ลักษณะของ SE ที่อยู่รอดได้ ต้อง Niche และ Need

การประกอบการเพื่อสังคม หรือ Social Entrepreneur (SE) เป็นการประสานระหว่างความคล่องตัว ความมีประสิทธิภาพ และความสามารถในการสร้างนวัตกรรมแบบผู้ประกอบการ ร่วมกับความมีจิตสำนึกต่อสังคมแบบนักพัฒนาสังคมไว้ด้วยกัน และหากพิจารณาแรงจูงใจภายในของผู้ประกอบการเพื่อสังคมนั้น ไปไกลกว่าการแสวงหาความมั่งคั่งเพื่อตนเอง เพราะผู้ประกอบการเพื่อสังคมมีภารกิจและความปรารถนาที่จะเห็นสังคมถูกพัฒนาไปในทางที่ดีขึ้น
อย่างไรก็ตาม การที่ SE จะสามารถดำเนินกิจกรรมได้ในระยะยาวไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะที่ผ่านมามี SE หลายรายต้องหยุดกิจกรรม เนื่องจากประสบปัญหาด้านตลาด เงินทุนและผู้สนับสนุน

บทความนี้ จึงเป็นการนำเสนอลักษณะร่วมของ SE ที่มีส่วนในการเพิ่มโอกาสในการเรียนรู้ให้คนในสังคมในมุมมองนักเศรษฐศาสตร์ อันเป็นพื้นฐานสำคัญในการดำเนินกิจการของ SE ให้สำเร็จได้ ดังนี้

SE ควรดำเนินกิจการตามความถนัด (Niche)

คำว่า ldquo;ความถนัดrdquo; ในที่นี้หมายถึง กิจกรรมการระดมทุนให้ได้ระดับหนึ่ง ที่เพียงพอต่อการดำเนินกิจการของ SE โดยใช้เวลาน้อยที่สุดSE ที่ดีต้องทำในสิ่งที่ตนถนัดมากที่สุด เพราะจะช่วยให้เป็นการใช้ทรัพยากรเกิดมีประสิทธิภาพสูงสุด เช่น หาก SE ต้องการสร้างโรงเรียนตามอัธยาศัย เพื่อสอนภาษาอังกฤษแก่เด็กในชุมชนแออัด แต่ไม่มีความสามารถในการสอนภาษาอังกฤษ มีเพียงความสามารถทางธุรกิจ การระดมทุน และมีสายสัมพันธ์กับนักธุรกิจ ครู อาสาสมัครที่มีทักษะภาษาอังกฤษ ทางออกที่เป็นไปได้คือ SE ควรเป็นสื่อกลางในการประสานงานกับสายสัมพันธ์ให้เข้ามาสอน และขอระดมทุนจากนักธุรกิจด้วยกันมาสร้างโรงเรียนตามอัธยาศัยได้สำเร็จ

ตัวอย่าง กองทุนเวลาเพื่อสังคม (Time bank Society) ซึ่งผมเป็นผู้ก่อตั้ง มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นช่องทางให้คนที่มีความรู้ความสามารถแต่ไม่มีเวลามากนัก มีโอกาสเข้ามาช่วยเหลือคนด้อยโอกาสตามความถนัด ผมต้องการส่งเสริมการเรียนรู้ให้ผู้ด้อยโอกาสเป็นทุนเดิม แต่ไม่ถนัดดำเนินกิจกรรมด้วยตนเองทั้งหมด ผมจึงความคิดว่า ผมมีสายสัมพันธ์จำนวนมากที่อยากทำงานเพื่อสังคม แต่มีเวลาเพียงไม่กี่ชั่วโมง ผมจึงชักชวนสายสัมพันธ์ช่วยสละเวลาที่มีไม่กี่ชั่วโมงเข้าร่วมกิจกรรม และจ้างนักคอมพิวเตอร์นักพัฒนาโปรแกรม เพื่อพัฒนาทำโปรแกรมที่สามารถจับคู่ระหว่างกิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้ ที่กองทุนฯ ได้จัดขึ้น กับสายสัมพันธ์หรืออาสาสมัคร เช่น โครงการจัดทำสื่อการเรียนการสอนสำหรับเด็กในชุมชนแออัด โครงการสอนหนังสือให้เด็กในชุมชนแออัด การอ่านหนังสือลงสื่อสำหรับเด็กตาบอด เป็นต้น ทางกองทุนฯ ได้รับการตอบรับอย่างดีจากครู นักเรียน ดารานักร้อง นักแสดง คนในชุมชนต่าง ๆ ที่เข้ามาเป็นอาสาสมัคร และในอนาคตอันใกล้ จะมีกิจกรรมหลากหลายมากขึ้น เพื่อสนองตอบผู้ที่ต้องการเข้าช่วยเหลือสังคมด้านต่าง ๆ

