เล็กพริกขี้หนู นักสร้างชาติ
“เด็กและเยาวชนไทยสามารถเป็นผู้ที่นำการเปลี่ยนแปลงได้ โดยการหล่อหลอมจากพ่อแม่ผู้เป็นแบบอย่างที่ดีของการเป็นพลเมืองในประเทศ”
การสร้างความตระหนักในการเป็น “พลเมือง” ของประเทศเป็นสิ่งสำคัญ ความรู้สึกเป็นเจ้าของ เสียสละ อาสาตัวไม่เพิกเฉยต่อปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นเนื่องจากความรักประเทศชาติ อันเปรียบเสมือนกับบ้านที่ตนเองอยู่อาศัย บ้านมีปัญหา บ้านไฟไหม้ จะอยู่ไปอย่างหลับหูหลับตาไม่รับรู้ปัญหา ไม่รู้ร้อนรู้หนาว ไม่สนใจว่าอะไรจะเกิดขึ้นในบ้านของตนได้อย่างไร
การมีจิตสำนึกแห่งการเป็นพลเมืองนั้น กระตุ้นให้เกิดการสำนึกในสิทธิ หน้าที่ และความรับผิดชอบที่เขามี ทั้งต่อตนเอง ครอบครัว สังคมและประเทศชาติอย่างไม่สามารถปฏิเสธได้
สถาบันครอบครัว เป็นสถานที่สำคัญในการบ่มเพาะให้เด็กและเยาวชนไทยเกิดความตระหนักในความเป็นพลเมืองไทยอย่างชัดเจน มิใช่สอนเพียงให้รู้ว่า หนู/ผม เป็นคนไทย เกิดที่ประเทศไทย ฯลฯ เท่านั้น แต่พ่อแม่ต้องอบรมสั่งสอนและปลูกฝังให้ลูกรู้ว่า เขาเองนั้นมีสิทธิ หน้าที่ และความรับผิดชอบอะไรบ้างในฐานะที่เป็นพลเมืองไทยและเป็น “กำลังสำคัญ” ในการพัฒนาประเทศชาติได้อย่างไร
ไม่ว่าเด็ก เยาวชน หรือผู้ใหญ่ ทุกคนมีส่วนร่วมในการสร้างชาติได้ โดยเฉพาะเยาวชนซึ่งเป็นกลุ่มคนสำคัญที่จะกลายเป็นกำลังหลักในอนาคตในการกำหนดทิศทางของประเทศชาติบ้านเมือง เป็นช่วงวัยที่มีพลัง มีมุมมองทัศนคติต่อประเทศและโลกที่เปิดกว้าง ก้าวทัน และว่องไวในการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลง เป็นทั้งผู้รับและผู้ดำเนินการพัฒนาประเทศในอนาคต
โดยตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน มีเยาวชนจำนวนมากที่สร้างการเปลี่ยนแปลงแก่โลกใบนี้ อาทิ
ไรอันเฮอร์แจ็ค (Ryan Hreljac) จัดตั้งมูลนิธิ “Ryan’s Well Foundation” ขึ้น เพื่อระดมทุนสำหรับการขุดบ่อน้ำในหลายๆ พื้นที่ จนได้รับเลือกให้เป็น Global Youth Leader โดยองค์การยูนิเซฟ ซึ่ง ณ เวลานี้ มูลนิธิฯ ได้สนับสนุนการขุดบ่อน้ำไปแล้วกว่า 740 บ่อ สร้างห้องน้ำกว่า 1 พันห้อง ในเกือบ 20 ประเทศทั่วโลก และช่วยเหลือผู้คนกว่า 1 ล้านชีวิต
ดีแลน มหาลินคัม (Dylan Mahalingam) ร่วมมือกับพี่สาวก่อตั้ง Lil’MDGs องค์กรระหว่างประเทศเพื่อพัฒนาและเสริมสร้างพลังแก่เยาวชน ขณะที่มีอายุ 9 ปี ความโดดเด่นขององค์กรนี้คือ การนำพลังของ “อินเทอร์เน็ต” มาสร้างประโยชน์อย่างมหาศาล เพราะทำให้มีกำลังเยาวชนเข้าร่วมกว่า 3 ล้านคน และอาสาสมัครทั่วไปอีกกว่า 24,000 คน จาก 41 ประเทศทั่วโลก ส่งผลทำให้โครงการนี้ชนะเลิศรางวัล World Summit Youth Award ของสหประชาชาติในปี 2009
