นโยบายของรัฐบาลในการจัดการภัยพิบัติทางธรรมชาติ (1)
เมื่อช่วงต้นเดือนม.ค.ที่ผ่านมาผมได้รับเชิญให้เป็นวิทยากรในเวทีสัมมนาเพื่อการรักษาสิ่งแวดล้อม หัวข้อ Save Our Planet อากาศ น้ำ ดิน: ช่วยประเทศไทย จากการเปลี่ยนแปลงของ สภาพอากาศ ในหัวข้อ ?นโยบายของรัฐบาล ในการจัดการภัยพิบัติทางธรรมชาติ" ที่งาน ?บีโอไอแฟร์ 2011? ซึ่งมีตัวแทนทั้งจากภาครัฐ ภาคเอกชนและนักวิชาการมาแสดงความคิดเห็นในเวทีนี้อย่างมากมาย
ที่มา http://naturaldisasterss.com/wp-content/uploads/2011/12/Natural-Disaster-Floods.jpg
ผมคิดว่าสิ่งที่เราต้องการไม่ใช่ไม่ให้มีผลกระทบจากภัยพิบัติเกิดขึ้นเลย แต่หากจะต้องยอมให้มีผลกระทบจากภัยพิบัติเกิดขึ้นต้องเป็นเรื่องที่เกินจะคาดการณ์ได้ และต้องตั้งรับให้ฉลาดที่สุด สิ้นเปลืองงบประมาณน้อยที่สุด ด้วยเหตุนี้เราต้องเข้าใจว่าปัญหาที่แท้จริงคืออะไรและแก้ไขให้ตรงจุด
ปัญหาในการรับมือกับภัยพิบัติของไทยมีอยู่หลายประการ เช่น
ขาดการบูรณาการปฏิบัติงานในหน่วยงาน
ที่ผ่านมา การบริหารจัดการน้ำของประเทศมีปัญหา เนื่องจากหน่วยงานระดับชาติที่รับผิดชอบเรื่องน้ำมีจำนวนมาก ในระดับกรมมีไม่น้อยกว่า 18 กรม/รัฐวิสาหกิจ กระจายอยู่ใน 8 กระทรวง ซึ่งยังไม่รวมหน่วยงานในระดับท้องถิ่นอื่นๆ เช่น สำนักการระบายน้ำ กทม.เป็นต้น ทั้งนี้แต่ละหน่วยงานต่างรับผิดชอบในภารกิจเฉพาะของตนเอง โดยขาดการเชื่อมโยงเข้ากับภารกิจภาพรวมทั้งประเทศ เช่น การไฟฟ้าสนใจเพียงแต่ว่าต้องมีน้ำเพียงพอในเขื่อนให้เพียงพอในการผลิตไฟฟ้า แต่ไม่ได้มีภารกิจต้องดูในภาพรวมของการบริหารจัดการจัดการน้ำทั้งประเทศ
แท้จริงแล้วปัญหานี้สามารถแก้ไขได้โดยไม่จำเป็นต้องใช้งบประมาณมาก แค่หาทางทำให้ข้อมูลเหล่านี้เป็นข้อมูลจริง ถูกต้องและสามารถสอดประสานเข้าหาแต่ละหน่วยงานได้จริง
ขาดการจัดการระบบข้อมูลและระบบเตือนภัยที่แม่นยำ มีประสิทธิภาพ
การขาดศูนย์ข้อมูลรวมระดับประเทศในเรื่องของภัยพิบัติ ทำให้ไม่สามารถประเมินระดับความรุนแรง และคาดการณ์ผลกระทบได้อย่างแม่นยำ น่าเชื่อถือ การตัดสินใจแก้ไขปัญหาจึงล่าช้า เพราะไม่มีข้อมูลที่เป็นระบบเพียงพอ ผู้กำหนดนโยบายไม่กล้าตัดสินใจเพราะไม่มีข้อมูล กลัวตัดสินใจผิด เมื่อการแก้ไขปัญหาล่าช้า ปัญหาจึงทวีความรุนแรงขึ้น นอกจากนี้การให้ข้อมูลกับประชาชนยังมีความสับสน เช่น ในบางพื้นที่ถูกประกาศให้เป็นเขตภัยพิบัติและให้ประชาชนอพยพจากพื้นที่ แต่ต่อมายกเลิกประกาศดังกล่าว ทำให้ประชาชนสับสนจากข้อมูลข่าวสารหลายแหล่ง และไม่ตรงกัน ทำให้ตัดสินใจไม่ถูกว่าควรปฏิบัติตนอย่างไร เป็นต้น
