การพัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพเพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร : กรณีศึกษาประเทศจีน
ประเด็นเรื่องความมั่นคงเป็นสิ่งที่รัฐบาลในทุกประเทศให้ความสนใจ มิติเรื่องความมั่นคงที่กล่าวถึงในปัจจุบันไม่ได้มุ่งเน้นเพียงความมั่นคงทางการทหาร ความมั่นคงทางการเมืองหรือความมั่นคงทางเศรษฐกิจเท่านั้น แต่ยังกล่าวรวมมิติอื่นด้วย โดยเฉพาะประเด็นที่มีความสำคัญมากขึ้นนั่นคือ ความมั่นคงทางอาหาร
ในอนาคตทุกประเทศมีความเสี่ยงมากขึ้นที่จะประสบปัญหาเรื่องความมั่นคงทางอาหาร แต่หากพิจารณาแนวโน้มประเทศที่มีความเสี่ยงด้านความมั่นคงทางอาหารมากสุดคงหนีไม่พ้นประเทศจีน ซึ่งมีประชากรคิดเป็นร้อยละ 22 ของโลกและจำนวนประชากรมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกันจีนมีพื้นที่เพาะปลูกไม่ถึงร้อยละ 10 ของพื้นที่โลก ในปี 2015 ประชากรของจีนคาดว่าจะเติบโตถึง 1.39 พันล้านคน และรัฐบาลคาดว่าการบริโภคธัญหารในประเทศจะมากถึง 572.5 ล้านตันในปี 2020 ดังนั้นแม้เศรษฐกิจจีนจะขยายตัวสูง ทำให้ประชาชนมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น แต่ความมั่นคงด้านอาหารเป็นประเด็นที่สร้างความกังวลให้จีนมากที่สุดในเวลานี้
ด้วยเหตุนี้ในตลอดห้าปีที่ผ่านมา จีนจึงพยายามปฏิรูปภาคการเกษตรของตนเอง โดยมีเป้าหมายว่าจีนจะต้องการสามารถพึ่งพาตนเองทางด้านอาหารได้อย่างเพียงพอ ผลิตผลทางด้านการเกษตรในประเทศจะต้องสามารถตอบสนองความต้องการของประชากรได้อย่างร้อยละ 95 ของความต้องการทั้งหมด โดยสิ่งที่รัฐบาลจีนดำเนินการได้แก่
การลงทุนในด้านเทคโนโลยีชีวภาพเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง รัฐบาลจีนได้ใช้ยุทธศาสตร์การศึกษาวิจัยด้านเทคโนโลยีชีวภาพมาเป็นเสาหลักของการปฏิรูปเพื่อเพิ่มผลผลิตทางด้านการเกษตร ในปี 2008 รัฐบาลจีนมีโครงการพัฒนาสิ่งมีชีวิตข้ามสายพันธุ์ระดับชาติ (National Transgenic New Variety Development Project) ซึ่งจะลงทุนในเรื่องเทคโนโลยีชีวภาพภายใต้งบประมาณ 3,800 ล้านเหรียญสหรัฐ ภายในปี 2020 ซึ่งการลงทุนนี้จะช่วยผลักดันให้เกิดการพัฒนาเทคโนโลยีทางด้านการเกษตรทั้งหมด ซึ่งจะช่วยทำให้ผลผลิตทางการเกษตรต่อไร่เพิ่มขึ้น ที่สำคัญนอกจากรัฐบาลจีนจะเป็นผู้ลงทุนเองในเรื่องนี้แล้ว รัฐบาลยังส่งเสริมให้บริษัทข้ามชาติจำนวนมากเข้ามาลงทุนในจีนในด้านเทคโนโลยีชีวภาพจำนวนมากอีกด้วย
การสนับสนุนเทคโนโลยีพืชจีเอ็มโอหรือพืชดัดแปลงพันธุกรรมเพื่อการเพาะปลูกในเชิงพาณิชย์ นักวิทยาศาสตร์และผู้นำรัฐบาลจีนให้การสนับสนุนเทคโนโลยีพืชจีเอ็มโอหรือพืชดัดแปลงพันธุกรรมเพื่อการเพาะปลูกในเชิงพาณิชย์อย่างเต็มที่ เนื่องจากเทคโนโลยีนี้สามารถช่วยให้ผลผลิตเพิ่มขึ้นและสามารถออกแบบมาเพื่อต้านทานศัตรูพืชและโรคต่างๆ ของพืช รวมทั้งมีความสามารถในการทนต่อสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงได้ ที่ผ่านมาจีนเป็นหนึ่งในผู้บุกเบิกการปลูกพืชจีเอ็มโอ เช่น ฝ้าย ซึ่งปัจจุบัน ร้อยละ 71 ของฝ้ายที่ผลิตทั้งหมดในประเทศจีนเป็นฝ้ายจีเอ็มโอ โดยฝ้ายจีเอ็มโอให้ผลผลิตมากขึ้นกว่าฝ้ายปรกติร้อยละ 10 และช่วยสร้างรายได้เพิ่มเติมให้แก่เกษตรกรรายย่อยกว่า 220 เหรียญสหรัฐต่อเฮกตาร์ ตั้งแต่ปี 1997 - 2010 จีนได้ประโยชน์จากรายได้ที่เพิ่มขึ้นจากการปลูกฝ้ายจีเอ็มโอถึง 11 พันล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งนอกจากฝ้ายแล้วจีนยังมีมติอนุมัติการผลิตมะละกอ ข้าว และข้าวโพดบางสายพันธุ์เพื่อเชิงพาณิชย์ด้วย แต่ที่ผ่านมา การดำเนินการยังไม่ได้รับสนับสนุนเต็มที่นัก เนื่องจากความกังวลของประชาชนเกี่ยวกับความปลอดภัยในการบริโภคพืชจีเอ็มโอ
