บทเรียนจากการบริหารจัดการประเทศ

เดลินิวส์
คอลัมน์ ?แนวคิด ดร.แดน?


การบริหารจัดการของประเทศต่าง ๆ ในโลก ต่างมีบทเรียนในบางเรื่องที่น่าสนใจ ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างมากหากประเทศไทยสามารถดึงข้อดีจากความโดดเด่นมาประยุกต์ใช้ หรือเรียนรู้จากความผิดพลาดที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการวางยุทธศาสตร์ของประเทศ ในที่นี้จะกล่าวถึงตัวอย่างการบริหารจัดการประเทศที่สำคัญใน 2 เรื่อง ซึ่งสามารถนำไปเป็นบทเรียนสำหรับการพัฒนาประเทศได้ดังนี้

เรื่องแรก คือ ?การจัดระบบสวัสดิการ? กับ ?การบริหารจัดการเศรษฐกิจมหภาค?

เมื่อมองถึงระบบเศรษฐกิจของยุโรปพบว่า รัฐบาลได้เข้ามามีบทบาทในระบบเศรษฐกิจมากและมีความเป็นรัฐสวัสดิการ เพราะเน้นเป้าหมายทางสังคมเป็นหลัก ซึ่งมีข้อดีในแง่ของการลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ ประชาชนโดยรวมมีคุณภาพชีวิตที่ดีผ่านสวัสดิการภาครัฐ ในขณะที่ภาครัฐมีขีดจำกัดในการจัดสรรสวัสดิการแก่ประชาชน และอาจบั่นทอนความสามารถในการแข่งขันของประเทศ เนื่องจากอัตราภาษีที่สูงมากทำให้ภาคธุรกิจมีต้นทุนการประกอบการสูง และทำให้คนรวยมีแรงจูงใจที่จะออกไปประกอบธุรกิจนอกประเทศ และที่ผ่านมาสหภาพยุโรปต้องประสบกับวิกฤตหนี้สาธารณะ

อย่างไรก็ตามระบบเศรษฐกิจของสหรัฐ ซึ่งใช้แนวคิดเสรีนิยมเป็นหลัก ยังคงได้รับผลกระทบจากปัญหาหนี้สาธารณะเช่นเดียวกัน เนื่องจากปัญหาการจัดการทางการคลังที่ไม่สมดุล ล่าสุดส่งผลทำให้รัฐบาลสหรัฐต้องใช้ความพยายามอย่างมาก จนในที่สุดเมื่อวันที่ 17 ต.ค. 2556 (ตามเวลาประเทศไทย) สามารถขยายเพดานหนี้ชั่วคราวได้ มิฉะนั้นจะส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจสหรัฐอย่างรุนแรง และส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจจีนและญี่ปุ่น ซึ่งเป็นผู้ถือครองพันธบัตรสหรัฐอยู่เป็นจำนวนมาก

จะเห็นว่าแนวทางการบริหารเศรษฐกิจทั้งของยุโรปและสหรัฐอเมริกา มีเป้าหมายหลักที่เป็นจุดเน้นแตกต่างกัน แต่ยังคงได้รับผลกระทบในลักษณะเดียวกันคือ ปัญหาหนี้สาธารณะได้ปรับสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง แท้ที่จริงปัญหาดังกล่าวมิได้เกิดขึ้นกับเฉพาะประเทศที่อยู่ในสหภาพยุโรปและสหรัฐอเมริกา แต่ปัจจุบันปัญหานี้ได้เกิดขึ้นกับประเทศส่วนใหญ่ในโลก ดังนั้นบทเรียนประการหนึ่งสำหรับการบริหารเศรษฐกิจให้เจริญเติบโตอย่างมั่งคงและยั่งยืน คือ ?การรักษาวินัยทางการคลัง? คณะผู้บริหารประเทศจึงควรไตร่ตรองอย่างรอบคอบในการดำเนินนโยบายต่าง ๆ อาทิ นโยบายด้านการให้สวัสดิการภาครัฐ นโยบายประชานิยม และนโยบายเพื่อการกระตุ้นเศรษฐกิจ เป็นต้น

