ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างไทยกับภาคตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดีย (1)

กรุงเทพธุรกิจ
คอลัมน์ : ดร.แดน มองต่างแดน

ผมได้รับเชิญไปบรรยายเรื่อง ?ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างภาคตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดียและไทยในมุมมองของไทย?(Economic Relation between North East India and Thailand in Thai Perspective) ณ มหาวิทยาลัยมณีปุระ (Manipur Central University) ในเมืองอิมฟาล (Imphal) ในประเทศอินเดีย เมื่อวันที่ 24 มีนาคมที่ผ่านมา

ผู้จัดงานได้กำหนดวัตถุประสงค์ของการบรรยายว่า ต้องการทราบมุมมองของผมเกี่ยวกับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจของไทยกับภูมิภาคดังกล่าวของอินเดีย โอกาสและข้อจำกัด และข้อเสนอแนะในการพัฒนาความสัมพันธ์ดังกล่าวในมุมมองนักวิชาการไทย

ผมเห็นว่าข้อมูลและความเห็นของผมน่าจะเป็นประโยชน์ต่อทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และผู้อ่านทั่วไป เนื่องจากอินเดียเป็นตลาดที่มีขนาดใหญ่และมีอัตราการขยายตัวสูง จึงนับเป็นโอกาสที่ดีของประเทศไทยที่จะแสวงหาประโยชน์จากตลาดใหม่แห่งนี้ โดยบทความนี้จะแบ่งเป็นสองตอน โดยในตอนแรกจะกล่าวถึงสถานะความสัมพันธ์และโอกาสทางเศรษฐกิจของไทยและภาคอีสานของอินเดีย ส่วนบทความในครั้งต่อไปจะกล่าวถึงข้อเสนอแนะในการพัฒนาความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจของทั้งสองประเทศ

หากพิจารณาถึงเจตจำนงทางการเมืองของทั้งสองประเทศ รัฐบาลไทยและอินเดียต่างมีความประสงค์ที่จะเปิดความสัมพันธ์ระหว่างกันมากขึ้น รัฐบาลได้ริเริ่มนโยบายมองตะวันตกในปี พ.ศ.2539 เพื่อแสวงหาตลาดใหม่ๆ แหล่งพลังงาน และแหล่งที่มาของเงินลงทุน ขณะที่รัฐบาลอินเดียได้กำหนดนโยบายมองตะวันออก โดยมีเป้าหมายส่วนหนึ่งเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจของรัฐทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดีย ซึ่งเป็นภูมิภาคที่ไม่มีทางออกสู่ทะเลและอยู่ห่างไกลจากพื้นที่ส่วนอื่นของอินเดีย พื้นที่นี้ยังมีปัญหาต่างๆ อาทิ ความขัดแย้งระหว่างเชื้อชาติ กระบวนการแบ่งแยกดินแดน การก่อการร้ายข้ามพรมแดน ปัญหาผู้อพยพ ความล้าหลังของการพัฒนาเศรษฐกิจ ฯลฯ

สถานะความร่วมมือระหว่างไทยและอินเดียมีกรอบความร่วมมือที่สำคัญหลายฉบับ อาทิ ข้อตกลงเขตการค้าเสรีไทย - อินเดียที่มีการขจัดกำแพงภาษีสินค้า 82 รายการในปี พ.ศ.2549 ข้อตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน - อินเดีย ซึ่งกำหนดให้มีการลดภาษีนำเข้าสินค้าส่วนใหญ่ของประเทศอาเซียน 5 ประเทศและอินเดียเหลือร้อยละ 0 ในปีที่ผ่านมา ส่วนประเทศ CLMV จะลดภาษีในปี พ.ศ.2564 กรอบความร่วมมืออาเซียน + 6 และความริเริ่มแห่งอ่าวเบงกอลสำหรับความร่วมมือหลากหลายสาขาทางวิชาการและเศรษฐกิจ (BIMST-EC) (อย่างไรก็ดี ความร่วมมือภายใต้กรอบ BIMSTEC ยังไม่ก้าวหน้ามากนัก)