เกรกอรี่ อาร์ สมิธ (Gregory R. Smith) ‘อัจฉริยะผู้ต้องการเปลี่ยนแปลงโลก’ เขาเข้าเรียนมหาวิทยาลัยเมื่ออายุ 10 ปี และได้ก่อตั้ง International Youth Advocate Foundation เป็นองค์กรที่ให้การสนับสนุนหลักการแห่งสันติภาพ และความเข้าอกเข้าใจในระหว่างเยาวชนทั่วโลก นอกจากนี้ เขายังถูกเสนอชื่อให้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพถึง 4 ครั้ง
เครก คีลเบอร์เกอร์ (Craig Kielburger) ผู้ก่อตั้งองค์กร Free the Children เพื่อปกป้องสิทธิเด็ก ซึ่งเกิดจากการที่เขาได้อ่านบทความเกี่ยวกับการใช้ความรุนแรงต่อแรงงานเด็ก องค์กรนี้มีกองทุนเพื่อเด็กขนาดใหญ่ ภายใต้แนวคิดการพัฒนาที่ยั่งยืนในประเทศยากจน เช่น เคนยา เอควาดอร์ อินเดีย นิการากัว อาริโซนา-เม็กซิโก และจีน ปัจจุบันมีโรงเรียนเข้าร่วมกับองค์กรนี้ มากกว่า 650 โรงเรียนและได้ขยายเครือข่ายการดำเนินงานไปทั่วโลก
เพราะเหตุใดกลุ่มเยาวชนจึงนำการเปลี่ยนแปลงมาสู่ทั้งในชุมชน ในประเทศ ต่างประเทศ และทั่วโลก แม้ในขณะยังเป็นเพียงเด็กตัวเล็ก ๆ
สิ่งที่เห็นคือ ทุกคนต่างมีอุดมการณ์ที่จะช่วยเหลือผู้อื่น ด้วยการเข้าไปแก้ไขปัญหาตามความสนใจและความสามารถ เยาวชนกลุ่มนี้มีวิสัยทัศน์ระดับโลกและมีหัวใจแห่งความเมตตา เห็นแก่ผู้อื่นที่ไม่ได้รู้จักกันมาก่อน และไม่ได้ขึ้นอยู่กับขอบเขตภูมิประเทศ
ผมได้วิเคราะห์ปัจจัยที่ส่งเสริมและทำให้เยาวชนสามารถทำงานในลักษณะเช่นนี้ได้ กล่าวคือ
ระบบการศึกษาและการให้ความรู้ โดยเฉพาะการเพิ่มเติมความรู้รอบตัวและสถานการณ์ของประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก เพื่อเปิดโลกทัศน์ชีวทัศน์ให้เกิดเข้าใจ และเห็นภาพความเป็นจริงของโลกในปัจจุบันมากขึ้น เมื่อความรู้ที่มีผนวกกับความสนใจ ยิ่งทำให้เกิดการขวนขวายศึกษาหาความรู้เพิ่มมากขึ้น หลักคิดและหลักการต่าง ๆ จะทยอยตามมา จนก่อเกิดกลายเป็นอุดมการณ์ภายในที่สุด
วัฒนธรรมและค่านิยมในครอบครัว สังคม เป็นส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการผลักดันให้เกิดความกล้าลงมือทำ เพราะวัยเด็กและเยาวชน เป็นวัยที่ต้องการการสนับสนุน โดยเฉพาะจากคนในครอบครัวและคนใกล้ชิดรอบตัว ไม่ว่าจะเป็นเพื่อนที่โรงเรียน เพื่อนในหมู่บ้าน ญาติ พี่น้อง
หากครอบครัวหรือสังคมใดมีวัฒนธรรมการเห็นคุณค่าความเท่าเทียมในเพื่อนมนุษย์ หรือมีค่านิยมที่เห็นแก่ผู้อื่น ใจกว้างขวาง และนิยมส่งเสริมการทำดี ย่อมทำให้เกิดการสนับสนุนและแรงผลักดันที่แรงขึ้นจนเป็นรูปธรรม เช่น เยาวชนมีความกล้าในการชวนคนรอบข้างมาร่วมทำสิ่งดีร่วมกัน เป็นต้น
