พลังประชาชนนั่งแท่นรัฐบาล ความเชื่อมั่นจะกลับมาหรือไม่?


เสร็จสิ้นไปแล้วสำหรับการเลือกตั้งในวันที่ 23 ธันวาคม ซึ่งเป็นวันสำคัญที่ชี้ทิศทางและอนาคตของการเมืองไทยว่าจะเป็นอย่างไรต่อไป แม้ว่าผลคะแนนที่ประกาศออกมาในขณะนี้จะยังไม่เป็นทางการ และคณะกรรมการการเลือกตั้งยังไม่ได้ให้ใบเหลืองและใบแดง แต่คะแนนที่มีการรายงานออกมาพอจะบอกให้ทราบได้ว่า ผลการเลือกตั้งเป็นไปตามโพลล์ที่รายงานออกมาในช่วงก่อนหน้านี้ ซึ่งทำนายว่าพรรคพลังประชาชนจะได้เสียงข้างมาก และตามมาด้วยพรรคประชาธิปัตย์

ภายหลังการเลือกตั้ง ประเด็นที่ประชาชนให้ความสนใจกันมาก คือ การเจรจาจัดตั้งรัฐบาลว่า พรรคใดจะจับขั้วกับพรรคใด ซึ่งแนวโน้มพรรคที่จะจับขั้วเป็นรัฐบาลนั้นอาจเป็นไปได้ในหลายฉากทัศน์ แต่พรรคพลังประชาชนถือว่ามีโอกาสสูงมาก เนื่องจากเป็นพรรคที่ได้เสียงเกือบกึ่งหนึ่ง คำถามที่น่าสนใจ คือ หากพรรคพลังประชาชนซึ่งได้เสียงข้างมากสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้สำเร็จ ความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจของไทยจะกลับมาหรือไม่? เพราะเหตุใด?
ทั้งนี้หากวิเคราะห์จากปัจจัยต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง พบว่า

จำนวน ส.ส.ในรัฐบาล

หากพรรคพลังประชาชนได้จัดตั้งรัฐบาลน่าจะได้รัฐบาลที่ค่อนข้างมีเสถียรภาพเพราะมีโอกาสจัดตั้งรัฐบาลที่มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) เป็นจำนวนมาก และมีพรรคร่วมรัฐบาลจำนวนน้อยพรรค

ในทางตรงข้ามหากพรรคประชาธิปัตย์มีโอกาสจัดตั้งรัฐบาล จะเป็นรัฐบาลที่เสี่ยงต่อการขาดเสถียรภาพมาก เนื่องจากต้องดึงพรรคขนาดกลางและเล็กทั้งหมดถึง 5 พรรคมาเข้าร่วมรัฐบาล แต่จำนวน ส.ส.ในฝั่งรัฐบาลกลับมีจำนวนเกินกึ่งหนึ่งไม่มากนัก

ดังนั้นหากพิจารณาเสถียรภาพของรัฐบาลในแง่จำนวน ส.ส. รัฐบาลที่มีพรรคพลังประชาชนเป็นแกนนำย่อมส่งผลดีต่อความเชื่อมั่นของประชาชน และนักลงทุนในประเทศและต่างประเทศมากกว่า

การยอมรับจากชนชั้นกลาง

หากพรรคพลังประชาชนสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้สำเร็จ แนวโน้มบ้านเมืองอาจจะยังไม่สงบลงง่าย ๆ เนื่องจากหากรัฐบาลประกาศการนิรโทษกรรมอดีตกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย 111 คน และยกเลิกการสอบสวนและดำเนินคดีทุจริตของอดีตนายกรัฐมนตรีและนักการเมืองในกลุ่มขั้วอำนาจเก่า รัฐบาลจะถูกกดดันจากม็อบของฝ่ายพันธมิตรและชนชั้นกลางที่ไม่พอใจกับแนวนโยบายดังกล่าว

ยิ่งไปกว่านั้น การที่คุณสมัคร สุนทรเวช ซึ่งมีแนวโน้มจะได้เป็นนายกรัฐมนตรี มีบุคลิกภาพและคำพูดที่ตรงไปตรงมา และแสดงจุดยืนที่ชัดเจน ทำให้เกิดความกังวลว่าจะสร้างความแตกแยกทางความคิดมากกว่าสร้างสมานฉันท์ในสังคม

นอกจากนี้ การที่พลังประชาชนเป็นรัฐบาลยังอาจทำให้เกิดกระแสความวิตกว่า สถานการณ์การเมืองหลังเลือกตั้งจะมีแรงตึงเครียดระหว่างรัฐบาลและทหาร เพราะเชื่อกันว่ากลุ่มอำนาจเก่าจะกลับมาจัดการคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) และกลุ่มคนที่สนับสนุน คมช.แม้ในความเป็นจริง อาจไม่เป็นเช่นนั้นก็ได้

