คลังสมอง (Think - Tank) กับการพัฒนาประเทศไทย
จากข้อมูลในรายงานวิจัยเรื่องดัชนีชี้วัดคลังสมองทั่วโลก ประจำปี 2014 (2014 Think-Tank Index Report)ของ The Lauder Institute แห่งมหาวิทยาลัยเพนซิลวาเนีย พบว่า มีจำนวนคลังสมอง (Think-Tank) ทั่วโลกทั้งสิ้น 6,681 แห่ง แบ่งเป็นที่ทวีปอเมริกาเหนือ 1,989 แห่ง ทวีปยุโรป 1,822 แห่ง ทวีปเอเชีย 1,106 แห่ง ทวีปอเมริกากลาง-ใต้ 674 แห่ง ทวีปตะวันออกกลาง-เหนือ 521 แห่ง ทวีปแอฟริกา-ซับ ซาฮารา 467 แห่ง และทวีปโอเชียเนีย 39 แห่ง เมื่อเรียงลำดับจำนวนคลังสมองของแต่ละประเทศ พบว่า ประเทศที่มีจำนวนคลังสมองมากที่สุด คือ ประเทศสหรัฐอเมริกา มีจำนวนทั้งสิ้น 1,830 แห่ง รองลงมาคือ ประเทศจีนและประเทศอังกฤษ มีคลังสมอง 429 และ 287 แห่งตามลำดับ นอกจากนี้ ยังมีประเทศที่มีจำนวนคลังสมอง 100-199 แห่ง อีก 6 ประเทศ ได้แก่ ประเทศเยอรมนี อินเดีย ฝรั่งเศส อาร์เจนตินา รัสเซีย และญี่ปุ่น ส่วนประเทศที่เหลือมีจำนวนคลังสมองต่ำกว่า 100 แห่งทั้งสิ้น
จากข้อมูลข้างต้น หลายท่านอาจเกิดคำถามว่าคลังสมองคืออะไร? และสำคัญอย่างไร? คลังสมองมีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับการพัฒนาประเทศหรือไม่? อย่างไร? บทความนี้จะให้ความกระจ่างในประเด็นเหล่านี้ รวมทั้งนำเสนอบทวิเคราะห์เบื้องต้นถึงสภาวการณ์ของคลังสมองในประเทศไทยด้วย
คลังสมอง หรือ Think-Tank หมายถึง สถาบันที่ทำการค้นคว้า ศึกษา วิจัย วิเคราะห์นโยบายสาธารณะ ทั้งที่เป็นนโยบายภายในหรือนโยบายระหว่างประเทศ เพื่อนำไปสู่ข้อเสนอเชิงนโยบายที่ทำให้ผู้กำหนดนโยบายสามารถตัดสินใจในประเด็นนโยบายสาธารณะอยู่บนฐานของข้อมูลและความรู้ สถาบันเหล่านี้อาจเป็นองค์กรอิสระ หรือเป็นส่วนหนึ่งขององค์กรหลักอื่นๆ (affiliated institution) แต่ต้องเป็นองค์กรที่มีโครงสร้างแน่นอน ถาวร และไม่เป็นองค์กรที่ตั้งขึ้นเพื่อรับทำงานอย่างใดอย่างหนึ่งชั่วครั้งชั่วคราว (ad hoc commission) คลังสมองมีบทบาทอยู่ในฐานะเป็นตัวเชื่อมระหว่างภาควิชาการและภาคนโยบาย มีหน้าที่สร้างความเชื่อมโยงให้กับภาคประชาสังคม ภาครัฐบาลและสาธารณะ เพื่อพัฒนาและรักษาผลประโยชน์สาธารณะของประเทศ โดยการทำวิจัยและทำให้งานวิจัยมีภาษาและรูปแบบที่เข้าใจง่าย น่าเชื่อถือ และเข้าถึงประชาชนและผู้กำหนดนโยบาย คลังสมองจึงมีบทบาทสำคัญในการตรวจสอบ ชี้นำ และเสนอแนะความคิด แนวทางและวิธีการที่เหมาะสมให้กับภาครัฐและส่วนราชการ เพื่อการบริหารจัดการ ปรับปรุง แก้ไขประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุดทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ด้วยเหตุนี้ คลังสมองจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนาและเปลี่ยนแปลงประเทศในด้านต่าง ๆ ให้ดีขึ้น ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม การศึกษา การเมือง เป็นต้น