เมื่อหันกลับมาพิจารณาความมั่นคงทางอาหารของไทย เราจะพบว่าไทยเองมีความเสี่ยงที่จะต้องเผชิญวิกฤตความมั่นคงทางอาหารในอนาคตเช่นเดียวกัน ซึ่งเป็นผลมาจากปัจจัยหลายประการ เช่น การเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากร พื้นที่การเพาะปลูกพืชอาหารลดลงจากการเปลี่ยนเป็นการปลูกพืชด้านพลังงาน ผลผลิตต่อไร่ของพืชผลทางการเกษตรที่ต่ำกว่าประเทศอื่นโดยเปรียบเทียบ การขยายตัวของชุมชนเมืองและอุตสาหกรรมรุกล้ำพื้นที่เกษตร พื้นดินที่ขาดความอุดมสมบูรณ์ การเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศอย่างรวดเร็วที่ส่งผลกระทบต่อผลผลิตและการเกิดโรคพืชชนิดใหม่ เกษตรกรส่วนใหญ่ยังประสบปัญหาหนี้สินและไม่มีพื้นที่เพาะปลูกเป็นของตัวเอง หรือปัญหาคนรุ่นใหม่ไม่อยากมีอาชีพเป็นเกษตรกร เป็นต้น
จากความเสี่ยงข้างต้น ปัญหานี้มีแนวโน้มที่จะทวีความรุนแรงมากขึ้นทุกวัน แต่ดูเหมือนรัฐบาลไทยยังไม่มีการกำหนดเป้าหมายและยังไม่มีแนวทางในการรับมือกับวิกฤติด้านความมั่นคงทางอาหารที่กำลังจะเกิดขึ้นอย่างชัดเจนเท่าไรนัก
ผมคิดว่าจากตัวอย่างยุทธศาสตร์ของจีนอาจเป็นบทเรียนแก่ไทยได้ในเรื่องสำคัญ เช่น
1) การลงทุนเพื่อวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพและการสร้างนวัตกรรมภาคการเกษตรอย่างจริงจัง รัฐบาลไทยควรตั้งเป้าว่าจะเพิ่มผลผลิตภาคการเกษตรที่สำคัญประเภทใดบ้าง ร้อยละเท่าไร ในเวลากี่ปี จะต้องใช้งบประมาณเท่าไร ภาครัฐควรจะมีเมกะโปรเจ็คต์ขนาดใหญ่เพื่อพัฒนาภาคการเกษตรอย่างจริงจัง นอกจากนี้ยังควรส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีภาคการเกษตรมากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
2) การวิจัยเพื่อค้นหาคำตอบและกำหนดจุดยืนที่ชัดเจนเรื่องการปลูกพืชจีเอ็มโอ ภาครัฐควรสนับสนุนการปลูกพืชจีเอ็มโอหรือไม่ ยังเป็นข้อถกเถียงที่หาข้อสรุปไม่ได้ เนื่องจาก วิทยาศาสตร์ในปัจจุบันยังไม่สามารถสรุปได้ว่าการใช้พืชจีเอ็มโอจะส่งผลอย่างไรบ้าง ผมคิดว่าเป็นไปได้หรือไม่ที่จะร่วมมือกันระหว่างประเทศเพื่อทำการวิจัยอย่างเป็นวิทยาศาสตร์เพื่อค้นหาคำตอบที่ชัดเจนในเรื่องนี้ เนื่องจากคำตอบที่ชัดเจนย่อมเป็นประโยชน์กับทุกประเทศ เพื่อในอนาคตเราจะสามารถตอบได้ว่าควรสนับสนุนการปลูกพืชจีเอ็มโอหรือไม่อย่างเป็นวิทยาศาสตร์ และเพื่อเราจะแน่ชัดว่าเราควรผลักดันนโยบายส่งเสริมการปลูกพืชจีเอ็มโอเพื่อเป็นเครื่องมือในการสร้างความมั่นคงทางอาหารหรือไม่ เป็นต้น
วิกฤติความมั่นคงทางอาหารเป็นสิ่งที่ทุกประเทศต้องเผชิญ แต่ไม่ใช่ทุกประเทศที่เตรียมตัวที่จะเผชิญสภาวะดังกล่าว ผมหวังว่าหากเวลานั้นมาถึง ประเทศไทยจะพร้อมรับกับปัญหา ไม่ใช่ตามแก้ปัญหาหรือรอรับความช่วยเหลือเหมือนอย่างที่เป็นมาหลายเรื่องในอดีต
ศ.ดร. เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส ศูนย์ศึกษาธุรกิจและรัฐบาล มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
kriengsak@kriengsak.com, http://www.kriengsak.com
นักวิชาการอาวุโส ศูนย์ศึกษาธุรกิจและรัฐบาล มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
kriengsak@kriengsak.com, http://www.kriengsak.com
Catagories:
Tags:
Post date:
Wednesday, 5 September, 2012 - 15:51
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง
ปัจจัยความสำเร็จสู่ประเทศชั้นนำด้านนวัตกรรม
Total views: อ่าน 2,076 ครั้ง
การบริหารภาครัฐภายใต้สภาวะการเปลี่ยนแปลงในอนาคต
Total views: อ่าน 3,387 ครั้ง
แนวโน้มภัยคุกคามของการก่อการร้ายโลก
Total views: อ่าน 8,755 ครั้ง
คลังสมอง (Think - Tank) กับการพัฒนาประเทศไทย
Total views: อ่าน 6,676 ครั้ง
คอร์รัปชั่นลดจริง? ต้องดูหลังเลือกตั้ง
Total views: อ่าน 4,393 ครั้ง