ประสานพลังรัฐ-เอกชน-ประชาชน: ดัชนีประสิทธิผลไทยไตรมาส1/2559

เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2559 ผมได้แถลงสรุปผลดัชนีประสิทธิผลประเทศไทย (Thailand Effectiveness Index - TE Index) ประจำไตรมาสที่ 1 ณ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เพื่อเปรียบเทียบดัชนีประสิทธิผลภาครัฐ (Public Sector Effectiveness Index: PBE Index) ดัชนีประสิทธิผลภาคเอกชน (Private Sector Effectiveness Index: PVE Index) และดัชนีประสิทธิผลภาคประชาชน (People Sector Effectiveness Index: PPE Index)

การเปรียบเทียบประสิทธิผลขององค์กรสามประเภท

ผลการสำรวจในภาพรวมของทั้ง 3 ดัชนี พบว่า องค์กรภาคประชาชนมีประสิทธิผลในการขับเคลื่อนประเทศให้เกิดการพัฒนาสูงสุด โดยได้คะแนนร้อยละ 66.38 รองลงมาคือ ภาคเอกชน ซึ่งมีคะแนนในภาพรวมร้อยละ 60.98 ในขณะที่ภาครัฐ เป็นภาคส่วนที่ประชาชนมองว่ามีประสิทธิผลในการขับเคลื่อนประเทศให้เกิดการพัฒนาน้อยที่สุด โดยได้คะแนนเพียงร้อยละ 51.15

เมื่อพิจารณาผลการเปรียบเทียบระหว่างตัวชี้วัดย่อยของทั้ง 3 ดัชนี พบข้อสังเกตดังต่อไปนี้

ประการแรก องค์กรภาคประชาชนมีประสิทธิภาพในการทำงานสูงกว่าภาครัฐและเอกชน

ภาครัฐได้คะแนนในตัวชี้วัดประสิทธิภาพการทำงานเพียงร้อยละ 51.76 ภาคเอกชนร้อยละ 59.49 และภาคประชาชนร้อยละ 67.59 ซึ่งสะท้อนว่า ประชาชนเห็นว่าองค์กรภาคประชาชนปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ คุ้มค่า และฉับไวทันการณ์มากกว่าภาคส่วนอื่น

ประการที่สอง องค์กรภาคประชาชนปลอดจากการคอร์รัปชันมากที่สุดเมื่อเทียบกับภาคอื่น

ภาครัฐได้คะแนนในตัวชี้วัดด้านการทำงานที่ปลอดจากการคอร์รัปชันเพียงร้อยละ 48.33 ภาคเอกชนร้อยละ 58.57 และภาคประชาชนร้อยละ 67.37 สะท้อนว่า ภาครัฐควรพิจารณายกประเด็นการปราบปรามการคอร์รัปชันให้เป็นวาระแห่งชาติ เพื่อสร้างความมั่นใจและความเชื่อถือจากภาคประชาชน

ประการที่สาม องค์กรภาครัฐต้องเพิ่มความน่าเชื่อถือเรื่องการทำงานอย่างมืออาชีพ

ตัวชี้วัดด้านการทำงานอย่างมืออาชีพของภาครัฐมีคะแนนเพียงร้อยละ 51.01 ภาคเอกชนร้อยละ 58.63 และภาคประชาชนร้อยละ 65.68

ประการที่สี่ องค์กรภาคเอกชนสร้างพันธมิตรและทำงานบูรณาการร่วมกับหน่วยอื่นได้ดี

หน่วยงานภาครัฐได้คะแนนในตัวชี้วัดดังกล่าว ร้อยละ 54.89 ภาคเอกชนร้อยละ 62.51 และภาคประชาชนร้อยละ 65.16 ซึ่งสะท้อนว่า ประชาชนเห็นว่าองค์กรภาคประชาชนสามารถสร้างพันธมิตรและทำงานบูรณาการร่วมกับหน่วยงานอื่นๆ ได้ดีกว่าภาคส่วนอื่น
 