จากบทบาทหน้าที่ดังที่ได้กล่าวไว้ข้างต้น จำนวนคลังสมองที่ทำงาน (active) ย่อมส่งผลต่อการพัฒนาประเทศ ยิ่งมีจำนวนคลังสมองมาก ยิ่งทำให้เกิดการศึกษาวิจัยในเชิงลึกและกว้างมากขึ้น โดยจำนวนคลังสมองนี้ขึ้นอยู่กับค่านิยม วิถีคิด วิถีสังคมและลักษณะทางระบบเศรษฐกิจของแต่ละประเทศ ประเทศที่มีคลังสมองมาก ส่วนใหญ่จะเป็นประเทศที่มีการพัฒนาแล้ว โดยเฉพาะประเทศที่มีอำนาจทางเศรษฐกิจและการเมืองของโลก เช่น ประเทศสหรัฐอเมริกา อังกฤษ เยอรมนี ฝรั่งเศส ญี่ปุ่น เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ยังมีอีกหนึ่งประเทศที่น่าจับตามองเป็นอย่างมาก เนื่องจากไม่ใช่ประเทศที่พัฒนาแล้ว แต่กลับมีอัตราการเติบโตของจำนวนคลังสมองอย่างก้าวกระโดด นั่นคือ ประเทศจีน โดยมีจำนวนคลังสมองเพิ่มขึ้น จาก 73 แห่งในปี 2007 เป็น 429 แห่งในปี 2014
Dr. James McGann ผู้อำนวยการการโครงการวิจัยข้างต้น ใช้ตัวชี้วัดในการประเมินและวัดคุณภาพคลังสมองทั่วโลกมากกว่า 10 หลักเกณฑ์ เช่น จำนวนและคุณภาพงานวิจัย ความแปลกใหม่หรือการเสนอแนวคิดใหม่ ๆ ทุนสนับสนุนวิจัย การอ้างอิงจากสถาบันวิชาการต่าง ๆ ประโยชน์ของงานวิจัยต่อสาธารณชน ผลกระทบของงานวิจัยส่งต่อผู้กำหนดนโยบายหรือภาครัฐ อิทธิพลของคลังสมองต่อประเทศ ความสามารถในการคัดนักวิชาการระดับแนวหน้าเข้าสู่องค์กร ความสามารถทางด้านอิเล็กทรอนิกส์ การใช้สื่อ ผลงานวิจัยเป็นที่นิยมจากสื่อมากหรือน้อย เป็นต้น จากตัวชี้วัดข้างต้น พบว่า ประเทศไทย มีคลังสมองที่เข้าเกณฑ์มาตรฐานสากลเพียง 8 แห่งเท่านั้น ซึ่งนับว่าเป็นจำนวนที่น้อยมาก เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านอาเซียน คือ ประเทศอินโดนีเซีย 27 แห่ง ประเทศฟิลิปปินส์ 20 แห่ง ประเทศมาเลเซีย 18 แห่ง และประเทศกัมพูชาและเวียดนามมีคลังสมอง 10 แห่ง ส่วนประเทศสิงคโปร์มีคลังสมอง 6 แห่งเท่านั้น ยิ่งกว่านั้น จากการสำรวจของหน่วยงานเดียวกันนี้ ยังพบว่า ตั้งแต่ปี 2007 - 2014 ประเทศไทยมีจำนวนคลังสมองคงที่ คือ 8 แห่ง
สาเหตุที่ประเทศไทยไม่มีอัตราการเติบโตของจำนวนคลังสมองนั้นน่าจะเกิดจากสาเหตุที่สำคัญบางประการ ดังนี้ 1) สังคมไทยยังไม่ได้ให้ความสำคัญมากเพียงพอกับการคิด การถกเถียง การวิพากษ์วิจารณ์บนพื้นฐานของการใช้ความรู้และงานวิจัย คนจำนวนมากในสังคมยังไม่ได้มีค่านิยมแห่งการแสวงหาความรู้ หรือการส่งเสริมให้มีการคิดนอกกรอบ รวมทั้งไม่มีมีพื้นที่และเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ซึ่งเป็นเงื่อนไขประการหนึ่งของสังคมที่สถาบันคลังสมองจะเติบโตได้ 2) ขาดเงินสนับสนุนในการทำงานวิจัย ทำให้งานวิจัยไม่มีคุณภาพ ไม่สามารถศึกษาในเชิงลึกหรือลงรายละเอียดได้ การทำงานวิจัยจึงหยุดอยู่กับที่ คลังสมองจึงหยุดอยู่กับที่เช่นเดียวกัน ทรัพยากรจากภาครัฐมักจะถูกถ่ายโอนไปยังสถาบันในสังกัดมหาวิทยาลัยของรัฐ ทำให้สถาบันคลังสมองที่เป็นอิสระขาดการสนับสนุนด้านทรัพยากรเงินทุน ภาคเอกชนไม่ให้ความสำคัญกับการสนับสนุนงานวิจัยของสถาบันคลังสมอง จึงแทบไม่มีเงินสนับสนุนจากภาคเอกชนให้กับสถาบันคลังสมองอิสระในประเทศไทยเลย
3) ผลงานวิจัยส่วนมาก ไม่ได้เป็นงานวิจัยเชิงนโยบาย และไม่ได้เชื่อมโยงกับการเคลื่อนไหวในแวดวงวิชาการระหว่างประเทศ ทำให้ขาดแนวความคิดใหม่ ๆ ในการพัฒนาประเทศ นอกจากนี้ งานวิจัยส่วนใหญ่เป็นงานวิจัยเพื่อใช้ในภาคธุรกิจ ไม่ได้ใช้ในภาคสาธารณะหรือภาพรวมของประเทศ 4) การไม่เห็นคุณค่าและความสำคัญของคลังสมอง เนื่องมาจากความผันผวนและความไม่มีเสถียรภาพของระบบการเมืองไทยประกอบกับค่านิยมทางการเมืองที่ไม่ถูกต้อง ส่งผลให้คลังสมองไม่มีอิทธิพลมากพอในการนำทิศทางรัฐบาล
ทั้งนี้ จำนวนคลังสมองจะเพิ่มขึ้นได้ ต่อเมื่อคลังสมองมีอิทธิพลต่อประเทศมากพอและทุกภาคส่วนให้ความสำคัญ ให้การสนับสนุน โดยภาคประชาชนและภาคเอกชนต้องร่วมมือกัน เพื่อผลักดันให้ภาครัฐและส่วนราชการ ดำเนินนโยบายตามข้อมูลที่ถูกต้อง นอกจากนี้ ภาครัฐควรให้ความสำคัญกับนโยบายและแผนการพัฒนาประเทศในภาพรวมที่เป็นระยะยาวและมีความต่อเนื่องมากขึ้น แทนการใช้นโยบายตามกระแสประชานิยม โดยที่ทุกนโยบายควรผ่านการวิจัยและวิเคราะห์ในเชิงลึก มีการคาดการณ์ผลกระทบที่เกิดขึ้นทั้งระยะสั้นและระยะยาว นอกจากนี้ ในอนาคตควรมีคลังสมองของรัฐสภา อันเป็นคลังสมองกองกลางที่ยึดผลประโยชน์และฟังเสียงของประชาชนเป็นหลัก เพื่อพัฒนาและเปลี่ยนแปลงประเทศสู่ความมั่นคงและยั่งยืน
---------------
1 สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.), ว่าด้วย Think - Tank (ตอนที่ 1), เข้าถึงเมื่อ 13 กุมภาพันธ์ 2558, เข้าถึงได้จาก
http://www.trf.or.th/index.php?option=com_content&view=article&id=1190:2009-07-02-07-00-00&catid=28&Itemid=223
2 Siam Intelligence. บทสัมภาษณ์พิเศษ ทรงศักดิ์ สายเชื้อ: Think Tank จะเป็นเครื่องนำเสนอความคิดให้ส่วนราชการ.เข้าถึง
ข้อมูลวันที่ 3 มีนาคม 2558. [สื่อออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: http://www.siamintelligence.com/songsak-interview/
ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ
คอลัมน์ : ดร.แดน มองต่างแดน
ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
kriengsak@kriengsak.com, http:// www.kriengsak.com
แหล่งที่มาของภาพ : http://www.mfa.go.th/business/contents/images/text_editor/images/sri-lanka.jpg
Post date:
Tuesday, 24 March, 2015 - 15:33
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง
ปัจจัยความสำเร็จสู่ประเทศชั้นนำด้านนวัตกรรม
Total views: อ่าน 2,076 ครั้ง
การบริหารภาครัฐภายใต้สภาวะการเปลี่ยนแปลงในอนาคต
Total views: อ่าน 3,387 ครั้ง
แนวโน้มภัยคุกคามของการก่อการร้ายโลก
Total views: อ่าน 8,755 ครั้ง
การพัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพเพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร : กรณีศึกษาประเทศจีน
Total views: อ่าน 5,081 ครั้ง
ผลกระทบจากความมั่นคงของญี่ปุ่นสู่ความมั่นคงของไทย
Total views: อ่าน 6,142 ครั้ง