การได้รับสนับสนุนจากองค์กร หน่วยงานต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการให้เงินทุนสนับสนุนโครงการที่สร้างประโยชน์ต่อส่วนรวม หรือการให้รางวัลกับเยาวชนที่มีจิตสาธารณะ เสียสละและสร้างประโยชน์อันเป็นผลกระทบวงกว้างต่อชุมชน สังคมและประเทศ ดังตัวอย่างของ
ประเทศเวียดนาม ภาครัฐได้สนับสนุนการจัดกิจกรรมอาสาฤดูร้อนปี 2017 ของเยาวชนเวียดนามภายใต้หัวข้อ “เยาวชนร่วมกันสร้างสรรค์ชนบทใหม่และตัวเมืองอารยธรรม” เพื่อส่งเสริมจิตใจแห่งการอาสาและเดินหน้าของเยาวชนเวียดนามในการพัฒนาเศรษฐกิจ – สังคม สวัสดิการสังคม การป้องกันประเทศและความมั่นคงในท้องถิ่นที่ยากจน ห่างไกลความเจริญ เขตชายแดนและหมู่เกาะของประเทศ
ประเทศสิงคโปร์ เป็นตัวอย่างของประเทศที่สามารถสร้าง “คน” ได้อย่างมีคุณภาพ เพราะยึดหลักพื้นฐาน คือ ชาติสำคัญกว่าชุมชน และสังคมสำคัญกว่าปัจเจกบุคคล ดังนั้น คนจึงเป็นกำลังสำคัญในการสร้างชาติ เมื่อคนเข้มแข็ง ชาติก็เข้มแข็ง โดยเริ่มตั้งแต่วัยเด็กและเยาวชน เพราะเป็นวัยแห่งการเรียนรู้
รางวัล SYA หรือรางวัลเยาวชนสิงคโปร์ (Singapore Youth Award) เป็นรางวัลระดับเยาวชนที่มีเกียรติมากที่สุดรางวัลหนึ่งในโลก ซึ่งได้มอบให้แก่เยาวชนที่มีพรสวรรค์ ในการยกระดับจิตใจและจิตวิญญาณของชุมชนและสร้างความแตกต่างให้กับประเทศชาติ โดยมุ่งเน้นไปที่บุคคลที่มีทั้งการสร้างแรงบันดาลใจให้เยาวชนและการลงมือสร้างสรรค์สิ่งดีให้ชุมชนอย่างกล้าหาญ SYA ตระหนักถึงความเป็นเลิศของเยาวชนชาวสิงคโปร์ ไม่ว่าจะเป็นเยาวชนที่มีวิสัยทัศน์ มีทัศนคติ "ทำได้ (Can-do)" ต่อความท้าทาย เยาวชนที่มีจิตวิญญาณแบบ "ไม่กลัวตาย (never-say-die)" เมื่อต้องเผชิญความยากลำบาก เยาวชนที่กล้า "ลงมือทำตามที่พูด (walk the talk)" และเยาวชนที่มีหัวใจแห่ง “การปรนนิบัติด้วยการลงมือทำจริง (serve by doing)" เพราะนี่คือ การแสดงออกถึงการมีจิตวิญญาณแห่งการเสียสละ เพื่อประโยชน์ส่วนรวม อันจะช่วยสร้างโลกที่ดีขึ้นสำหรับทุกคน
เด็กและเยาวชนไทยสามารถเป็นผู้ที่นำการเปลี่ยนแปลงได้ โดยการหล่อหลอมจากพ่อแม่ผู้เป็นแบบอย่างที่ดีของการเป็นพลเมืองในประเทศ การให้ความรู้ความเข้าใจถึงสถานการณ์ความเป็นไปของบ้านเมืองและปัญหาต่าง ๆ ในสังคมไทยและสังคมโลก การสร้างจิตสาธารณะในใจลูกด้วยแนวคิดที่ว่าในความเป็นจริงเราทุกคนล้วนมีความสามารถริเริ่มในการเป็น “ผู้ให้” หรือ “ผู้เสียสละ” ช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาสในสังคม และมีส่วนร่วมในการพัฒนาสังคมส่วนต่าง ๆ ให้เข้มแข็งขึ้นได้ทั้งสิ้น โดยการปลูกฝังตั้งแต่ในวัยเยาว์ให้เป็นลักษณะชีวิตแห่งการเป็นผู้ให้อย่างไม่เห็นแก่ตัว ตัวอย่างเช่น ส่งเสริมการเข้าร่วมกิจกรรมสาธารณะประโยชน์ต่าง ๆ การทำความสะอาดร่วมกัน ในชุมชน การเข้าร่วมใน“กองทุนเวลาเพื่อสังคม” (http://timebanksociety.org) ซึ่งเป็นแนวคิดที่ผมได้นำเสนอไว้เมื่อหลายสิบปีก่อน