ข้อเสนอการสร้างงานในวิกฤติ COVID

วิกฤติ COVID-19 ได้ส่งผลกระทบรุนแรงต่อเศรษฐกิจไทย ซึ่งปัญหาที่น่าเป็นห่วง คือ การว่างงานและการลดลงของรายได้ของผู้คนจำนวนมาก

สะท้อนได้จากผู้ที่ผ่านเกณฑ์การคัดกรองเพื่อรับเงินจากโครงการเราไม่ทิ้งกันที่สูงถึง 13.4 ล้านราย และผู้ที่เข้าข่ายได้รับเงินประกันการว่างงานจากประกันสังคม 4 แสนราย ซึ่ง ณ เวลานี้ คนเหล่านี้จะได้รับเงินช่วยเหลือเป็นเวลา 3 เดือน

แม้ตัวเลขผู้ติดเชื้อมีแนวโน้มที่ดีขึ้น และรัฐบาลเริ่มผ่อนคลายให้ภาคธุรกิจบางส่วนกลับมาเปิดกิจการได้ ถึงกระนั้นยังมีอีกหลายภาคธุรกิจที่ยังเปิดทำการไม่ได้เป็นเวลายาวนาน ในขณะที่อุปสงค์ยังไม่ฟื้นตัวกลับมา โดยเฉพาะภาคธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว สินค้าคงทน และสินค้าฟุ่มเฟือย

ผมได้คาดการณ์ว่า COVID-19 จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจยืดเยื้อไปจนกว่าโลกจะค้นพบวัคซีน รวมทั้งผลิตและกระจายวัคซีนได้อย่างทั่วถึง ซึ่งใช้เวลาประมาณ 2 ปี ยิ่งกว่านั้น หากมีการระบาดระลอกใหม่ รัฐบาลจะต้องกลับมาใช้มาตรการคุมเข้มอีกครั้ง อาจทำให้เศรษฐกิจถดถอยลึกและรุนแรงกว่าที่คาดการณ์ไว้

ในสถานการณ์ที่ยืดเยื้อ การแจกเงินช่วยเหลือคนว่างงานควรเป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า แต่สิ่งที่รัฐบาลจำเป็นต้องเตรียมการสำหรับระยะต่อไป คือ การสร้างงานให้ผู้ว่างงานมีรายได้เพียงพอและต่อเนื่อง แต่คำถาม คือ เราจะสร้างงานให้คนจำนวนมากได้อย่างไร ในภาวะที่กำลังซื้อตกต่ำ และธุรกิจจำนวนมากยังเปิดดำเนินการไม่ได้

ผมขอขอบคุณ ท่านปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ที่แจ้งให้ผมทราบว่า ข้อเสนอเรื่องนี้ของผม ท่านได้ส่งต่อให้หน่วยงานต่าง ๆ ระดับชาติ ให้นำความคิดไปใช้ประโยชน์ ตั้งแต่กลางเดือนมีนาคมฯ ข้อเสนอแนะกับรัฐบาลเกี่ยวกับการสร้างงานสำหรับผู้คนจำนวนมากในภาวะวิกฤติของผมมีดังต่อไปนี้

ประการแรก คือ การลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ เป็นการเร่งลงทุนของภาครัฐและรัฐวิสาหกิจ เพื่อเพิ่มอุปสงค์ในระบบเศรษฐกิจ ชดเชยกับอุปสงค์ของประชาชนและภาคธุรกิจที่ลดลง เพราะเมื่ออุปสงค์ต่อสินค้าและบริการในระบบเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น สถานประกอบการจะเริ่มมีความเชื่อมั่น และจ้างแรงงานมากขึ้น

โครงการลงทุนของรัฐควรเป็นโครงการที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศ ซึ่งกระจายตัวในพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศ มีสัดส่วนการนำเข้าต่ำ และสามารถกระจายงานให้ภาคธุรกิจและประชาชนจำนวนมาก เพื่อกระจายผลประโยชน์อย่างทั่วถึง ผลประโยชน์ไม่กระจุกตัวในบางพื้นที่หรือเฉพาะธุรกิจขนาดใหญ่ และไม่รั่วไหลออกนอกประเทศมากนัก

ตัวอย่างโครงการลงทุนที่รัฐบาลควรเร่งการลงทุน อาทิ การพัฒนา Water Grid เชื่อมโยงแหล่งน้ำในลุ่มน้ำต่าง ๆ ทั่วประเทศ เพื่อในสามารถจัดการปัญหาน้ำท่วมและน้ำแล้งได้ดียิ่งขึ้น หรือการเร่งลงทุนในโครงการพัฒนาระบบรถไฟรางคู่ เพื่อลดต้นทุนการขนส่งของประเทศในอนาคต โครงการสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวลในชนบท รวมทั้งการพัฒนาด้านสาธารณสุข และการศึกษาในชนบท

ประการที่สอง คือ การกระตุ้นการลงทุนและการใช้จ่ายของภาคธุรกิจ เนื่องจากความกังวลต่อภาวะวิกฤติทำให้ภาคธุรกิจไม่กล้าใช้จ่ายและลงทุน แต่เก็บออมมากขึ้น รัฐบาลจึงควรกำหนดมาตรการที่สร้างแรงจูงใจมากพอ เพื่อดึงเงินออมที่อยู่ในมือของภาคธุรกิจ โดยเฉพาะธุรกิจขนาดใหญ่ ออกมาเพื่อใช้จ่ายและลงทุนมากขึ้น

