อัตราเกิดลด? มหาวิทยาลัยไทยจะอยู่รอดได้อย่างไร?
สำนักงานสถิติแห่งชาติ ได้เปิดเผยสถานการณ์ประชากรไทยและประชากรโลก (11 กรกฎาคม 2550) พบว่า ประเทศไทยมีจำนวนประชากรเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่เป็นการเพิ่มในอัตราที่ลดลง โดยโครงสร้างประชากรวัยเด็กมีจำนวนลดลง จากร้อยละ 21.6 ในปี 2550 เป็นร้อยละ 17.2 ในปี 2580 อัตราการเกิดมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องมาจากปี 2513 รัฐบาลมีนโยบายให้ประชาชนวางแผนครอบครัวโดยสมัครใจ ดังนั้น ตลอดระยะเวลา 30 กว่าปีที่ผ่านมา อัตราการเจริญพันธุ์จากที่เคยสูงถึง 6-7 คน ลดลงเหลือเพียง 1.7 คน (2548) ซึ่งเป็นภาวะเจริญพันธุ์ที่ต่ำกว่าระดับทดแทน และคาดว่าอัตราการเกิดจะมีแนวโน้มลดลงอีก ในขณะเดียวกัน ประชากรผู้สูงอายุมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น และเพิ่มในอัตราที่สูงขึ้นจากร้อยละ 8.2 ในปี 2550 เป็นร้อยละ 15.6 ในปี 2580
จากอัตราการเกิดที่ลดลง อาจส่งผลกระทบต่อสถาบันการศึกษาในอนาคต เพราะโรงเรียนและมหาวิทยาลัยต้องอาศัยนักเรียนนักศึกษาในจำนวนที่มากพอในการดำเนินกิจการ โดยสถาบันการศึกษาที่จะได้รับผลกระทบเป็นอันดับแรกคือ โรงเรียนระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ต่อมาจะเป็นมหาวิทยาลัย
ก่อนหน้านี้ ประเทศญี่ปุ่นได้รับผลกระทบจากอัตราการเกิดที่ลดลง โดยเริ่มแรกได้ส่งผลกระทบต่อโรงเรียนประถมและมัธยมหลายร้อยแห่ง จนต้องปิดตัวหรือรวมตัวกัน แต่ปัจจุบันได้ส่งผลกระทบต่อมหาวิทยาลัย เนื่องจากอัตราการเกิดที่ลดลงในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ส่งผลต่อเนื่องทำให้จำนวนประชากรวัยหนุ่มสาวลดลงด้วย
สำมะโนประชากรประเทศญี่ปุ่นระบุว่า ในปี 2550 ประชากรวัย 18 ปีของญี่ปุ่นลดลงเหลือ 1.3 ล้าน และคาดว่าในอีก 2 ปีข้างหน้า ประชากรวัย 18 ปีจะลดลงเหลือ 1.21 ล้านคน ส่งผลให้มหาวิทยาลัยในญี่ปุ่นเกือบ 1 ใน 3 อาจไม่สามารถเปิดสอนได้ครบทุกหลักสูตร ซึ่งที่ผ่านมามีมหาวิทยาลัยในญี่ปุ่นบางแห่งได้ปิดตัวเองลง เพราะจำนวนนักศึกษาไม่เพียงพอต่อห้องเรียนและวิทยาเขต มหาวิทยาลัยในญี่ปุ่นบางแห่งเริ่มหาทางออก โดยใช้วิธีดึงดูดนักศึกษากลุ่มใหม่ เช่น นักศึกษาต่างชาติ ผู้สูงอายุ เป็นต้น หรือเลือกที่จะพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและหลักสูตรการเรียนการสอน อย่างมหาวิทยาลัยเศรษฐศาสตร์ฟูกูโอกะ ยอมทุ่มเงินหลายล้านดอลลาร์ เพื่อสร้างหอพักหรูที่มีห้องพักเดี่ยวกว่า 700 ห้อง มีบริหารน้ำพุร้อน ห้องคาราโอเกะส่วนตัว มีสระว่ายน้ำ และสวนหย่อมที่ปลูกกุหลาบสีชมพู พร้อมทั้งลดค่าเล่าเรียนต่อปีลงครึ่งหนึ่ง และมีการสอนหลักสูตรสายบันเทิง
สังเกตได้ว่า การเอาตัวรอดจากผลกระทบของอัตราการเกิดที่ลดลงของมหาวิทยาลัยในญี่ปุ่น คือ การแสวงหาผลประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลง โดยการดึงดูดกลุ่มผู้เรียนกลุ่มใหม่ และการสร้างจุดเด่นให้แก่มหาวิทยาลัย โดยพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของมหาวิทยาลัย การลดค่าเล่าเรียน และเปิดหลักสูตรที่น่าสนใจ