เริ่มจากการสังเกตเห็นว่า ทุกคนมีเวลาว่างในชีวิตประจำวันอยู่จำนวนหนึ่ง มากบ้างน้อยบ้างแตกต่างกันไป จึงคิดว่าถ้าแต่ละคนสามารถแบ่งเอาเวลาส่วนเกินที่ยังไม่ได้ใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่นี้ไปช่วยเหลือสังคมบ้าง ย่อมเป็น “พลังเวลา” ที่มีคุณค่ามหาศาลในการทำให้สังคมส่วนที่อ่อนแอกลับเข้มแข็งขึ้นมาได้
นอกจากนี้ การรวมพลังเครือข่ายเยาวชนเพื่อการทำความดี เพื่อสร้างพลังหนุนเสริม พลังการต่อรอง การช่วยเหลือระหว่างกัน เพื่อวัตถุประสงค์หรือเป้าหมายเดียวกัน นับเป็นสิ่งสำคัญยิ่ง โดยเมื่อวันที่ 15–17 ธันวาคม พ.ศ. 2560 ที่ผ่านมา สถาบันการสร้างชาติ (NBI) ที่ผมเป็นประธาน และนักศึกษาหลักสูตรนักบริหารระดับสูงเพื่อการสร้างชาติ (นสช.) รุ่นที่ 2 ได้จัดค่ายเยาวชนสร้างชาติ (NBI – Youth Camp) รุ่นที่ 1 ณ ค่ายลูกเสือ จ.ฉะเชิงเทรา มีนักเรียนและนักศึกษาเข้าร่วมค่ายกว่า 300 คนจาก 100 โรงเรียนและมหาวิยาลัย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความตระหนักแก่เด็กและเยาวชนรุ่นใหม่ให้เข้าใจถึงความจำเป็นและปรัชญาในการสร้างชาติอย่างถ่องแท้ รวมไปถึงการสร้างแรงบันดาลใจในการที่เด็ก ๆ เหล่านี้ได้กลับไปเป็นผู้ริเริ่มสร้างสรรค์โครงการเจ๋ง ๆ ระเบิดไอเดียเพื่อการทำความดี อย่างต่อยอดและยั่งยืนเพื่อประเทศชาติที่รักยิ่งของเราครับ
ที่มา: นิตยสาร M&C แม่และเด็ก
คอลัมน์ : ครอบครับสุขสันต์
คอลัมน์ : ครอบครับสุขสันต์
ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
ประธานสถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา (IFD)
kriengsak@kriengsak.com, http://www.kriengsak.com
นักวิชาการอาวุโส มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
ประธานสถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา (IFD)
kriengsak@kriengsak.com, http://www.kriengsak.com
แหล่งที่มาของภาพ:
http://motherandchild.in.th/images/stories/jaroen/0-3/62/8.1.jpg
http://motherandchild.in.th/images/stories/jaroen/0-3/62/8.2.jpg
Catagories:
Tags:
Post date:
Friday, 29 June, 2018 - 16:08
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง
เมื่อธรรมาภิบาลสั่นคลอน: บทเรียนและทางออกสำหรับตลาดทุนไทย
Total views: อ่าน 36 ครั้ง
แชร์ไอเดีย นโยบายการจัดการยาบ้าออกจากสังคมไทย
Total views: อ่าน 63 ครั้ง
ค่าแรงขั้นต่ำ: ผลกระทบต่อเศรษฐกิจและการบริหารจัดการ
Total views: อ่าน 247 ครั้ง
การหมิ่นประมาท คือ ฆาตกรรมชื่อเสียง
Total views: อ่าน 224 ครั้ง
Passive Outcome
Total views: อ่าน 284 ครั้ง