อย่างไรก็ตาม องค์กรภาคเอกชนมีความสามารถในการสร้างพันธมิตรและทำงานร่วมกับหน่วยอื่นๆ ได้ดีที่สุด เมื่อเปรียบเทียบกับมิติอื่นๆ ของภาคเอกชน โดยมิติดังกล่าวนี้ ภาคเอกชนได้คะแนนเป็นลำดับต้นๆ ในบรรดาตัวชี้วัดทั้งหมด

ประการที่ห้า องค์กรภาคเอกชนและองค์กรภาคประชาชนปฏิบัติงานได้อย่างโปร่งใสในระดับใกล้เคียงกัน ทิ้งห่างจากภาครัฐ

หน่วยงานภาครัฐได้คะแนนในตัวชี้วัดดังกล่าวเพียงร้อยละ 50.37 ขณะที่ภาคเอกชน และภาคประชาชน ได้คะแนนร้อยละ 62.50 และร้อยละ 67.42 ตามลำดับ ซึ่งสะท้อนว่า ประชาชนเห็นว่าองค์กรภาคประชาชนทำงานอย่างเปิดเผย ไม่เจตนาปิดบัง ซ่อนเร้น อำพราง และยินดีได้รับการตรวจสอบจากผู้รับบริการ ในระดับที่ไม่ต่างจากภาคเอกชนมากนัก

ประการที่หก จุดอ่อนขององค์กรภาคประชาชนอยู่ที่ความรับผิดรับชอบ

เมื่อเปรียบเทียบตัวชี้วัดด้านการทำงานอย่างรับผิดรับชอบ หน่วยงานภาครัฐได้คะแนนร้อยละ 54.47 ภาคเอกชนร้อยละ 58.82 และภาคประชาชนร้อยละ 63.80
 
ถึงแม้ว่า ประชาชนเห็นว่าองค์กรภาคประชาชนมีความรับผิดรับชอบสูงกว่าองค์กรภาครัฐและภาคเอกชน แต่หากเปรียบเทียบกับมิติด้านอื่นๆ ของภาคประชาชนเองกลับพบว่า ความรับผิดรับชอบเป็นมิติที่ภาคประชาชนได้คะแนนต่ำที่สุดในบรรดาตัวแปรทั้งหมดจากดัชนีประสิทธิผลภาคประชาชน

ทิศทางการประสานพลังขององค์กรสามประเภท

จากผลสำรวจทั้ง 3 ดัชนี จะเห็นได้ว่าภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชนมีจุดดี จุดเด่น และจุดด้อยแตกต่างกันไป ด้วยเหตุนี้ เพื่อการขับเคลื่อนประเทศไทยให้เจริญเติบโตและมีเสถียรภาพทางสังคมและเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน ทั้ง 3 ภาคส่วนควรจะประสานพลังกัน
 
การประสานพลังกัน หมายถึง การร่วมมือ การใช้จุดเด่นและจุดแกร่งของแต่ละภาคส่วน มาสนับสนุนงานภาพรวมของประเทศ อีกทั้งต้องเสริมสร้างกันและกันให้แต่ละภาคทำบทบาทหน้าที่ของตนเองได้ดียิ่งขึ้น ไม่ขัดแย้ง ขัดขวางกันเอง หรือยึดผลประโยชน์เฉพาะพวกของตนเป็นหลักเท่านั้น แต่ภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชนต้องยึดผลประโยชน์ภาพรวมของประเทศเป็นประโยชน์สูงสุดร่วมกัน
 
ผมจึงมีข้อเสนอแนะเพื่อประสานพลังระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน โดยมีข้อเสนอบทบาทการประสานพลังขององค์กรประเภทหนึ่งที่มีต่อองค์กรประเภทอื่นใน 6 ทิศทาง ดังต่อไปนี้

ทิศทางที่หนึ่ง บทบาทขององค์กรภาครัฐต่อองค์กรภาคประชาชน
การที่ประชาชนเห็นว่าภาคประชาชนตอบสนองต่อความต้องการได้ดี ประชาชนมีความเชื่อมั่นในองค์กรภาคประชาชน และองค์กรประชาชนมีประสิทธิภาพการทำงานสูง ภาครัฐควรพิจารณาการถ่ายโอนหน้าที่ความรับผิดชอบบางอย่างให้กับองค์กรภาคประชาชนได้ดำเนินการ หรือให้องค์กรภาคประชาชนได้ร่วมในการผลิตและให้บริการสาธารณะ โดยเฉพาะในเรื่องที่เป็นความต้องการเร่งด่วน เฉพาะหน้า หรือในเรื่องที่องค์กรภาคประชาชนมีศักยภาพสามารถดำเนินการเองได้ และทำได้ดีกว่าองค์กรภาครัฐ
 
