ทิศผลิตบัณฑิต สอดรับตลาดแรงงาน
แรงงานระดับอุดมศึกษาล้นตลาด เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นในหลายประเทศ สาเหตุสำคัญเกิดจากการวางแผนผลิตแรงงานระดับอุดมศึกษาไม่สอดรับกับสภาพเศรษฐกิจภายในประเทศ ซึ่งขยายตัวไม่ทันต่อการเพิ่มขึ้นของแรงงานในระดับนี้ นอกจากนี้ นโยบายหรือกฎหมายทางเศรษฐกิจยังเป็นสาเหตุหนึ่งที่กระทบต่อการจ้างแรงงานระดับอุดมศึกษา
มีตัวอย่างจากบางประเทศที่เห็นได้ชัดว่า การที่แรงงานระดับอุดมศึกษาล้นตลาด มีสาเหตุมาจากเศรษฐกิจภายในประเทศขยายตัวไม่ทัน อีกทั้ง กฎหมายเศรษฐกิจยังเป็นอุปสรรคต่อการจ้างงาน ดังนี้
กัมพูชา: บัณฑิตขาดคุณภาพและเศรษฐกิจไม่สามารถรองรับจำนวนบัณฑิตที่เพิ่มขึ้น
สถาบันเศรษฐศาสตร์กัมพูชา (Economic Institute of Cambodia: EIC) รายงานว่า ในปี 2550 บัณฑิตจบใหม่จำนวน 1 ใน 10 คน เท่านั้นที่หางานทำได้ ขณะที่มหาวิทยาลัยผลิตบัณฑิตเพิ่มขึ้น แต่ไม่ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงาน จึงเกิดปัญหาบัณฑิตหลายหมื่นคนแย่งงานที่มีไม่กี่ตำแหน่ง ประกอบกับตลาดแรงงานภายในประเทศและนักลงทุนจากต่างประเทศ ต้องการผู้ใช้แรงงานมากกว่าแรงงานในระดับปริญญา จึงไม่ใช่เป้าหมายของบัณฑิตที่จบจากมหาวิทยาลัย ซึ่งจัดตัวเองอยู่ในกลุ่มแรงงานที่มีฝีมือ ประธานธนาคารโลก นายโรเบิร์ต เซลลิค (Robert Zoellick) เสนอแนะว่า รัฐบาลกัมพูชาต้องมีตำแหน่งงานถึงปีละประมาณ 3 แสนตำแหน่ง จึงจะสามารถรองรับบัณฑิตที่จบการศึกษาในแต่ละปีได้
จีน: กฎหมายแรงงานลดการจ้างแรงงานระดับปริญญาในอนาคต
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการของจีน (Ministry of Education) ได้กล่าวว่า ในปี 2549 นักศึกษาเกือบร้อยละ 40 หรือประมาณ 1.65 ล้านคน (จากจำนวนนักศึกษา 4.13 ล้านคน) ไม่มีงานทำ มีมากกว่าปี 2548 ถึง 750,000 คน บัณฑิตบางคนต้องยอมทำงานที่มีรายได้เท่ากับผู้ใช้แรงงาน และกฎหมายแรงงานของจีนฉบับใหม่ ที่ออกเมื่อต้นเดือนพฤศจิกายน 2550 อาจเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้การจ้างแรงงานระดับปริญญาภายในประเทศลดลง เนื่องจากกฎหมายได้กำหนดให้พนักงานที่ทำงานในบริษัทครบ 10 ปี สามารถเซ็นสัญญา ldquo;ไม่จำกัดอายุrdquo; เป็นพนักงานจนเกษียณอายุ หากบริษัทยกเลิกสัญญาต้องจ่ายเงินชดเชย 2 เท่า และยังได้เพิ่มสิทธิให้กับสหภาพแรงงานในการกำหนดอัตราเงินเดือน สวัสดิการ หรือค่าล่วงหน้า ดังนั้น ก่อนที่กฎหมายจะมีผลบังคับใช้ หลายบริษัท ทั้งของคนจีนและต่างชาติต่างเร่งปลดคนงาน โดยเฉพาะคนงานที่ขาดคุณภาพและคนงานที่มีอายุการทำงานมาก เพราะไม่ต้องการเพิ่มต้นทุนให้บริษัทจึงเป็นไปได้ว่า ในอนาคต นักลงทุนต่างชาติหรือนักลงทุนในจีนเองอาจลดการลงทุนในจีน หันไปลงทุนยังต่างประเทศ นั่นหมายความว่า ในอนาคต อัตราการจ้างงานแรงงานระดับอุดมศึกษาอาจลดลงไปด้วย