ปัจจุบัน รัฐบาลได้พยายามส่งเสริมการลงทุน โดยประกาศให้พื้นที่ทุกจังหวัดเป็นเขตส่งเสริมการลงทุน ซึ่งนับว่าเป็นความพยายามที่ดี แต่ผมเห็นว่านโยบายนี้อาจไม่ได้รับการตอบรับจากนักลงทุนต่างประเทศมากนักในเวลานี้ เพราะเศรษฐกิจทั่วโลกกำลังเผชิญเศรษฐกิจถดถอยรุนแรง นักลงทุนมีแนวโน้มจะชะลอการลงทุนและดึงเงินลงทุนกลับ มากกว่าจะออกไปลงทุนในต่างประเทศ

ผมได้เสนอว่า รัฐบาลควรเร่งดึงเงินลงทุนจากธุรกิจขนาดใหญ่ในประเทศ โดยจูงใจด้วยการให้สัมปทานหรือการร่วมทุนระหว่างรัฐและภาคเอกชน (PPP) ในโครงการลงทุนขนาดใหญ่ที่มีผลตอบแทนทางการเงิน เช่น การลงทุนในระบบขนส่งมวลชนในเมืองใหญ่ในต่างจังหวัด การสร้างทางหลวงระหว่างเมือง เป็นต้น

รัฐบาลอาจกระตุ้นการลงทุนของเอกชน โดยการส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับโรคระบาดและสุขภาพ เช่น การสนับสนุนให้มหาวิทยาลัยเร่งพัฒนาสินค้าต้นแบบของอุปกรณ์ทางการแพทย์ และมอบสิทธิบัตรให้ภาคเอกชนนำไปผลิตเพื่อจำหน่ายให้ภาครัฐ และส่งออกไปจำหน่ายในต่างประเทศ เป็นต้น

ประการที่สาม การสร้างงานโดยตรงจากภาครัฐ เป็นการใช้งบประมาณภาครัฐมาจ้างผู้ว่างงาน เพื่อมาทำงานที่เป็นประโยชน์ต่อหน่วยงานรัฐ หรือเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ ซึ่งการสร้างงานต้องคำนึงถึงบริบทและความต้องการของแต่ละพื้นที่ และความรู้และชุดทักษะของผู้ว่างงาน

รัฐบาลควรจัดทำข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) ของผู้ว่างงาน เพื่อเป็นประโยชน์ในการจับคู่กับงานต่าง ๆ ที่รัฐเป็นผู้สร้างขึ้น (รวมทั้งจับคู่กับตำแหน่งงานของภาคเอกชนด้วย) เช่น การจ้างมัคคุเทศก์หรือพนักงานต้อนรับบนเครื่องบินไปเป็นครูสอนภาษาต่างประเทศในโรงเรียน หรือจ้างนักกีฬาและนักดนตรีไปสอนให้กับนักเรียนในชนบท หรือการจ้างคนที่จบการศึกษาใหม่ไปเก็บข้อมูลของคนยากจนทั่วประเทศ เป็นต้น

ในพื้นที่ต่าง ๆ ก็ควรมีการสร้างงานที่เหมาะสมกับพื้นที่ ตัวอย่างของการสร้างงานในชนบท เช่น การปลูกป่า การพัฒนาแหล่งน้ำ การขุดลอกคูคลอง การซ่อมแซมถนน เป็นต้น ส่วนการสร้างงานในเมือง เช่น การทำความสะอาดคูคลอง การฆ่าเชื้อโรคในพื้นที่สาธารณะ การปรับภูมิทัศน์ของเมือง การตบแต่งเมืองให้สวยงาม เป็นต้น

ประการที่สุดท้าย การสร้างงานเพื่อพึ่งพาตนเอง เพื่อสนับสนุนให้ผู้ว่างงานสามารถประกอบอาชีพอิสระได้ เช่น การฝึกอบรมทักษะอาชีพที่หลากหลายและให้เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ เพื่อประกอบอาชีพอิสระเลี้ยงตัวเองได้ หรือการจัดสรรหรือเช่าที่นารกร้างที่มีอยู่นับล้านไร่ให้กับครัวเรือนที่ต้องการทำเกษตรแบบพึ่งตนเองก่อน (หากมีผลผลิตเหลือจากการบริโภคจึงนำไปขาย) รวมทั้งการอนุญาตให้ผู้ว่างงานใช้ประโยชน์จากป่าและแหล่งน้ำ เพื่อการเลี้ยงชีพ โดยไม่ทำให้ทรัพยากรธรรมชาติเสียหาย เป็นต้น

ในระดับชุมชน ภาครัฐอาจสนับสนุนการสร้าง self-sustained community เพื่อให้ชุมชนสามารถพึ่งพาตนเองได้ในปัจจัยอยู่รอด โดยการพัฒนาห่วงโซ่อุปทานของการผลิตปัจจัยอยู่รอดในชุมชนให้ครบวงจร การพัฒนาตลาดสินค้าชุมชน และการพัฒนา mutual business ของชุมชน เพื่อเป็นตัวขับเคลื่อนการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจในชุมชน

การแจกเงินเป็นมาตรการที่จำเป็นในระยะสั้น สำหรับวิกฤติที่เกิดขึ้นอย่างฉับพลัน แต่นับจากนี้รัฐบาลควรเร่งหาแนวทางในการสร้างงานให้กับคนว่างงานให้คนจำนวนมาก โดยต้องใช้ทุกอย่างที่มี ทั้งงบประมาณ กำลังคน นโยบาย ทรัพยากร เครือข่าย และต้องพยายามอย่างถึงที่สุด 

 

แหล่งที่มา : กรุงเทพธุรกิจ
19 พ.ค. 2563 
ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์

นักวิชาการอาวุโส มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
ประธานสถาบันการสร้างชาติ (NBI)
ประธานสถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา (IFD)
kriengsak@kriengsak.com, www.drdancando.com
www.facebook.com/drdancando

แหล่งที่มาของภาพ : https://cdn-cms.pgimgs.com/news/2017/06/W_01.jpg