SE ควรตอบสนองความต้องการ (Need) ที่ยังเป็นช่องโหว่ของสังคม

SE ที่ดีควรตอบสนองความต้องการและความจำเป็นด้านการเรียนรู้ของคนในสังคม โดยเฉพาะกลุ่มที่ไม่สามารถเข้าถึงการเรียนรู้ที่เอกชนและรัฐบาลจัด เพราะเอกชนและรัฐค่อนข้างอยู่ห่างจากกลุ่มเป้าหมาย จึงไม่สามารถเข้าถึงความต้องการที่แท้จริงได้ ซึ่งการที่ SE จะเข้าใจปัญหาและความต้องการของกลุ่มเป้าหมายได้นั้น ต้องเริ่มจากการเข้าไปใกล้ชิดกับกลุ่มเป้าหมาย จนกระทั่งมองเห็นปัญหาและความต้องการด้านการเรียนรู้ แล้วจึงก่อตั้งกลุ่มหรือองค์กรเพื่อช่วยเหลือ

ตัวอย่าง Homeboy Industries ก่อตั้งเมื่อปี 1998 โดยบาทหลวงเกรเกอรี่ เจ. บอยล์ (Gregory J. Boyle) เป็น SE ที่เน้นช่วยเหลือเด็กที่เสี่ยงก่ออาชญากรรม ในลอสแอนเจลิส ซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายที่หน่วยงานรัฐไม่สามารถเข้าถึง ส่งผลให้เด็กกลุ่มนี้ก่อปัญหาสังคมอย่างต่อเนื่อง แต่หลังจากผู้ก่อตั้งรู้ถึงความสามารถและความต้องการของเด็กกลุ่มนี้คือ ต้องการอาชีพและเลี้ยงตนเองได้ จึงตัดสินใจเข้าไปช่วยเหลือด้านอาชีพ โดยฝึกอบรมอาชีพต่าง ๆ ในขณะเดียวกันเด็กกลุ่มนี้สามารถมีรายได้ และส่วนหนึ่งของรายได้นำมาจัดกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบัน Homeboy Industries มีธุรกิจหลายอย่างที่เปิดโอกาสให้เด็กกลุ่มเสี่ยงเข้าเรียนรู้ เช่น ร้านขนมปัง ร้านสกรีนภาพ ร้านสเต็ก ร้านตัดเย็บเสื้อผ้า เด็ก ผู้ใหญ่ บุรุษ สตรี หมวก และการซ่อมบำรุง เป็นต้น โดยแต่ละเดือนมีเด็กกลุ่มเสี่ยงได้รับความช่วยเหลือกว่า 1 พันคน

ในประเทศไทย การที่ SE จะสามารถช่วยเหลือด้านการเรียนรู้ โดยใช้สิ่งที่ถนัดและตอบสนองต่อกลุ่มเป้าหมายได้ ปัจจัยสำคัญคือ ภาครัฐควรให้การสนับสนุน โดยในระยะตั้งต้น โดยรัฐควรกำหนดวาระแห่งชาติ ที่สนับสนุนให้ SE มีส่วนพัฒนาการเรียนรู้ให้แก่คนในสังคม โดยเฉพาะกลุ่มผู้ด้อยโอกาส หรือไม่สามารถเข้าถึงการเรียนรู้ได้ กำหนดให้นโยบายทุกกระทรวง มีส่วนสนับสนุน SE เพื่อพัฒนาการเรียนรู้ของเด็ก ประชาสัมพันธ์กิจกรรมที่จัดโดย SE รวมถึงการศึกษาวิจัยความเป็นไปได้ในการสนับสนุนSE ให้เข้ามามีส่วนสนับสนุนการเรียนรู้โดยวิเคราะห์ช่องว่างระหว่างความต้องการและการให้บริการการเรียนรู้ของภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อหาจุดที่ SE สามารถเข้าไปดำเนินการได้ รวมถึงวิจัยหาความเป็นไปได้ในการพัฒนา SE ในบริบทวัฒนธรรมของไทย เพื่อให้ SE สามารถดำเนินกิจการได้อย่างต่อเนื่องและสอดคล้องกับบริบทของประเทศ

แสดงความคิดเห็น
admin
เผยแพร่: 
0
เมื่อ: 
2007-12-25