การเปลี่ยนแปลงด้านการวิจัยและการพัฒนาในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในอนาคต (จบ)

 บทความที่ผ่านมาผมกล่าวถึงเนื้อหาส่วนหนึ่งจากบรรยายพิเศษในงาน International Conference on Arts and Science 2014 ที่จังหวัดสงขลา โดยอธิบายถึงการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญของการวิจัยและพัฒนาในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อันได้แก่ การขยายตัวแบบก้าวกระโดดในการลงทุนด้านวิจัยและพัฒนา ขอบเขตงานวิจัยที่กว้างขึ้นสู่ระดับภูมิภาค และการแข่งขันด้านการวิจัยและพัฒนาที่มีรุนแรงมากขึ้น

 
บทความชิ้นนี้เป็นเนื้อหาที่ต่อเนื่องจากครั้งก่อน โดยผมจะกล่าวถึงแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของการวิจัยและพัฒนาในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อีก 3 ประการ ซึ่งเป็นผลกระทบที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจของอาเซียนภายหลังการรวมตัวกันเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน
 
1. ความร่วมมือด้านการวิจัยและพัฒนาเพิ่มมากขึ้น
 
สถาบันวิจัยและนักวิจัยในอาเซียนจะมีความสนใจร่วมกันมากขึ้นในหลายประเด็น อาทิ ปัญหาด้านพลังงาน ความปลอดภัยด้านการเกษตรและอาหาร การจัดการน้ำ เทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน และปัญหาที่เกี่ยวกับผู้สูงอายุ เป็นต้น ความสนใจร่วมจะเป็นเหตุให้เกิดความร่วมมือด้านการวิจัยและพัฒนาระหว่างประเทศมากขึ้น เพื่อลดความซ้ำซ้อน ประหยัดค่าใช้จ่ายในการทำวิจัย และแก้ปัญหาการขาดแคลนนักวิจัย
 
ภาคธุรกิจจะมีแนวโน้มแข่งขันและร่วมมือไปพร้อมๆ กัน อาทิ บริษัทที่อยู่ในอุตสาหกรรมเดียวกันจะร่วมมือทำวิจัยที่มีความสำคัญต่อความก้าวหน้าของทั้งอุตสาหกรรม การร่วมทำวิจัยกับซัพพลายเออร์ในประเด็นที่ได้ประโยชน์ร่วมกัน การร่วมกันพัฒนาและใช้โครงสร้างพื้นฐานด้านการวิจัยร่วมกัน เป็นต้น
 
บุคลากรด้านการทำวิจัยจะมีความเป็นนานาชาติมากยิ่งขึ้น เหตุเพราะจะมีการดึงดูดนักวิจัยจากหลากหลายประเทศและหลายมหาวิทยาลัยให้มาทำงานร่วมกัน ซึ่งสอดคล้องกับกระแสการทำวิจัยและพัฒนาในปัจจุบันที่มีลักษณะเป็นเครือข่ายการวิจัยระดับโลก บริษัทในตะวันตกได้เข้ามาลงทุนด้านวิจัยและพัฒนาในเอเชีย เช่นเดียวกับบริษัทในเอเชียไปลงทุนด้านวิจัยและพัฒนาในตะวันตก ส่งผลทำให้เกิดนวัตกรรมใหม่ๆ อันเกิดจากการผสมผสานทักษะและประสบการณ์ด้านการทำวิจัยและพัฒนา
 
2. ภาคเอกชนมีบทบาทในการวิจัยและพัฒนามากขึ้น
 
จากสภาวะที่ภาคเอกชนต้องเผชิญกับการแข่งขันรอบด้านจากการรวมเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี 2015 จะเป็นแรงกดดันที่ทำให้ภาคเอกชนจำเป็นต้องเพิ่มการใช้จ่ายด้านวิจัยและพัฒนา เพื่อปรับปรุงความสามารถในการแข่งขันขององค์กรให้โดดเด่นและยากที่จะเลียนแบบได้ นอกจากนี้การรวมตัวเป็นตลาดเดียวที่มีประชากรกว่า 600 ล้านคน จะจูงใจให้ภาคธุรกิจลงทุนทำวิจัยและพัฒนามากขึ้น เพราะการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อจำหน่ายในตลาดขนาดใหญ่จะมีความคุ้มค่าในการลงทุนมากกว่า นอกจากนี้ บริษัทที่จะมุ่งสู่ตลาดต่างประเทศจะลงทุนด้านวิจัยและพัฒนา เพื่อสร้างสินค้าใหม่ๆ เจาะตลาดต่างประเทศที่มีความต้องการที่แตกต่างจากในประเทศ
 
