คนว่างงาน โจทย์ใหญ่ของประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในสมัยหน้า

 

กรุงเทพธุรกิจ
คอลัมน์ : ดร.แดน มองต่างแดน

     การว่างงานกลายเป็นปัญหาสำคัญต่อสหรัฐอเมริกา เมื่อเกิดวิกฤตเศรษฐกิจแฮมเบอร์เกอร์ในปี 2008 อัตราว่างงานในสหรัฐฯเพิ่มขึ้นถึงระดับร้อยละ 10 จากภาวะปกติที่ร้อยละ 4-5 เฉพาะในช่วงเดือนธันวาคม 2007 ถึงเดือนตุลาคม 2009 มีผู้ว่างงานเพิ่มขึ้นถึง 7.3 ล้านตำแหน่ง
ที่ผ่านมารัฐบาลของประธานาธิบดีโอบามาแก้ปัญหาการว่างงานด้วยการเพิ่มพูนทักษะความรู้แก่แรงงานไร้ฝีมือ และการใช้นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจในหลายรูปแบบเพื่อเพิ่มการจ้างงาน ซึ่งสามารถบรรเทาปัญหาได้ในระดับหนึ่ง แต่อัตราการว่างงานในปัจจุบันยังอยู่ที่ระดับสูงกว่าร้อยละ 8 ใกล้เคียงกับการว่างงานในช่วงที่ประธานาธิบดีโอบามาเข้ารับตำแหน่งใหม่ ๆ
     ปัญหาการว่างงานที่ยังคงรุนแรงได้ส่งผลกระทบต่อความนิยมในพรรคเดโมเครต โดยทำให้พรรครีพับลิกันได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสมาชิก (เลือกตั้งหนึ่งในสามของวุฒิสภา) ในปี 2010  ซึ่งสาเหตุสำคัญไม่ใช่เพราะคนอเมริกันนิยมชมชอบพรรครีพับลิกันเพิ่มขึ้น สถาบันสำรวจประชามติกัลล์อัพชี้ว่าตั้งแต่ปี 2005 จนถึงปี 2010 พรรครีพับลิกันได้ความนิยมจากชาวอเมริกันลดลงเหลือเพียงร้อยละ 40 เท่านั้น ส่วนพรรคเดโมแครตที่ปกติได้คะแนนนิยมราวร้อยละ 50 แต่นับจากปี 2010 เป็นต้นมา คะแนนนิยมตกลงเหลือร้อยละ 40 ด้วยเช่นกัน สอดคล้องกับอัตราว่างงานที่เพิ่มขึ้นสู่ระดับร้อยละ 9.4-9.9 จากเดิมที่ระดับร้อยละ 8.3 เมื่อนายบารัก โอบามาเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดี
     เหตุที่พรรครีพับลิกันได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งปี 2010 จึงเป็นเพราะประชาชนจำนวนหนึ่งที่ไม่ยึดติดกับพรรคเดโมแครตหันหลังให้พรรคด้วยเหตุคนว่างงานเพิ่มขึ้น
สถิติการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐตั้งแต่ปี 1960 เป็นต้นมายังชี้ให้เห็นว่า ปัญหาคนว่างงานเป็นเหตุให้ผู้ที่ดำรงตำแหน่งเป็นประธานาธิบดีอยู่แล้วไม่ได้รับเลือกตั้งอีกเป็นสมัยที่สอง โดยพบว่าการเลือกตั้ง 4 ครั้ง คือเมื่อปี 1976 1980 1984 และ 1992 ที่มีอัตราการว่างงานอยู่ในระดับเกินร้อยละ 7 ผลการเลือกตั้ง 3 ใน 4 ครั้งดังกล่าว ผู้ที่เป็นประธานาธิบดีอยู่ก่อนแล้วพ่ายแพ้การเลือกตั้ง 
     ด้วยบทเรียนจากผลการเลือกตั้งในปี 2010 และสถิติการเลือกตั้งประธานาธิบดีข้างต้น จึงไม่น่าแปลกใจที่พรรคเดโมแครตต้องให้ความสำคัญกับปัญหาคนว่างงาน สังเกตได้จากการที่ประธานาธิบดีโอบามาพยายามชูนโยบายการแก้ปัญหาคนว่างงานในการหาเสียง อาทิ การตัดการลดหย่อนภาษีที่ให้แก่บริษัทอเมริกาที่หันไปจ้างแรงงานต่างประเทศ การให้สิทธิพิเศษทางภาษีแก่บริษัทที่จ้างแรงงานในประเทศ การดำเนินโครงการเพิ่มพูนทักษะความรู้แก่คนงานชาวอเมริกัน การลดภาษีแก่ชนชั้นกลาง การตั้งเป้าเพิ่มการส่งออกเป็นสองเท่า และการสร้างงานในภาคอุตสาหกรรมการผลิตให้ได้ 1 ล้านตำแหน่ง
ทั้งนี้เมื่อพิจารณาสาเหตุของปัญหาการว่างงาน พบว่าการว่างงานในสหรัฐฯ เกิดจาก 3 สาเหตุหลัก 
     สาเหตุประการแรก คือ การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางเศรษฐกิจ การเติบโตของเศรษฐกิจโลกโดยเฉพาะในกลุ่มเศรษฐกิจเกิดใหม่และบรรษัทข้ามชาติเป็นต้นเหตุสำคัญที่ทำให้ตำแหน่งงานจำนวนหนึ่งถูกเคลื่อนย้ายออกจากประเทศสหรัฐฯ 