ไทยและอินเดียยังได้ริเริ่มโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเชื่อมโยงการคมนาคมระหว่างประเทศหลายโครงการ อาทิ โครงการทางหลวงไตรภาคีอินเดีย-พม่า-ไทย (India-Myanmar-Thailand trilateral highway) จากรัฐมณีปุระในอินเดียมายังแม่สอดของประเทศไทย รวมระยะทาง 1,360 กิโลเมตร ที่คาดว่าจะแล้วเสร็จในอีก 2 ปี โครงการเชื่อมโยงทางรถไฟเดลี-ฮานอย (Delhi - Hanoi Railway Link) ที่คาดว่าการเชื่อมโยงเส้นทางรถไฟจากเดลีมายังเมืองอิมฟาลจะแล้วเสร็จในปี พ.ศ.2560 จากนั้นจึงเริ่มฟื้นฟูเส้นทางรถไฟในพม่า โครงการระเบียงเศรษฐกิจแม่โขง-อินเดีย (Mekong - India Economic Corridor) ที่พยายามเชื่อมโยงเส้นทางการขนส่งระหว่างเมืองโฮจิมินห์ ผ่านพนมเปญ กรุงเทพฯ ไปยังเมืองทวายในพม่า ซึ่งจะเชื่อมต่อกับการขนส่งทางเรือกับเมืองเชนไนของอินเดีย โดยมีโครงการสำคัญคือ โครงการทวายที่จะมีการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึก นิคมอุตสาหกรรม และแหล่งที่อยู่อาศัย ศูนย์ธุรกิจ และการท่องเที่ยว

กรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระหว่างประเทศจะช่วยสร้างโอกาสดังต่อไปนี้

โอกาสทางการค้า

สินค้าไทยมีโอกาสเข้ามาเจาะตลาดภาคอีสานของอินเดียมากขึ้น เพราะสินค้าอุปโภคบริโภคของไทยมีคุณภาพและราคาสมเหตุสมผล เป็นที่ยอมรับของประชาชนในประเทศเพื่อนบ้าน ต้นทุนการนำเข้าไปยังอินเดียจะลดลง เพราะการพัฒนาเส้นทางคมนาคมทำให้ต้นทุนการขนส่งลดลง และเดิมทีอินเดียมีอัตราภาษีนำเข้าและมาตรการกีดกันสูง การเปิดเสรีจะทำให้ต้นทุนลดลงไปได้มาก ขณะที่เศรษฐกิจในภาคอีสานของอินเดียมีอัตราการขยายตัวสูงส่งผลทำให้มีกำลังซื้อสูงขึ้น แต่ไทยยังทำการค้ากับภูมิภาคนี้ค่อนข้างน้อย จึงทำให้มีโอกาสทางการตลาดอีกมาก

ตัวอย่างสินค้าที่ไทยจะได้รับประโยชน์จากการลดภาษีของอินเดีย เช่น เคมีภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์พลาสติก อัญมณีและเครื่องประดับ ชิ้นส่วนยานยนต์ ผลิตภัณฑ์อะลูมิเนียม เฟอร์นิเจอร์และส่วนประกอบ เครื่องสำอาง ผักและพืชประเภทถั่ว อาหารปรุงแต่ง ปลาซาร์ดีนกระป๋อง และน้ำผลไม้ เป็นต้น ในทำนองเดียวกันภาคตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดียมีโอกาสส่งออกมากขึ้นเช่นกัน โดยเฉพาะสินค้าที่เป็นอุตสาหกรรมหลัก คือ สินแร่ น้ำมัน ถ่านหินและก๊าซธรรมชาติ และสินค้าเกษตร โดยเฉพาะใบชา และไม้ไผ่

โอกาสด้านการลงทุน

ปัจจุบัน การลงทุนระหว่างไทยกับอินเดีย ส่วนใหญ่เป็นกิจการขนาดใหญ่ แต่การลงทุนระหว่างภาคอีสานของอินเดียและไทยยังมีไม่มากนัก ถึงกระนั้น การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเชื่อมโยงระหว่างประเทศน่าจะเป็นโอกาสที่ดีสำหรับนักลงทุนจากไทย โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมสำรวจและผลิตปิโตรเลียมและอุตสาหกรรมเหมืองแร่ เพราะในภูมิภาคดังกล่าวของอินเดียมีแหล่งน้ำมันดิบถึง 1.3 พันล้านตัน ก๊าซธรรมชาติ 156 พันล้านคิวบิกเมตร และแร่ธาตุต่าง ๆ และรัฐบาลอินเดียยังมีนโยบายเปิดประมูลพื้นที่สำรวจและขุดเจาะน้ำมันให้แก่เอกชนทั้งในท้องถิ่นและต่างชาติ

โครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำเป็นอีกอุตสาหกรรมที่น่าลงทุน เพราะภูมิภาคนี้มีปริมาณน้ำฝนมากและภูมิประเทศมีศักยภาพในการผลิตไฟฟ้าจากพลังน้ำ รวมทั้งรัฐบาลอินเดียยังสนับสนุนการลงทุนในสาขานี้ เช่นเดียวกับการลงทุนในอุตสาหกรรมแปรรูปการเกษตรและอาหาร เพราะพื้นที่นี้เป็นแหล่งเพาะปลูกพืชผลทางการเกษตรเป็นส่วนใหญ่ และธุรกิจไทยมีเทคโนโลยีในด้านการแปรรูปอาหาร นอกจากนี้ยังมีอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว การก่อสร้างและการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่น่าจะเป็นโอกาสสำหรับนักลงทุนไทย เพราะภาคอีสานของอินเดียเป็นแหล่งท่องเที่ยวใหม่ และมีความต้องการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเป็นจำนวนมาก