การให้ความช่วยเหลือและชดเชยความเสียหายล่าช้าและไม่เป็นธรรม
เมื่อขาดข้อมูลที่เป็นระบบและแม่นยำ รวมถึงขาดข้อมูลเรื่องการประเมินผลกระทบ ทำให้เกิดความล่าช้าในการให้ความช่วยเหลือ ตัวอย่างเช่น ผู้ที่ได้รับผลกระทบนานโดยน้ำท่วมถึง 2 เดือน กลับได้รับความช่วยเหลือด้วยเงินชดเชยเท่ากับผู้ถูกน้ำท่วม 1 เดือน ขณะที่บางพื้นที่ถูกขอร้องให้ ?เสียสละ? เพื่อส่วนรวม โดยให้รับน้ำท่วมไว้นานกว่าพื้นที่อื่น แต่ไม่มีมาตรการช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนให้กับคนในพื้นที่เหล่านี้ ซึ่งทำให้ประชาชนเกิดความรู้สึกไม่เป็นธรรม เป็นต้น
ขาดระบบที่ทำให้ผู้บริหารต้องรับผิดชอบต่อประชาชนอย่างแท้จริง
ที่ผ่านมาเราเห็นว่ารัฐบาลเป็นหนี้ประเทศต่างๆ ในโลกและบริษัทเอกชนจำนวนมากได้จากการดำเนินนโยบายที่ผิดพลาด แต่เราไม่เคยเห็นรัฐบาลเป็นหนี้ประชาชนจากการดำเนินนโยบายที่ผิดพลาด ไม่รอบคอบ ขาดความเอาใจใส่อย่างเต็มที่ การไม่มีระบบรับผิดชอบเป็นเหตุให้รัฐละเลยที่จะรับผิดชอบต่อประชาชนอย่างสมเหตุสมผล แต่ปล่อยให้ประชาชนรับผิดชอบปัญหาเอง
การพูดเช่นนี้ไม่ใช่ไม่เห็นใจผู้บริหารในภาครัฐหรือรัฐบาล แต่ผมคิดว่าระบบที่ดีควรทำให้ผู้บริหารต้องรับทั้งผิดและรับชอบ เช่นเดียวกับกรณีวิกฤติ 2540 ที่มีการโจมตีค่าเงินบาท ซึ่งมีการไล่เบี้ยความเสียหายจากผู้บริหารธนาคารแห่งประเทศไทยที่บริหารผิดพลาด เป็นต้น การมีระบบรับผิดชอบนอกจากจะทำให้ประชาชนถูกเอาใจใส่อย่างเต็มที่แล้ว ยังทำให้การแย่งตำแหน่งกัน เลื่อยขาเก้าอี้กันจะเบาบางลง ทำให้ได้ผู้บริหารที่มีความสามารถแท้จริง เนื่องจาก ผู้บริหารต้องรับทั้งผิดและชอบ ไม่สามารถโยนปัญหาหรืออยู่ในสภาวะลอยตัวได้เมื่อบริหารงานผิดพลาด
ประชาชนขาดความรู้เบื้องต้นในการปฏิบัติตนเมื่อประสบภัย
เห็นได้จากกรณีน้ำท่วมที่ผ่านมา ประชาชนส่วนใหญ่ขาดทั้งความรู้ ความเข้าใจในการเตรียมตัวก่อนน้ำท่วม การปฏิบัติตัวเมื่อน้ำท่วม การอพยพโยกย้ายไปยังศูนย์พักพิง หรือการปฏิบัติตัวหลังน้ำลด ในการเข้าไปฟื้นฟูบูรณะอาคารบ้านเรือน เป็นต้น
การขาดความรู้เป็นผลมาจากไม่เคยมีการสอนทั้งในระดับโรงเรียน หรือมหาวิทยาลัยเรื่องนี้และไม่มีการอบรมให้ความรู้กับประชาชนในพื้นที่เสี่ยงอย่างสม่ำเสมอ
เนื่องจากความจำกัดของเนื้อที่ ผมจะขอกลับมาเล่าให้ฟังถึงข้อเสนอแนะเชิงนโยบายในการจัดการภัยพิบัติธรรมชาติในความคิดของผมครั้งต่อไปครับ
Post date:
Friday, 10 February, 2012 - 17:42