อวดอ้างสรรพคุณ'อย่า'เกินจริง
โลกวันนี้วันสุข
คอลัมน์ : HR Tips
คนทำงานที่เพื่อนร่วมงานมักลงมติว่า "น่าเบื่อ" ประเภทหนึ่งคือ พวกคุยโม้ โอ้อวดเรื่องของตัวเอง หรือไม่ก็ชอบอวดทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นอวดเก่ง อวดรวย อวดครอบครัว อวดสวย อวดหล่อ และอวดทุกๆอย่างที่อวดได้ เพื่อให้คนยอมรับและชื่นชม
นักวิจัยวิเคราะห์ว่า โดยธรรมชาติมนุษย์ให้ความสนใจกับตัวเอง มักจะชอบ พูดเรื่องของตัวเองมากกว่าฟังเรื่องของคนอื่น กล่าวกันว่าประมาณร้อยละ 40 ของคำพูดประจำวัน มักเป็นการเล่าเรื่องตัวเองให้คนอื่นฟังว่า เราคิดอย่างไร รู้สึกอย่างไร แต่คนที่โอ้อวดมักไปไกลกว่านั้น เพราะมีความภาคภูมิใจในตนเองต่ำ (low self-esteem) จึงพยายามพิสูจน์ตนเองด้วยการแสดงพฤติกรรมโอ้อวดเพื่อให้คนอื่นยอมรับ
หากมองในมุมตรงกันข้าม เป็นความจริงที่ว่าไม่มี ใครชอบคนคุยโม้โอ้อวด ยิ่งยกตนข่มท่านด้วยแล้วยิ่งไม่ชอบเข้าไปใหญ่
คำถามคือ เราจะสร้างสมดุล "ความโอ้อวด" ให้ตนเองอย่างไร?
ตระหนัก "ผลเสีย" การโอ้อวดในการทำงานเราคงปฏิเสธไม่ได้ว่า เพื่อนร่วมงาน หัวหน้างานบางคน หรือแม้แต่ตัวเรา บางครั้งมีแนวโน้มเป็นพวกโอ้อวด ยกตนข่มท่าน ทั้งรู้ตัวและไม่รู้ตัว สิ่งหนึ่งเพราะเราอาจไม่ตระหนัก "ผลเสีย" ที่อาจเกิดขึ้น
เชื่อมั่นในคุณค่าแห่งตน การโอ้อวดไม่ใช่ความเลว และไม่ใช่สิ่งที่ผิด แต่เป็นผลลัพธ์จาก "ความเชื่อผิด" ที่เชื่อว่าเราต้องโอ้อวดเพื่อให้ได้รับการยอมรับจากผู้อื่นจึงจะรู้สึกดีเกี่ยวกับตัวเอง ดังนั้น จึงไม่ใช่การโอ้อวดที่เราควรกำจัด แต่เป็นความเชื่อผิดๆนี้ โดยต้องเลิกเปรียบเทียบ เลิกมองตนเองในแง่ลบ แต่เชื่อมั่นในคุณค่าของตนเอง บอกตัวเองว่าเราไม่จำเป็นต้องพิสูจน์ตัวเองกับคนอื่นเพื่อให้รู้สึกดี เพราะเราสามารถพอใจตนเองในสภาพที่เป็นอยู่ เราสามารถรู้สึกดีเกี่ยวกับตัวเองได้โดยไม่ต้องพึ่งพาการยอมรับจากผู้อื่น
"จงปฏิบัติต่อผู้อื่นดังเช่นที่เราต้องการให้ ผู้อื่นปฏิบัติต่อเรา" กฎทองของการดำรงชีวิตอย่างมีความสุขข้อนี้ยังคงเป็นสัจธรรม หากเราไม่ชอบคนคุยโวโอ้อวด เราก็ไม่ควรปฏิบัติเช่นนั้นกับใคร จริงไหมครับ?
ศ.ดร. เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส ศูนย์ศึกษาธุรกิจและรัฐบาล มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
kriengsak@kriengsak.com, http://www.kriengsak.com
แหล่งที่มาของภาพ : http://leapyourbusiness.com/blog/wp-content/uploads/2012/11/talking_heads.jpg