เมื่อการทดสอบขีปนาวุธติดหัวรบนิวเคลียร์ ของเกาหลีเหนือไม่น่าตื่นเต้น

กรุงเทพธุรกิจ
คอลัมน์ : ดร.แดน มองต่างแดน

สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนเกาหลีหรือที่นิยมเรียกว่าประเทศเกาหลีเหนือ ตกเป็นข่าวที่สื่อนานาชาติจับจ้องอีกครั้งเมื่อประกาศว่าจะปล่อยจรวดเพื่อส่งดาวเทียมเข้าวงโคจรในช่วงระหว่างวันที่ 10 -22 ธันวาคม 2012 ในมุมมองของสหรัฐอเมริกากับมิตรประเทศในคาบสมุทรเกาหลีต่างตีความว่าแผนดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาขีปนาวุธพิสัยไกลติดหัวรบนิวเคลียร์ตามนโยบายความมั่นคงของเกาหลีเหนือ

แม้เกาหลีเหนือจะพัฒนาอาวุธร้ายแรง แต่ไม่ประสบผลคืบหน้าเท่าที่ควร


การจะเข้าใจนโยบายต่างประเทศสหรัฐฯ ต่อเกาหลีเหนืออย่างถูกต้องจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องเข้าใจแนวทางการมองภัยคุกคามที่แตกต่างของรัฐบาลอเมริกันในแต่ละยุคสมัย

รัฐบาลอเมริกันบางสมัย เช่น สมัยประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิ้ลยู. บุช ยึดแนวทางว่าเกาหลีเหนือเป็นภัยคุกคามร้ายแรง เพราะแสดงท่าทีแข็งกร้าว มีกองทัพขนาดใหญ่ พยายามพัฒนาขีปนาวุธพิสัยไกลและอาวุธนิวเคลียร์ แนวทางนี้ถึงกับประเมินว่าอีกไม่นานสหรัฐฯ จะถูกคุกคามด้วยขีปนาวุธติดหัวรบนิวเคลียร์จากเกาหลีเหนือ และผู้ก่อการร้ายอาจใช้อาวุธนิวเคลียร์จากประเทศนี้โจมตีสหรัฐฯ

แนวทางนี้สามารถเทียบเคียงได้กับโครงการพัฒนานิวเคลียร์ของอิหร่าน เชื่อมโยงว่าอิหร่านสนับสนุนกลุ่มผู้ก่อการร้ายหลายกลุ่ม มีโอกาสเป็นไปได้สูงที่อาวุธนิวเคลียร์ของอิหร่านจะถูกนำมาโจมตีสหรัฐฯ กับพันธมิตรไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง

ประธานาธิบดีอเมริกาที่ยึดแนวทางดังกล่าวจึงเห็นว่าทั้งเกาหลีเหนือกับอิหร่านเป็นภัยคุกคามร้ายแรง เป็นประเทศเป้าหมายที่สหรัฐฯ จะต้องต่อต้าน


แนวทางการวิเคราะห์อีกแบบหนึ่ง คือ ไม่เห็นว่าเกาหลีเหนือเป็นภัยคุกคามร้ายแรง เพราะวิเคราะห์ว่าแม้เกาหลีเหนือจะพัฒนาอาวุธร้ายแรง แต่ไม่ประสบผลคืบหน้าเท่าที่ควร มั่นใจว่ากำลังรบของทั้งเกาหลีใต้ ญี่ปุ่น สหรัฐฯ เพียงพอในการป้องกันป้องปรามเกาหลีเหนือ และเห็นว่าเกาหลีเหนือไม่ต้องการทำสงครามกับเกาหลีใต้หรือประเทศทุนนิยมแต่อย่างไร

ประธานาธิบดีบารัก โอบามายึดแนวทางเช่นนี้

แนวทางแบบที่สอง นำมาใช้เทียบเคียงกรณีอิหร่านได้เช่นกัน ประธานาธิบดีโอบามาเพิ่งกล่าวเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ว่า อิหร่านไม่มีเจตนาทำสงครามหรือมีขีดความสามารถทำสงครามกับอเมริกา และประธานาธิบดีโอบามาปรารถนาแก้ไขปัญหาโครงการนิวเคลียร์ด้วยวิถีการทูตเป็นหลัก ดังนั้น ตัวภัยคุกคามนั้นไม่เปลี่ยนแปลง แต่ที่เห็นว่าเป็นภัยคุกคามร้ายแรงหรือไม่นั้นเป็นผลมาจากหลักคิดและการตีความข้อมูลที่แตกต่างกัน

นักวิเคราะห์บางคนที่ยึดแนวทางการวิเคราะห์แบบไม่เห็นว่าเป็นภัยคุกคามร้ายแรง เชื่อว่าเป้าหมายแท้จริงของการยิงจรวดเพื่อปล่อยดาวเทียมคือ เพื่อเป็นเครื่องมือแสดงความเป็นผู้นำของนายคิม จอง-อึน ผู้เพิ่งเข้ามารับตำแหน่งผู้นำประเทศแทนบิดาของตนที่เสียชีวิตเมื่อปลายปีที่แล้ว เหตุผลอื่น ๆ คือ เพื่อเรียกร้องความสนใจจากสหรัฐฯ และหวังใช้เป็นเครื่องมือสำหรับการเจรจาต่อรอง