อย่างไรก็ดี อินเดียยังมีข้อจำกัดด้านการลงทุนอยู่พอสมควร หากพิจารณาอันดับความง่ายในการลงทุนที่จัดทำโดยธนาคารโลก หรือ Doing Business อันดับของอินเดียอยู่ต่ำมาก กล่าวคือ อันดับที่ 133 ในปี พ.ศ. 2553 เนื่องจากกฎระเบียบและวิธีการขออนุญาตลงทุนยังไม่มีมาตรฐานและล่าช้า รัฐต่างๆ ของอินเดียยังมีกฎระเบียบที่แตกต่างกัน การขอสินเชื่อของธุรกิจต่างชาติค่อนข้างยากและมีต้นทุนสูง การขาดการและเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารระหว่างกัน และโครงสร้างพื้นฐานที่ไม่เพียงพอ

ส่วนข้อจำกัดการลงทุนในประเทศไทยในมุมมองของอินเดีย คือ การขาดข้อมูลข่าวสารด้านนโยบายและภาคเศรษฐกิจที่มีศักยภาพ นักลงทุนของอินเดียยังหุ้นส่วนทางธุรกิจที่น่าเชื่อถือได้ยาก เช่นเดียวกับการหาบุคลากรได้ยาก ขณะที่กระบวนการขออนุญาตลงทุนยังมีข้อจำกัด

โอกาสด้านการท่องเที่ยว

การท่องเที่ยวระหว่างไทยและภาคตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดียมีแนวโน้มจะขยายตัวมากขึ้น เพราะประเทศไทยเป็นเป้าหมายการท่องเที่ยวหลักของนักท่องเที่ยวอินเดียอยู่แล้ว โดยคนอินเดียเดินทางมาประเทศไทยมากกว่า 1 ล้านคนต่อปี และประเทศไทยยังเป็นสถานที่ยอดนิยมในการถ่ายทำภาพยนตร์ของบอลลีวูด (Bollywood) ทำให้สถานที่ท่องเที่ยวในประเทศไทยเป็นที่รู้จักของคนอินเดีย

ในทำนองเดียวกัน ภาคอีสานของอินเดียจะมีโอกาสรับนักท่องเที่ยวชาวไทยมากขึ้น แม้ว่ายังไม่เป็นที่รู้จักของคนไทยมากนัก แต่เมื่อการเดินทางสะดวกมากขึ้น พื้นที่นี้จะเป็นเส้นทางการท่องเที่ยวใหม่ที่น่าสนใจสำหรับคนไทย เพราะเป็นเส้นทางท่องเที่ยวต่อเนื่องจากเมียนมาร์ ซึ่งคนไทยต้องการเข้ามาท่องเที่ยวอยู่แล้ว ยิ่งไปกว่านั้นประชาชนในรัฐอัสสัมยังมีคนเผ่าไทต่างๆ เช่น ไทอาหม ไทคำตี่ ไทคำยัง ไทผาเก ไทอายตอน และไทตุรุง เป็นต้น ซึ่งมีขนบธรรมเนียมประเพณีต่างๆ โดยเฉพาะเครื่องแต่งกายและภาษาไทที่มีความคล้ายคลึงกับภาษาไทยภาคเหนืออยู่มาก ดินแดนแห่งนี้ยังมีโอกาสเป็นประตูการท่องเที่ยวไปยังเนปาล ภูฏาน ซึ่งคนไทยรู้จักดีอยู่แล้ว

อย่างไรก็ดี ข้อจำกัดสำหรับการท่องเที่ยวภาคตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดียในมุมมองของคนไทย คือ ความจำกัดของข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยวและตัวแทนท่องเที่ยว และการขาดแคลนโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวกด้านการท่องเที่ยว

เราจะเห็นได้ว่า ภาคอีสานของอินเดียเป็นโอกาสใหม่ที่กำลังเปิดออกสำหรับประเทศไทย แม้จะยังมีข้อจำกัดอยู่มาก แต่ข้อจำกัดดังกล่าวมีแนวโน้มลดลงเรื่อยๆ ในบทความตอนต่อไป ผมจะกล่าวถึงข้อเสนอแนะในการพัฒนาความสัมพันธ์ของไทยกับภูมิภาคนี้ของอินเดีย เพื่อทำให้ข้อจำกัดลดลงมากที่สุด

ศ.ดร. เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส ศูนย์ศึกษาธุรกิจและรัฐบาล มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์
kriengsak@kriengsak.com, http://www.kriengsak.com
แหล่งที่มาของภาพ : http://sameaf.mfa.go.th/upload/iblock/104/SAMEAF--Thai%20India%20Flag.jpg