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าพรรคประชาธิปัตย์สามารถเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลได้สำเร็จ บ้านเมืองอาจจะยังคงวุ่นวายในอีกรูปแบบหนึ่ง เนื่องจากมีความเป็นไปได้ที่จะถูกกดดันจากม็อบของกลุ่มประชาชนรากหญ้าเช่นเดียวกัน แต่พลังในการสั่นคลอนต่อรัฐบาลของม็อบชนบทย่อมน้อยกว่าม็อบชนชั้นกลาง

ด้วยเหตุนี้ ไม่ว่าพรรคใดมาเป็นรัฐบาล สถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองในสังคมไทย จะยังคงดำเนินอยู่ต่อไป ซึ่งจะทำให้ความเชื่อมั่นของประชาชนและนักลงทุนยังไม่ฟื้นตัวเท่าใดนัก

นโยบายเศรษฐกิจ

แม้ว่าทุกพรรคการเมืองจะมีนโยบายเศรษฐกิจที่คล้ายคลึงกัน ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนในโครงการขนาดใหญ่หรือเมกะโปรเจ็กต์ นโยบายสวัสดิการต่าง ๆ เรียนฟรี รักษาฟรี และนโยบายประชานิยมรากหญ้า เช่น กองทุนหมู่บ้าน SML เป็นต้น แต่หากพรรคพลังประชาชนเป็นรัฐบาลน่าจะมีประสิทธิภาพในการผลักดันนโยบายมากที่สุด เนื่องจากเป็นพรรคใหญ่ที่เป็นแกนนำรัฐบาลจึงมีอำนาจต่อรองสูง ทำให้ขับเคลื่อนนโยบายได้ง่ายและรวดเร็ว

อีกทั้งแนวทางการบริหารจัดการเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการมีนโยบายใช้เงินในงบประมาณและนอกงบประมาณจำนวนมากกว่าพรรคประชาธิปัตย์ เพื่ออัดฉีดเงินลงในโครงการประชานิยมทั้งที่มีอยู่แล้วและโครงการใหม่ ๆ ประกอบกับทิศทางนโยบายเศรษฐกิจแบบเสรีนิยมที่เน้นการเจรจาเปิดเสรีทางการค้า และการส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศ น่าจะทำให้เศรษฐกิจขยายตัวได้มากกว่าและเร็วกว่า ดังนั้นหากพิจารณาจากทิศทางนโยบายโดยรวมแล้ว น่าจะส่งผลดีต่อความเชื่อมั่นของประชาชนและนักลงทุนในระยะสั้น

บุคคลที่จะมาเป็นรัฐมนตรีเศรษฐกิจ

การที่พรรคพลังประชาชนเปิดตัวนายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ เป็นหัวหน้าทีมเศรษฐกิจของพรรค ได้ทำให้เกิดการยอมรับและความเชื่อมั่นในระดับหนึ่ง เนื่องจากเป็นคนที่มีผลงานที่โดดเด่นทั้งการบริหารองค์กรภาครัฐและเอกชน และมีวิสัยทัศน์ในการพัฒนาเศรษฐกิจที่น่าสนใจ ประกอบกับการเป็นนักการตลาดทำให้สามารถสื่อสารนโยบายได้อย่างน่าตื่นตาตื่นใจ

อย่างไรก็ตาม หัวหน้าทีมเศรษฐกิจพลังประชาชนทราบดีว่าตนมีจุดอ่อน คือ การขาดความเชี่ยวชาญในด้านเศรษฐกิจมหภาค ซึ่งมีความสำคัญมากสำหรับการบริหารเศรษฐกิจในภาวะที่เศรษฐกิจชะลอตัวพร้อมกับมีปัญหาเงินเฟ้อ ดังนั้นแกนนำของพรรคจึงพยายามส่งสัญญาณเพื่อสร้างความเชื่อมั่นว่า ได้จัดเตรียมคนนอกที่ทุกฝ่ายจะให้การยอมรับ เพื่อมาเป็นรัฐมนตรีเศรษฐกิจแล้ว โดยเฉพาะในการกระทรวงการคลัง จึงจำเป็นต้องติดตามต่อไปว่า ใครที่พรรคพลังประชาชนจะเลือกมาเป็นรัฐมนตรีเศรษฐกิจ และจะสร้างสร้างความมั่นใจได้หรือไม่

ด้วยปัจจัยทางการเมือง โดยเฉพาะความตึงเครียดและความเปราะบางต่อความไม่สงบเรียบร้อยในบ้านเมืองที่อาจเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ หากว่าที่หัวหน้ารัฐบาลแสดงท่าทีหรือดำเนินนโยบายที่ทำให้ชนชั้นกลางและกลุ่มทหารบางส่วนไม่พอใจ
admin
เผยแพร่: 
0
เมื่อ: 
2008-01-11