แนวทางการจัดการประเทศในกลุ่มนอร์ดิก (สวีเดน เดนมาร์ค นอร์เวย์ และฟินด์แลนด์) ซึ่งได้รับการยกย่องว่าจะกลายเป็นแบบอย่างของการปฏิรูปเศรษฐกิจในอนาคต เพราะประเทศเหล่านี้ได้ถูกจัดอยู่ในอันดับต้น ๆ ของโลก ทั้งด้านความสามารถในการแข่งขันและคุณภาพสังคม รวมทั้งยังสามารถหลีกหนีภาวะความเสี่ยงทางการคลังที่หลายประเทศในสหภาพยุโรปและสหรัฐอเมริกากำลังเผชิญได้ เนื่องจากสามารถลดขนาดของภาครัฐ ลดหนี้สาธารณะ และลดการขาดดุลงบประมาณลงได้อย่างมีนัยสำคัญ โดยสามารถจัดสวัสดิการให้กับประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ผลสำเร็จของการปฏิรูปเศรษฐกิจของประเทศในกลุ่มนอร์ดิก มีแนวทางการจัดการประเทศที่สำคัญดังต่อไปนี้

ประการแรก การสนับสนุนบทบาทของภาคเอกชนและนำกลไกตลาดมาใช้ในการจัดบริการด้านสวัสดิการให้แก่ประชาชน เช่น ประเทศเดนมาร์คและนอร์เวย์อนุญาตให้บริษัทเอกชนเข้ามาบริหารโรงพยาบาลรัฐ ส่วนสวีเดนและเดนมาร์คให้มีการแข่งขันในการจัดบริการด้านการศึกษา โดยการแจกคูปองการศึกษาให้ประชาชนสามารถเลือกเรียนได้ทั้งโรงเรียนของรัฐและเอกชน

ประการที่สอง รัฐบาลให้ความสำคัญกับความโปร่งใส โดยการพัฒนาตัวชี้วัดผลการดำเนินงานของโรงเรียนและโรงพยาบาล และเปิดให้ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลของทางการได้อย่างสะดวก ซึ่งส่งผลทำให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการเข้าไปตรวจสอบการทำงานของภาครัฐ และทำให้รัฐบาลต้องมีความรับผิดชอบมากขึ้น

ประการที่สาม รัฐบาลให้ความสำคัญกับผลิตภาพและความสามารถในการแข่งขันของภาคเอกชนมากขึ้น โดยสังเกตได้จากการลดอัตราภาษีนิติบุคคล การให้ความสำคัญกับการพัฒนาฝีมือแรงงานที่ถูกปลดจากงาน และการพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกในการพัฒนาธุรกิจที่มีนวัตกรรม

ประการที่สี่ การปฏิรูประบบบำนาญผู้สูงอายุ โดยเปลี่ยนจากระบบที่กำหนดผลประโยชน์ที่ชัดเจน (defined-benefit system) เป็นการกำหนดเงินสมทบที่ชัดเจน (defined-contribution system) และการกำหนดผลประโยชน์ที่ยืดหยุ่นตามอายุขัย ซึ่งเป็นอีกแนวทางหนึ่งที่ช่วยลดภาระงบประมาณและสร้างเสถียรภาพทางการคลังของประเทศในกลุ่มนอร์ดิก

เรื่องที่สอง ?การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์?

ผมขอยกตัวอย่างประเทศสิงคโปร์ ซึ่งเป็นประเทศที่มีความโดดเด่นมากในเรื่องการจัดการทรัพยากรมนุษย์ ในอดีตสิงคโปร์เป็นเพียงประเทศเล็ก ๆ ที่ยากจนเท่านั้น แต่มีการพัฒนาแบบก้าวกระโดดขึ้นมาเป็นประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจและเป็นผู้เล่นที่สำคัญในเวทีระดับโลก (Global Player) เพราะสิงคโปร์มีการจัดการในจุดที่เป็นกุญสำคัญของประเทศคือ การมุ่งพัฒนาคน ผ่านกลยุทธ์การสร้างชาติด้วยการศึกษา (Education for Nation Building) ซึ่งเกิดขึ้นตามวิสัยทัศน์ของนาย ลี เซียน ลุง (Lee Hsien Loong) นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ประกาศว่า ภายในปี 2020 สัดส่วนของคนหนุ่มสาวสิงคโปร์ที่เข้าสู่การศึกษาระดับอุดมศึกษาจะเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 40 เมื่อเทียบกับปัจจุบันที่มีอยู่ร้อยละ 27

