานที่มั่นที่แข็งแกร่งนำพาประเทศไทยพัฒนารุดหน้าต่อไป
admin
เผยแพร่: 
สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์
เมื่อ: 
2007-07-13