ปัญหาและแนวทางแก้ไขแรงงานระดับอุดมศึกษาล้นตลาดในประเทศไทย
สำหรับประเทศไทย ปัญหาบัณฑิตระดับอุดมศึกษาล้นตลาดแรงงานมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในอนาคต เนื่องจากจำนวนบัณฑิตไม่สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน
สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (2550) ได้ประมาณการจำนวนนักศึกษาเข้าใหม่ ระดับปริญญาตรี ระหว่างปี 2550-2559 คาดว่าจะมีจำนวนนักศึกษาเข้าใหม่ปีละประมาณ 5 แสนคน และในช่วงปีเดียวกัน มีบัณฑิตระดับปริญญาตรีจบใหม่ปีละประมาณ 3-4 แสนกว่าคน ขณะที่ความต้องการของตลาดแรงงานไม่สอดคล้องกับจำนวนนักศึกษาปริญญาตรีเข้าใหม่และจำนวนบัณฑิตจบใหม่ สถาบัน TDRI ได้วิจัยเรื่อง ldquo;แผนพัฒนากำลังคนของประเทศไทยเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศrdquo; (2549) ประมาณการความต้องการแรงงานส่วนเพิ่ม จำแนกตามสาขาการผลิตหลักและระดับการศึกษาใน 10 ปีข้างหน้า พบว่า 5 ปีแรก (ปี 2550-2559) ในทุกสาขาการผลิต (ภาคการเกษตร ภาคอุตสาหกรรม และภาคบริการ) มีความต้องการแรงงานระดับปริญญาตรีขึ้น 161,140 คน ต่อปี ใน 5 ปีหลัง (ปี 2555-2559) มีความต้องการแรงงานระดับนี้ 145,348 คนต่อปี ดังนั้น บัณฑิตจบใหม่ในช่วงปี 2550-2559 จำนวนหนึ่งต้องตกงาน และการตกงานจะเพิ่มขึ้นทวีคูณ เมื่อนักศึกษาเข้าใหม่ในช่วงปี 2550-2559 จบการศึกษา
เพื่อแก้ปัญหาแรงงานระดับอุดมศึกษาล้นตลาด กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ควรร่วมมือกับกระทรวงแรงงาน และสถาบันอุดมศึกษา เพื่อทำวิจัยและกำหนดทิศทางการผลิตบัณฑิตที่มีคุณภาพ และสอดคล้องกับตลาดแรงงาน นอกจากนี้ ควรควบคุมการจัดตั้งสถาบันอุดมศึกษา และการขยายวิทยาเขต โดยพื้นที่ที่มีสถาบันอุดมศึกษาอยู่แล้ว ไม่ควรให้เปิดเพิ่มหรือขยายวิทยาเขต เนื่องจากปัจจุบันมีสถาบันการศึกษาที่เปิดหลักสูตรระดับปริญญากว่า 197 แห่ง แบ่งเป็นสถาบันอุดมศึกษาของรัฐมีทั้งหมด 76 แห่ง (ไม่รวมมหาวิทยาลัยสงฆ์) มหาวิทยาลัยเอกชน 32 แห่ง วิทยาลัยเอกชน 31 แห่ง วิทยาเขตมหาวิทยาลัย/วิทยาลัยรัฐและเอกชน 58 แห่ง (กระทรวงศึกษาธิการ, 2549)
ปัจจัยทางเศรษฐกิจ ส่งผลกระทบโดยตรงต่อการจ้างงานบัณฑิตที่สำเร็จการศึกษา หากสภาพเศรษฐกิจของไทยไม่ดี ตลาดแรงงานมีไม่พอรองรับผู้สำเร็จการศึกษาระดับอุดมศึกษา หรือออกกฎหมายที่ลดการลงทุนภายในประเทศ การจ้างงานบัณฑิตระดับอุดมศึกษาย่อมลดลงด้วย ดังนั้น ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องควรหาแนวทางที่สามารถควบคุมจำนวนนักศึกษาให้สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจในอนาคต และรัฐควรหาแนวทางกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศเพื่อกระตุ้นการจ้างงาน
Tags:
เผยแพร่:
0
เมื่อ:
2007-12-12