ทิศทางที่สอง บทบาทขององค์กรภาคประชาชนต่อองค์กรภาครัฐ
การที่ประชาชนมีความเชื่อถือไว้ใจองค์กรภาคประชาชน ในเรื่องความสุจริตและการปลอดการคอร์รัปชัน แต่องค์กรภาคเอกชนยังคงมีบทบาทค่อนข้างน้อยในการติดตามการทำงานของภาคส่วนอื่นและการสะท้อนความคิดเห็นของประชาชน ดังนั้นองค์กรภาคประชาชนควรจะเพิ่มบทบาทในการติดตาม ตรวจสอบ การทำงานภาครัฐ เพื่อช่วยให้ภาครัฐปฏิบัติงานอย่างซื่อสัตย์สุจริต โปร่งใส และมีความรับผิดชอบยิ่งขึ้น

ทิศทางที่สาม บทบาทขององค์กรภาคเอกชนต่อองค์กรภาคประชาชน
ดัชนี PVE สะท้อนว่า ประชาชนยังเห็นว่าองค์กรภาคเอกชนยังมีบทบาทน้อยในเรื่องของการรณรงค์ทางสังคม และการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคม ภาคเอกชนควรพิจารณาเพิ่มระดับร่วมมือกับองค์กรภาคประชาชนในการเข้าไปช่วยเหลือดูแลสังคม ภาคเอกชนอาจพิจารณาในการร่วมมือทำโครงการพัฒนาสังคมกับองค์กรภาคประชาชน

ทิศทางที่สี่ บทบาทขององค์กรภาคประชาชนต่อองค์กรภาคเอกชน
องค์กรภาคประชาชนควรจะร่วมมือกับภาคเอกชนเพื่อเพิ่มบทบาทในการตรวจสอบการทำงานภาครัฐ ซึ่งจะช่วยลดการทำผิดการคอร์รัปชันในองค์กรภาคเอกชนไปด้วยในคราวเดียวกัน

ทิศทางที่ห้า บทบาทขององค์กรภาครัฐต่อองค์กรภาคเอกชน
จุดอ่อนประการหนึ่งของภาคเอกชน คือ การขาดนวัตกรรม ขาดการริเริ่มสร้างสรรค์ใหม่ๆ ซึ่งเป็นสิ่งที่ภาครัฐสามารถส่งเสริมได้ โดยการสนับสนุนด้านการวิจัยและพัฒนา เพิ่มแรงจูงใจภาคเอกชนในการลงทุนด้านการวิจัย การร่วมมือกับสถาบันการศึกษา และการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาอย่างมีประสิทธิผล

ทิศทางที่หก บทบาทขององค์กรเอกชนต่อองค์กรภาครัฐ
ภาคเอกชนควรทำการผลิตและพัฒนาการดำเนินการให้ได้ตามมาตรฐานนานาชาติ ซึ่งจะช่วยลดภาระของภาครัฐในด้านการตรวจสอบลง
 
ดัชนีประสิทธิผลประเทศไทยที่จัดทำโดยสภาปัญญาสมาพันธ์ เกิดจากเจตจำนงในการกระตุ้นให้องค์กรต่างๆ แข่งขันกัน โดยการพัฒนาองค์กรของตนให้มีส่วนในการพัฒนาประเทศมากยิ่งขึ้น แต่สิ่งที่สำคัญกว่าการแข่งขันกัน คือ การทำให้เห็นจุดอ่อนและจุดแข็งขององค์กรแต่ละประเภท เพื่อที่องค์กรต่างๆ จะหันมาร่วมมือกันตามจุดแข็งและจุดอ่อน เพื่อให้การพัฒนาประเทศเกิดประสิทธิผลมากกว่าต่างคนต่างทำ
 
 
ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ
คอลัมน์ : ดร.แดน มองต่างแดน
 
ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
ประธานสถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา (IFD)
Catagories: