ทิศทางนโยบายของจีนเกี่ยวกับคนจีนโพ้นทะเล
จากบทความตอนที่แล้ว ผมได้กล่าวถึงบทบาทของคนจีนโพ้นทะเลในการสร้างความมั่งคั่งและการมีส่วนพัฒนาประเทศ ซึ่งเป็นเนื้อหาส่วนหนึ่งในการบรรยายของผมในการประชุม World Chinese Economic Forum ครั้งที่ 4 ส่วนในบทความนี้ผมจะขอกล่าวถึง ทิศทางนโยบายของจีนเกี่ยวกับคนจีนโพ้นทะเล ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการกำหนดบทบาทของคนจีนโพ้นทะเลในอนาคต
รัฐบาลจีนดำเนินยุทธศาสตร์การใช้ประโยชน์จากคนจีนโพ้นทะเล โดยการสร้างความผูกพันทางอารมณ์ความรู้สึกของชาวจีนโพ้นทะเลกับประเทศบ้านเกิด เช่น การจัดตั้งสถาบันเพื่อเชื่อมโยงความสัมพันธ์กับคนเชื้อสายจีนในต่างประเทศ (เช่น Oversea Chinese Affairs office และ All China?s Federation of Returned Overseas Chinese) การเข้าไปมีส่วนร่วมในกิจกรรมของชุมชนหรือองค์กรของชาวจีนโพ้นทะเล เป็นต้น
แหล่งที่มาของภาพ : http://www.bloggang.com/data/copy/picture/1162720956.jpg
รัฐบาลจีนยังกำหนดนโยบายสร้างแรงจูงใจเพื่อใช้ประโยชน์จากคนจีนโพ้นทะเล เช่น การให้สิทธิประโยชน์ด้านต่างๆ แก่คนเชื้อสายจีนในต่างประเทศ การส่งเสริมการลงทุนจากนักลงทุนเชื้อสายจีนในต่างประเทศ การส่งเสริมให้คนจีนโพ้นทะเลที่มีความสามารถพิเศษกลับมาทำงานที่บ้านเกิด เป็นต้น นโยบายเหล่านี้ประสบความสำเร็จในการใช้ประโยชน์จากคนเชื้อสายจีนในต่างประเทศ โดยเฉพาะในการดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ และการดึงบุคลากรระดับสูงเข้ามาทำงานในประเทศจีน
อย่างไรก็ดี นโยบายของรัฐบาลจีนที่เกี่ยวข้องกับคนจีนโพ้นทะเลกำลังมีทิศทางที่เปลี่ยนแปลงไป ตามทิศทางของการพัฒนาเศรษฐกิจของจีน โดยแนวโน้มมีการเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบายอย่างน้อยใน 3 ทิศทางหลัก ได้แก่
แนวโน้มแรก การเปลี่ยนนโยบายจากกลุ่มเป้าหมายที่เป็นพลเมืองของประเทศจีนในต่างประเทศ ขยายเป็นคนเชื้อสายจีนทั้งหมดในต่างประเทศ นโยบายเกี่ยวกับคนจีนโพ้นทะเลของรัฐบาลจีนในช่วงทศวรรษ 1980 มุ่งให้ความสนใจกลุ่มพลเมืองของจีนแผ่นดินใหญ่ที่อยู่ในต่างประเทศ แต่ในปัจจุบัน จีนได้ขยายขอบเขตของนโยบายไปสู่คนเชื้อสายจีนในต่างประเทศทั้งหมด โดยไม่คำนึงถึงสัญชาติ ฐานะทางเศรษฐกิจ และช่วงเวลาที่อพยพออกไป
เหตุผลที่ทำให้รัฐบาลจีนต้องขยายขอบเขตกลุ่มเป้าหมายให้กว้างขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นเพราะคนกลุ่มนี้มีจำนวนมาก กระจายอยู่ทั่วโลก มีความรู้เกี่ยวกับตลาดท้องถิ่น และมีสายสัมพันธ์กับนักธุรกิจและนักการเมืองในประเทศที่พวกเขาเข้าไปอยู่อาศัย อีกเหตุผลหนึ่งเป็นเพราะสถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่เศรษฐกิจตะวันตกเกิดวิกฤตเศรษฐกิจและมีแนวโน้มถดถอยลง ขณะที่เอเชียและเศรษฐกิจเกิดใหม่กลายเป็นเครื่องยนต์หลักที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลก ทำให้จีนจำเป็นต้องแสวงหาตลาดใหม่ๆ และลดพึ่งพาการส่งออกไปยังตลาดสหรัฐและสหภาพยุโรป
ขณะเดียวกันจีนกำลังเปลี่ยนจากการเป็นประเทศผู้รับการลงทุนเป็นประเทศผู้ลงทุน เนื่องจากสาเหตุหลายประการ หนึ่ง เงินทุนสำรองระหว่างประเทศที่มีจำนวนมหาศาล สอง ปัญหาเงินหยวนแข็งค่าจากการเกินดุลการค้า สาม ค่าจ้างแรงงานในจีนที่เพิ่มสูงขึ้นกว่าเศรษฐกิจเกิดใหม่ และสี่ ความจำเป็นในการแสวงหาแหล่งวัตถุดิบและพลังงานในต่างประเทศเพื่อรักษาความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ นอกจากนี้ แนวโน้มของความคลุมเครือเกี่ยวกับความเป็นรัฐชาติ และความยืดหยุ่นของสัญชาติ ทำให้จีนมีโอกาสที่จะใช้ประโยชน์จากคนเชื้อสายจีนที่ไม่ได้มีสัญชาติจีนได้มากขึ้น
แนวโน้มที่สอง การเปลี่ยนนโยบายจากการแสวงหาทุนทางการเงินเป็นแสวงหาทุนมนุษย์ ในช่วงแรกของการเปิดประเทศ รัฐบาลจีนให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ โดยใช้เครือข่ายของคนจีนโพ้นทะเลในการแสวงหานักลงทุน แต่รัฐบาลจีนมีแนวโน้มเปลี่ยนแปลงแนวทางการพัฒนาประเทศจากเศรษฐกิจที่ใช้แรงงานเข้มข้นไปสู่เศรษฐกิจฐานความรู้ เนื่องจากความได้เปรียบด้านค่าจ้างแรงงานราคาถูกเริ่มถดถอยลง และจีนยังต้องแข่งขันกับเศรษฐกิจเกิดใหม่ซึ่งมีต้นทุนแรงงานต่ำกว่า การใช้ประโยชน์จากเครือข่ายคนจีนโพ้นทะเลจึงมีแนวโน้มเป็นไปเพื่อแสวงหาบุคลากรที่มีความรู้และทักษะที่เฉพาะเจาะจง ซึ่งจำเป็นต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมเทคโนโลยีระดับสูงในประเทศและการแข่งขันทางเทคโนโลยี
แนวโน้มที่สาม การเปลี่ยนนโยบายจากการสนับสนุนให้คนจีนโพ้นทะเลกลับสู่บ้านเกิดเป็นการให้ช่วยเหลือประเทศบ้านเกิดโดยที่ยังอยู่ในต่างประเทศ ปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทิศทางของนโยบาย ประกอบด้วย หนึ่ง การพัฒนาของเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารทำให้การติดต่อสื่อสารข้ามประเทศมีประสิทธิภาพมากขึ้นแต่มีต้นทุนต่ำลง สอง การส่งเสริมให้บรรษัทที่รัฐเป็นเจ้าของและภาคเอกชนของจีนออกไปลงทุนหรือขยายกิจการไปต่างประเทศมากขึ้น และ สาม จีนต้องการพัฒนาประเทศไปสู่เศรษฐกิจฐานความรู้ทำให้มีความต้องการรับการถ่ายทอดเทคโนโลยีชั้นสูงจากต่างประเทศมากขึ้น ซึ่งความเชื่อมโยงระหว่างอุตสาหกรรมเทคโนโลยีระดับสูงในไต้หวันและคนไต้หวันในซิลิคอนวัลเล่ย์นับเป็นต้นแบบของนโยบายนี้ของรัฐบาลจีน
รัฐบาลประเทศต่างๆ มีแนวโน้มให้การสนับสนุนบทบาทของคนเชื้อสายจีนในประเทศของตนในการเชื่อมโยงเศรษฐกิจของประเทศกับประเทศจีน โดยเฉพาะในประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ที่มีต้องการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศเข้ามาเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของจีนที่ส่งเสริมการออกไปลงทุนในต่างประเทศมากขึ้น
ขณะที่บางประเทศที่ต้องการพัฒนาไปสู่เศรษฐกิจฐานความรู้ก็มีนโยบายดึงดูดนักวิทยาศาสตร์และผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีระดับสูงเข้ามาทำงานในประเทศ เช่น สิงคโปร์ที่ให้สัญชาติกับชาวจีนจำนวนมากที่เข้ามาลงทุนหรือทำงานในประเทศ เป็นต้น
เมื่อหันมาพิจารณาประเทศไทยซึ่งมีคนจีนโพ้นทะเลมากที่สุดในโลก (ยกเว้นฮ่องกงและไต้หวัน) แต่ดูเหมือนว่าเรายังไม่มีนโยบายที่ชัดเจนในการใช้ประโยชน์จากคนไทยเชื้อสายจีนในการเชื่อมโยงเศรษฐกิจไทยและจีน ทั้งๆ ที่โอกาสกำลังเปิดออกมากขึ้น เศรษฐกิจจีนกำลังเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วและจะกลายเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจในภูมิภาคนี้และของโลก รวมทั้งจีนพยายามขยายอิทธิพลทางเศรษฐกิจโดยเฉพาะการออกไปลงทุนต่างประเทศมากขึ้น หากเราไม่พยายามใช้ประโยชน์จากทรัพยากรบุคคลที่เรามีอยู่ เราอาจจะเสียโอกาสหรือไม่ได้รับประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญในครั้งนี้
ศ.ดร. เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส ศูนย์ศึกษาธุรกิจและรัฐบาล มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
kriengsak@kriengsak.com, http://www.kriengsak.com