การรองรับผลกระทบจากอัตราการเกิดที่ลดลงของมหาวิทยาลัยไทย
มหาวิทยาลัยไทยอาจมีแนวโน้มเช่นเดียวกันกับมหาวิทยาลัยในญี่ปุ่น เพราะอัตราการเกิดลดลง ย่อมส่งผลให้ที่อยู่ในวัย 18 ปี ลดลงไปด้วยในอนาคต ดังนั้น เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้มหาวิทยาลัยไทยต้องปิดตัวลงเช่นที่เกิดขึ้นในประเทศญี่ปุ่น ควรหาแนวทางรองรับไว้ตั้งแต่เนิ่น ๆ ดังนี้
มหาวิทยาลัยควรสร้างจุดเด่น จำนวนนักเรียนนักศึกษามีแนวโน้มลดลงในอนาคต ส่งผลให้มหาวิทยาลัยต้องแข่งขันกันเพื่อแย่งนักศึกษา หากสถาบันอุดมศึกษาทุกแห่งมีความคล้ายคลึงกันหมด นักเรียนนักศึกษาส่วนใหญ่ย่อมเลือกเรียนในมหาวิทยาลัยที่มีความโดดเด่น เช่น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ฯลฯ เพราะเป็นมหาวิทยาลัยที่ได้รับการยอมรับกันโดยทั่วไปว่า มีคุณภาพในด้านวิชาการและมีชื่อเสียงสะสมยาวนาน
ดังนั้น จำนวนนักเรียนนักศึกษาที่มีแนวโน้มลดลงนี้ อาจส่งผลกระทบต่อมหาวิทยาลัยที่ยังไม่มีชื่อเสียงมากนักหรือเป็นมหาวิทยาลัยเปิดใหม่ เพราะนักเรียนนักศึกษาอาจไม่เลือกเรียน จนประสบปัญหามีจำนวนนักศึกษาไม่เพียงพอ แต่ ldquo;จุดเด่นrdquo; จะสามารถดึงความสนใจของนักศึกษาได้ ดังตัวอย่างนักศึกษาที่เข้าเรียนในมหาวิทยาลัยเศรษฐศาสตร์ฟูกูโอกะ ให้เหตุผลในการเลือกมหาวิทยาลัยแห่งนี้ว่า ชื่นชอบที่มหาวิทยาลัยมีบ่อน้ำพุร้อน ห้องคาราโอเกะ สวนหย่อมแบบอังกฤษ ซึ่งไม่มีในมหาวิทยาลัยแห่งอื่น
การสร้าง ldquo;จุดเด่นrdquo; ในมหาวิทยาลัยไทย อาจเป็นในลักษณะของการพัฒนาคุณภาพของมหาวิทยาลัยให้โดดเด่นในด้านการวิจัย หลักสูตรที่มีความเฉพาะและโดดเด่น ตามศักยภาพและความพร้อมของแต่ละมหาวิทยาลัย และดึงเอาอาจารย์และนักวิจัยที่เก่งมาช่วยเพิ่มคุณภาพการศึกษา นอกจากนี้ อาจทำได้โดยการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในมหาวิทยาลัยควบคู่กันไป เช่น สร้างศูนย์วิจัย สร้างห้องสมุดขนาดใหญ่ สนามกีฬา หอพัก ตั้งบริษัทจำลองขึ้นในมหาวิทยาลัย ฯลฯ
มหาวิทยาลัยควรเปิดหลักสูตรรองรับนักศึกษากลุ่มใหม่ ท้ายที่สุดแล้ว มหาวิทยาลัยไทยอาจไม่สามารถต้านทานผลกระทบที่เกิดจากอัตราการเกิดที่ลดลง ซึ่งจำนวนนักศึกษามีแนวโน้มลดลงไปด้วยในอนาคต ประกอบกับสภาพการแข่งขันในการให้บริการการอุดมศึกษาที่มากขึ้นทั้งจากในและต่างประเทศ มหาวิทยาลัยต่าง ๆ อาจหาทางออก โดยเปิดหลักสูตรใหม่เพื่อดึงนักศึกษากลุ่มใหม่เข้ามา ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มคนวัยทำงาน กลุ่มผู้สูงอายุ หรือการเปิดหลักสูตรนานาชาติ เพื่อดึงกลุ่มนักศึกษาต่างชาติเข้ามาด้วย โดยอาจเริ่มต้นจากนักศึกษาต่างชาติที่อยู่ในภูมิภาคเดียวกัน แล้วค่อยขยายสู่ภูมิภาคอื่นทั่วโลก
มหาวิทยาลัยไทยคงชื่นชมกับอัตราการศึกษาต่อมหาวิทยาลัยที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องนี้ ได้เพียงไม่นาน เพราะอัตราการเกิดภายในประเทศที่ลดลงนี้ เป็นสัญญาณเตือนให้รู้ว่า ในอนาคตจำนวนนักศึกษาจะมีแนวโน้มลดลง ซึ่งมีบทเรียนจากมหาวิทยาลัยในญี่ปุ่นให้เห็นแล้ว ดังนั้น มหาวิทยาลัยไทยควรเตรียมการรองรับไว้ตั้งแต่เนิ่น ๆ
Tags:
เผยแพร่:
การศึกษาวันนี้
เมื่อ:
2007-11-08