ดังนั้น แม้วัตถุประสงค์ของการยิงจรวดเพื่อส่งดาวเทียมคือ การทดสอบขีปนาวุธติดหัวรบนิวเคลียร์ แต่ไม่ใช่การพัฒนาอาวุธเพื่อมุ่งทำสงคราม โครงการเหล่านี้จึงไม่เป็นภัยคุกคามร้ายแรง และไม่ใช่เรื่องต้องตื่นตระหนักจนเกินควร

เหตุผลสำคัญอีกประการที่สนับสนุนข้อสรุปข้างต้น คือ ปัจจัยจากนโยบายของจีน

นักวิเคราะห์หลายคนเชื่อว่า จีนต้องการคงระบอบเกาหลีเหนือ ต้องการให้คาบสมุทรเกาหลีอยู่ในภาวะแบ่งแยกอย่างที่เป็นอยู่ และประเมินว่าหากเกิดเหตุการณ์รุนแรงในคาบสมุทรเชื่อว่าผลสุดท้ายจะเกิดการรวมชาติกลายเป็นประเทศเกาหลีที่สนับสนุนสหรัฐฯ การคงสถานะปัจจุบันจึงเป็นสภาพที่ก่อประโยชน์ต่อตนมากที่สุด

ประเด็นนี้อธิบายเพิ่มเติมได้ว่า หากเกิดสงครามในคาบสมุทรเกาหลี ไม่ว่าฝ่ายใดชนะก็ไม่เป็นประโยชน์แก่จีน มีแต่จะทำให้สถานการณ์ตึงเครียด และรัฐบาลจีนจะตกอยู่ในภาวะตัดสินใจลำบากว่าจะเลือกเข้าข้างเกาหลีเหนือหรือฝ่ายตรงข้าม ทั้งสองฝ่ายล้วนเกี่ยวพันกับผลประโยชน์จำนวนมากของจีน

ดังนั้น ภายใต้มุมมองของรัฐบาลสหรัฐฯ ปัจจุบันจึงเห็นว่าโครงการพัฒนาขีปนาวุธติดหัวรบนิวเคลียร์พิสัยไกลของเกาหลีเหนือไม่เป็นภัยคุกคามร้ายแรง สามารถป้องกันป้องปรามได้ อีกทั้งจีนต้องการคงสถานะของคาบสมุทรเกาหลี จึงคาดการณ์ว่าเกาหลีเหนือน่าจะดำเนินโครงการพัฒนาอาวุธเป็นระยะๆ แต่จะไม่เข้าสู่สงครามตามแบบหรือสงครามนิวเคลียร์แต่ประการใด ไม่เป็นเหตุให้ต้องวิตกกังวลมากนัก

อย่างไรก็ตาม การดำเนินนโยบายต่างประเทศไม่ควรปิดประตูตายทุกบาน ควรรู้ผ่อนหนักผ่อนเบา เมื่อเกาหลีเหนือแสดงอาการยั่วยุคุกคาม สหรัฐฯ กับพันธมิตรควรตอบสนองแสดงออกบางอย่าง เช่น ญี่ปุ่นประกาศพร้อมยิงต่อต้านหากจรวดล้ำเข้ามาในน่านฟ้าญี่ปุ่น สหรัฐฯ เตรียมมาตรการคว่ำบาตรเพิ่มเติม แต่มิได้ดำเนินนโยบายข่มขู่คุกคามผู้นำเกาหลีเหนือแต่ประการใด

ภัยคุกคามของเกาหลีเหนือเปรียบได้กับโรคที่ไม่ร้ายแรงและหายเองได้ จึงไม่จำต้องได้รับการรักษาด้วยการผ่าตัด แต่เมื่อโรคนั้นแสดงอาการไม่สบายบางอย่าง เช่นปวดหัวตัวร้อนเป็นพักๆ แพทย์จำต้องตอบสนองด้วยการให้ยาเพื่อบรรเทาอาการปวดหัวตัวร้อน เพื่อให้ผู้ป่วยรู้สึกสบายใจว่าตัวเองได้รับการรักษาและได้รับยาบรรเทาอาการไม่สบายเหล่านั้น

นี่คือการดำเนินนโยบายการต่างประเทศของสหรัฐฯ กับพันธมิตรต่อกรณีการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือในปัจจุบัน

ประเด็นหนึ่งที่น่าติดตามคือ การเจรจาต่อรองในทางลับ โดยมุ่งเป้าให้สถานการณ์คืนสู่ความสงบไม่มีเหตุท้าทายหรือเผชิญหน้า สหรัฐอเมริกา จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ล้วนมีประโยชน์ทางเศรษฐกิจ หวังให้บรรยากาศการค้าการลงทุนเป็นไปด้วยดีโดยเฉพาะในยามนี้ที่เศรษฐกิจยังอยู่ในภาวะอ่อนแอไม่แน่นอนและยังต้องอาศัยการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง หากเกาหลีเหนือยอมยุติโครงการพัฒนาอาวุธ (อย่างน้อยชั่วคราว) เพื่อแลกกับความช่วยเหลือต่าง ๆ จากสหรัฐฯ และประเทศอื่น ๆ ก็จะเป็นประโยชน์ต่อทุกฝ่าย เป็นประโยชน์ต่อประชาคมโลกและน่าจะเป็นวิธีที่สามารถปฏิบัติได้จริง

รวมทั้งจะเป็นผลงานเป็นความสำเร็จของการดำเนินนโยบายต่างประเทศสหรัฐฯ และประเทศต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับด้วย

ศ.ดร. เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส ศูนย์ศึกษาธุรกิจและรัฐบาล มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
kriengsak@kriengsak.comhttp://www.kriengsak.com