การที่ภาคเอกชนมีบทบาทในการทำวิจัยและพัฒนามากขึ้น จะทำให้ทิศทางการทำวิจัยเปลี่ยนทิศทางไป โดยจะมีการลงทุนด้านวิจัยและพัฒนาเชิงพาณิชย์เพื่อการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่สามารถให้ผลตอบแทนเชิงพาณิชย์ในระยะสั้นได้ รวมทั้งมีการวิจัยด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีและการตลาดมากขึ้น อีกทั้งภาคเอกชนยังมีบทบาทในการสนับสนุนเงินทุนวิจัยและพัฒนาแก่มหาวิทยาลัยมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลทำให้มหาวิทยาลัยทำงานวิจัยเชิงพาณิชย์มากขึ้น และมีรายได้จากกิจกรรมเชิงพาณิชย์มากขึ้นด้วย
 
3. การวิจัยและพัฒนาเชิงสหวิทยาการ (Interdisciplinary R&D)
 
แนวโน้มการวิจัยและพัฒนาในอาเซียนจะมีลักษณะเป็นสหวิทยาการมากขึ้น เนื่องจากปรากฏการณ์หรือปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นในยุคโลกาภิวัตน์ทางเศรษฐกิจจะมีความซับซ้อนและมีพลวัตมากขึ้น การศึกษาปรากฏการณ์หรือแก้ไขปัญหาหนึ่งๆ โดยใช้ศาสตร์เพียงศาสตร์เดียวจะไม่สามารถวิเคราะห์ปัญหาได้ครบทุกมิติ และทำให้การแก้ปัญหาหนึ่งจะกลับสร้างอีกปัญหาหนึ่งตามมา การศึกษาวิจัยประเด็นเหล่านี้จำเป็นต้องใช้องค์ความรู้จากหลายศาสตร์เข้ามาศึกษาร่วมกัน และถักทอโยงใยศาสตร์ต่างๆ เข้าหากันแบบบูรณาการ
 
ปัญหาสำคัญของวิจัยและพัฒนาในภาควิชาการหรือในประเทศกำลังพัฒนา คือ การที่ไม่สามารถนำผลงานวิจัยไปต่อยอดในเชิงพาณิชย์ได้ หรือผลลัพธ์ของงานวิจัยมีผลกระทบ (impact) น้อย เนื่องจากการค้นคว้าวิจัยด้านวิทยาศาสตร์เพียงด้านเดียวมีข้อจำกัดในการพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ออกสู่ตลาด ดังนั้น โครงการวิจัยและพัฒนาจึงจำเป็นต้องมีความหลากหลายของทีมงานวิจัยมากขึ้น โดยเป็นทีมงานที่เป็นผู้เชี่ยวชาญจากศาสตร์หลายแขนง
 
ไม่มีประเทศที่พัฒนาแล้วประเทศใดที่ไม่ให้ความสำคัญกับการวิจัยและพัฒนา การพัฒนาเศรษฐกิจของไทยเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันท่ามกลางการแข่งขันที่รุนแรงขึ้น และยกระดับไปสู่เศรษฐกิจที่มีรายได้สูง จึงจำเป็นต้องพึ่งพาการลงทุนด้านวิจัยและพัฒนา
 
อย่างไรก็ดี การพัฒนาวงการวิจัยและพัฒนาในประเทศไทยต้องคำนึงถึงการเปลี่ยนแปลงของแวดวงการวิจัยและพัฒนาที่กำลังจะเกิดขึ้นในภูมิภาคนี้ และกำหนดยุทธศาสตร์ด้านการวิจัยและพัฒนาของประเทศและเตรียมความพร้อมในการปรับตัวให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะเกิดขึ้น เพื่อให้การลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนามีประสิทธิภาพและให้ผลลัพธ์ที่คุ้มค่าต่อการลงทุน ไม่ใช่การผลิตผลงานวิจัยขึ้นหิ้งเหมือนอย่างที่เคยเป็นมา
 
ศ.ดร. เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส ศูนย์ศึกษาธุรกิจและรัฐบาล มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์
kriengsak@kriengsak.comhttp://www.kriengsak.com
แหล่งที่มาของภาพ : http://www.itbusiness.hu/data/cms162319/kutfejl.jpg