ปัจจุบันมหาวิทยาลัยของสิงคโปร์ 2 แห่ง ถูกจัดอันดับให้มีคุณภาพติดอันดับ 1 ใน 100 มหาวิทยาลัยที่ดีที่สุดในโลกจากการจัดอันดับของนิตยสารไทม์ส ไฮเออร์ เอดูเคชัน (The Times Higher Education) ปี 2012 - 2013 ได้แก่ มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ (National University of Singapore) อยู่ในอันดับที่ 29 และ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีนันยาง (Nanyang Technological University) อันดับที่ 86 สิงคโปร์มีแนวทางการจัดการประเทศ ผ่านการสนับสนุนทุนการศึกษาต่อต่างประเทศให้กับนักศึกษาที่มีสติปัญญาดีเลิศ เพื่อให้นักศึกษาเหล่านี้นำวิทยาการความรู้กลับมาพัฒนาประเทศชาติบ้านเมืองให้เกิดความเจริญก้าวหน้า รวมถึงการสนับสนุนทุนการศึกษาให้กับกลุ่มนักศึกษาต่างชาติที่มีสติปัญญาดีเลิศ เพื่อดึงดูดนักศึกษากลุ่มนี้จากทั่วทุกมุมโลกเข้ามาเรียนในมหาวิทยาลัยของสิงคโปร์

นอกจากนี้สิงคโปร์ ยังได้กำหนดอัตราภาษีนิติบุคคลที่ต่ำและภาษีศุลกากรเป็นศูนย์ รวมทั้งมีกฎระเบียบและกลไกต่าง ๆ ที่เอื้ออำนวยต่อการจัดตั้งกิจการในประเทศ ทำให้ผู้ประกอบการมีต้นทุนในการดำเนินธุรกิจต่ำ และให้ความสำคัญกับการพัฒนาประสิทธิภาพและความโปร่งใสของภาครัฐ สังเกตได้จากการจัดอันดับความโปร่งใสในระดับนานาชาติที่สิงคโปร์ติดอันดับต้น ๆ ของโลกทุกปี อีกทั้งสิงคโปร์ยังมีการจัดระบบสวัสดิการที่มีความยั่งยืน โดยเฉพาะการบังคับออมหรือการกำหนดสัดส่วนของรายได้ที่ประชาชนต้องออมในกองทุนที่จัดตั้งขึ้น ซึ่งทำให้ประชาชนมีหลักประกันโดยไม่เป็นภาระต่องบประมาณแผ่นดินมากเกินไป

บทเรียนสำคัญที่ได้จากประเทศสิงคโปร์คือ ?ทุ่มเทกับการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์? ทำให้ประเทศได้ผลลัพธ์ที่คุ้มค่าอย่างยิ่ง เพราะเป็นการดำเนินยุทธศาสตร์ในระยะยาว เพื่อให้ได้มาซึ่งทรัพยากรมนุษย์ที่มีความรู้ความสามารถระดับสูง และการส่งต่อวิสัยทัศน์การพัฒนาประเทศให้กับคนในชาติได้อย่างเป็นผลสำเร็จ ส่งผลให้ประเทศสามารถพัฒนาไปได้อย่างรวดเร็ว หากประเทศสามารถรักษาระดับการพัฒนาคุณภาพทรัพยากรมนุษย์ที่ดีไว้ได้ ก็จะทำให้ประเทศมีการเจริญเติบโตที่ยั่งยืนอย่างแท้จริง

จะเห็นได้ว่าแนวทางการจัดการประเทศในทั้งสองเรื่องนี้ มีบทเรียนที่เราจำเป็นต้องเรียนรู้อย่างเข้าใจ และเป็นบทเรียนที่จะสร้างคุณประโยชน์ให้แก่ประเทศไทยอย่างมากและคงไม่ยากเกินความสามารถของประเทศที่จะพัฒนาไปอย่างก้าวกระโดดได้เช่นเดียวกัน หากมีการจัดการประเทศที่ดีอย่างแท้จริง

ศ.ดร. เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส ศูนย์ศึกษาธุรกิจและรัฐบาล มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
kriengsak@kriengsak.comhttp://www.kriengsak.com
แหล่งที่มาของภาพ : http://www.chaoprayanews.com/wp-content/uploads/2011/07/images5.jpg