     ในช่วงทศวรรษ 1970-80 การลงทุนในอุตสาหกรรมหนักหลายประเภทลดลงอย่างต่อเนื่อง ตำแหน่งงานภาคการเกษตรก็ลดลงเช่นกัน ขณะที่อุตสาหกรรมบริการเติบโตอย่างชัดเจน โดยตำแหน่งงานที่หายไปส่วนหนึ่งเคลื่อนย้ายไปสู่ประเทศจีนและอินเดียที่มีค่าแรงต่ำกว่า
ส่วนในช่วงทศวรรษ 1990 โครงสร้างทางเศรษฐกิจเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจนตามความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี โดยเฉพาะคอมพิวเตอร์ เทคโนโลยีสารสนเทศ พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ และเทคโนโลยีชีวภาพ ผลกระทบที่เกิดขึ้นก็คือ แรงงานระดับสูง (White-collar Workers) เพิ่มจำนวนขึ้น ส่วนแรงงานระดับล่าง (Blue-collar Workers) มีจำนวนลดลง
     ผู้ว่างงานจากโรงงานอุตสาหกรรมและภาคการเกษตรจำต้องปรับเปลี่ยนทักษะ เพื่อให้สามารถทำงานด้านบริการแทน ขณะที่อุตสาหกรรมการผลิตต้องการแรงงานฝีมือมาทดแทนแรงงานไร้ฝีมือ
ยกตัวอย่างเช่น ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีสารสนเทศทำให้กิจการหนังสือพิมพ์ที่ใช้กระดาษซบเซาลงเรื่อยๆ เนื่องจากข้อมูลข่าวสารเข้าสู่ระบบดิจิตัลมากขึ้น แรงงานที่เคยทำงานกับเครื่องจักรกลในโรงพิมพ์จำต้องปรับตัวให้สามารถทำงานกับเทคโนโลยีสารสนเทศยุคใหม่ได้
     โครงสร้างเศรษฐกิจสหรัฐฯได้เปลี่ยนไปจากอดีตและกำลังเปลี่ยนแปลงสู่ความล้ำสมัยมากยิ่งขึ้นเรื่อยๆ ภาคเศรษฐกิจจึงต้องการแรงงานที่มีทักษะตามยุคสมัย และทำให้คนทำงานต้องปรับเปลี่ยนความรู้และทักษะตามความต้องการของตลาดแรงงาน
     สาเหตุประการที่สอง วิกฤตเศรษฐกิจ ภาวะเศรษฐกิจถดถอยอย่างรวดเร็วทำให้เกิดการว่างงานพร้อมๆ กันเป็นจำนวนมาก เช่นที่เกิดขึ้นเมื่อปี 2009 การแก้ไขปัญหาการว่างงานจึงต้องเร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจ และรักษาการเติบโตทางเศรษฐกิจไว้ในระดับที่เหมาะสม เพื่อรักษาระดับการจ้างงานไว้
     สาเหตุประการสุดท้าย การว่างงานแฝง ซึ่งเกิดจากผู้ว่างงานที่หางานใหม่ได้ยาก โดยเฉพาะแรงงานสูงอายุ หรือแรงงานไร้ฝีมือที่ไม่คิดว่าตนจะหางานใหม่ได้อีกจึงไม่คิดที่จะหางานอีกต่อไป การว่างงานของกลุ่มคนเหล่านี้จะไม่ปรากฏในตัวเลขผู้ว่างงาน (ตามระบบของอเมริกาผู้ว่างงานคือผู้ที่ประสงค์จะทำงานแต่ยังหางานไม่ได้) และกลายเป็นคนว่างงานแอบแฝงในสังคม
     จากสาเหตุการว่างงานข้างต้นชี้ให้เห็นว่า การแก้ปัญหาคนว่างงานที่เกิดขึ้นจากบางสาเหตุอาจต้องใช้เวลานาน โดยเฉพาะการว่างงานที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเศรษฐกิจ ซึ่งต้องใช้เวลาในการพัฒนาฝีมือและทักษะแรงงานให้ทันกับยุคสมัย เช่นเดียวกับการว่างงานแฝงที่อาจไม่สามารถแก้ไขได้หรือต้องใช้นโยบายที่สร้างสรรค์และเวลาในการเปลี่ยนแปลงทัศนคติของแรงงาน 
  ณ ขณะนี้คะแนนนิยมของประธานาธิบดีโอบามาได้เปรียบนายมิตต์ รอมนีย์ คู่แข่งจากพรรครีพับลิกันอยู่เล็กน้อย แต่ไม่ว่าใครจะขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีสหรัฐในสมัยหน้า ต่างก็ต้องเผชิญกับปัญหานี้และต้องแก้ปัญหานี้ให้ได้จึงจะได้รับความนิยมต่อไป 
 
ศ.ดร. เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส ศูนย์ศึกษาธุรกิจและรัฐบาล มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
kriengsak@kriengsak.comhttp://www.kriengsak.com