"อาหารที่ถูกทิ้ง" (Food Waste) : ผลกระทบของปัญหาอาหารที่ถูกทิ้ง (3)
ปัญหาอาหารที่ถูกทิ้ง (Food Waste) ไม่ได้เป็นปัญหาที่เฉพาะฮ่องกง และ เกาหลีใต้ให้ความสำคัญและพยายามแก้ไขอย่างที่ผมได้เขียนไว้ผ่านบทความทั้ง 2 ครั้งที่ผ่านมาเท่านั้น แต่กลุ่มประเทศในสหภาพยุโรป ณ ปัจจุบันให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาดังกล่าวเช่นเดียวกัน ทั้งนี้เพราะ ณ ปัจจุบัน กลุ่มประเทศในสหภาพยุโรปมีปริมาณอาหารที่ถูกทิ้งกว่า 90 ล้านตันต่อปี อันส่งผลทำให้สหภาพยุโรปมีเป้าหมายในการลดปริมาณอาหารที่ถูกทิ้งให้เหลือเพียง 50 เปอร์เซ็นต์ในปี 2025
ทั้งนี้ สำหรับประเทศที่พัฒนาแล้ว อย่างประเทศในสหภาพยุโรป ปริมาณอาหารที่ถูกทิ้งส่วนใหญ่ไม่ได้เกิดขึ้นระหว่างการผลิต และการเก็บเกี่ยวอาหารเหมือนอย่างในประเทศกำลังพัฒนา แต่เกิดขึ้นจากผู้บริโภคเป็นหลัก (คิดเป็น 40% ของอาหารที่ถูกทิ้งทั้งหมด) ดังนั้น เพื่อแก้ปัญหาเรื่องนี้อย่างมีประสิทธิภาพ การสร้างจิตสำนึกของคนในประเทศให้ตระหนักรู้ถึงผลกระทบเชิงลบอันเกิดจากอาหารที่ถูกทิ้งจึงเป็นเรื่องที่สำคัญ
ผลกระทบอันเกิดจากอาหารที่ถูกทิ้ง
อาหารที่ถูกทิ้งส่งผลเสียต่อโลกของเราหลากหลายประการ แต่ในบทความชิ้นนี้ผมขอนำเสนอ ผลกระทบจากอาหารที่ถูกทิ้งที่สำคัญ 2 ประการได้แก่ ผลกระทบเชิงเศรษฐกิจ และ ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
1. ผลกระทบเชิงเศรษฐกิจ
การมีอาหารที่ถูกทิ้งในปริมาณมากแสดงให้เห็นถึงการลงทุนที่ไร้ประโยชน์ในเชิงเศรษฐกิจ เหตุเพราะแทนที่อาหารที่ถูกผลิตจะส่งผลทำให้มนุษย์มีสภาพความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น กลับถูกทิ้งอย่างไร้ประโยชน์ ทั้งนี้หากทุกคนสามารถลดปริมาณอาหารที่ถูกทิ้ง และบริโภคอาหารในอัตราส่วนเท่าเดิม นอกจากจะสามารถลดรายจ่ายค่าอาหารในครัวเรือนแล้ว ยังส่งผลทำให้ปริมาณอาหารในท้องตลาดมีสัดส่วนที่เพิ่มมากขึ้น และทำให้ราคาสินค้ามีแนวโน้มลดลงตามไปด้วย ทั้งนี้ เมื่อราคาอาหารในท้องตลาดลดลงจะส่งผลทำให้ผู้บริโภคที่มีรายได้น้อยมีแนวโน้มเข้าถึงอาหารได้มากยิ่งขึ้น อันเป็นหนึ่งในวิธีสำคัญที่ช่วยทำให้ระดับความมั่นคงทางอาหารของคนบนโลกมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น
นอกจากนี้การลดปริมาณอาหารที่ถูกทิ้งยังส่งผลทำให้รัฐสามารถลดค่าใช้จ่ายในการกำจัดขยะภายในประเทศอีกด้วย ทั้งนี้เมื่อดูจากการฝังกลบอาหารที่ถูกทิ้งในสหรัฐฯ ในปี 2008 ที่ผ่านมา สหรัฐ ต้องสูญเสียเงินมูลค่าไม่น้อยกว่า 1.3 พันล้านดอลลาร์ ในการกำจัดอาหารที่ถูกทิ้งภายในประเทศ ดังนั้น หากเราทุกคนบนโลกร่วมมือกันลดปริมาณอาหารที่ถูกทิ้งลง นอกจากจะสามารถช่วยให้เราประหยัดเงินค่าอาหารได้แล้ว ยังส่งผลดีต่อรัฐในด้านงบประมาณอีกด้วย
2. ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
การกำจัดอาหารที่ถูกทิ้งส่งผลเสียต่อสิ่งแวดล้อมหลายประการ เพราะอาหารที่ถูกทิ้งส่วนใหญ่จะถูกทำลายด้วยการฝังกลบซึ่งส่งผลทำให้เกิดก๊าซมีเทน (methane) ก๊าซเรือนกระจก ที่ส่งผลให้เกิดสภาวะเรือนกระจกที่รุนแรงยิ่งกว่า คาร์บอนไดออกไซด์ถึง 25 เท่า เป็นต้น ทั้งนี้นอกจากอาหารที่ถูกทิ้งจะส่งผลเสียต่อชั้นบรรยากาศของโลกแล้ว การกำจัดอาหารเหล่านี้ยังทำให้เกิดการสูญเสียทรัพยากร อาทิ ทรัพยากรน้ำ พื้นที่การเพาะปลูก และแรงงาน เป็นต้น
ทั้งนี้ เมื่อดูจากการกำจัดมะเขือเทศกว่า 377,000 ตันของสหรัฐ ในปี 2008 สหรัฐต้องสูญเสียที่ดินกว่า 90 ตารางกิโลเมตร ทรัพยากรน้ำกว่า 57 พันล้านลิตร และแรงงานกว่า 7 ล้านชั่วโมงในการกำจัดมะเขือเทศเหลือทิ้งดังกล่าว ทั้งนี้ หากเราสามารถลดปริมาณมะเขือเทศดังกล่าวลงได้หมด เราจะสามารถลดก๊าซเรือนกระจกได้กว่า 312,000 ตัน หรือเทียบเท่าได้กับก๊าซที่ปล่อยจากรถยนต์ 55,000 คัน ในปีเดียว
ในส่วนของกลุ่มประเทศในสหภาพยุโรป ที่มีปริมาณอาหารที่ถูกทิ้ง 90 ล้านตันต่อปี ส่งผลทำให้การกำจัดอาหารที่ถูกทิ้งในสหภาพยุโรปนำมาซึ่งการเกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์กว่า 170 ล้านตัน ทั้งนี้มีผู้เชี่ยวชาญบางรายได้วิเคราะห์ว่า หากประเทศที่พัฒนาแล้วทั้งหมดสามารถลดปริมาณอาหารที่ถูกทิ้งได้ 30% เราจะมีพื้นที่ทางการเกษตรเพิ่มขึ้นกว่า 400,000 ตารางกิโลเมตรในปี 2030 และทรัพยากร อาทิ ทรัพยากรน้ำ ที่มีความจำเป็นในการกำจัดอาหารที่ถูกทิ้ง จะมีเหลือเพิ่มมากขึ้นสำหรับภาคการเกษตร และปศุสัตว์ของโลกในอนาคต ดังนั้น การลดปริมาณอาหารที่ถูกทิ้งจะส่งผลดีต่อสภาพอากาศของโลก พื้นที่การเพาะปลูก และปริมาณทรัพยากรที่จะถูกใช้ไปอย่างมีประโยชน์มากขึ้น
สรุป
เห็นได้ชัดว่าปัญหาเรื่องอาหารที่ถูกทิ้งไม่ใช่เป็นเพียงปัญหาที่ส่งผลกระทบในระดับรัฐเท่านั้น แต่ยังส่งผลกระทบต่อทุกคนในวงกว้างในเชิงเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และความมั่นคงทางอาหารของโลก คำถามคือถึงเวลาแล้วหรือยังที่เราจะร่วมกันแก้ไขปัญหานี้อย่างจริงจัง โดยการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตให้มีความสมดุล และตระหนักถึงผลเสียอันเกิดมาจากอาหารที่ถูกทิ้งควบคู่ไปกับมาตรการในการรับมือกับสภาวะความไม่มั่นคงทางอาหาร ที่มีแนวโน้มรุนแรงมากยิ่งขึ้นในอนาคต
ศ.ดร. เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส ศูนย์ศึกษาธุรกิจและรัฐบาล มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
kriengsak@kriengsak.com, http://www.kriengsak.com
แหล่งที่มาของภาพ : http://thai.cri.cn/mmsource/images/2013/02/01/9e6f39f38eaf47c38b60c93ab2b474a7.jpg
ศ.ดร. เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส ศูนย์ศึกษาธุรกิจและรัฐบาล มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
kriengsak@kriengsak.com, http://www.kriengsak.com
แหล่งที่มาของภาพ : http://thai.cri.cn/mmsource/images/2013/02/01/9e6f39f38eaf47c38b60c93ab2b474a7.jpg
Catagories:
Tags:
Post date:
Tuesday, 9 September, 2014 - 14:55
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง
ค่าแรงขั้นต่ำ: ผลกระทบต่อเศรษฐกิจและการบริหารจัดการ
Total views: อ่าน 127 ครั้ง
สว. 2567 คนแบบคุณก็เป็นได้ โดยไม่ต้องใช้เงิน
Total views: อ่าน 162 ครั้ง
ที่ดิน ส.ป.ก. ทำกินเพื่อเกษตรกร ไม่ใช่ ทุจริตเพื่อข้าราชการ นายทุน และนักการเมือง
Total views: อ่าน 156 ครั้ง
เปลี่ยนเงินหวย เป็น 'สลากออมทรัพย์'
Total views: อ่าน 3,433 ครั้ง
แนวทางการพัฒนา ทุนมนุษย์ สำหรับประเทศไทย
Total views: อ่าน 1,482 ครั้ง