มหาวิทยาลัยปรับตัว ในยุคอัตราเกิดลดลง
ศ. ดร. เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส ศูนย์ศึกษาธุรกิจและรัฐบาล มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
สำนักงานสถิติแห่งชาติได้รายงานผลการศึกษาสถานการณ์ประชากรโลกและประชากรไทย พบว่า จำนวนประชากรโลกมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2550 มีจำนวนประชากรทั่วโลกอยู่ที่ 6,605.0 ล้านคน แต่ในปี 2580 ประชากรโลกจะเพิ่มเป็น 8,725.7 ล้านคน โดยทวีปเอเชียมีประชากรมากสุดเป็นอันดับ 1 และอันดับ 2 ของโลก คือ จีนและอินเดีย
โดยประเทศอินเดีย มีการเปลี่ยนแปลงประชากรที่เด่นชัด ในปี 2550 อินเดียมีโครงสร้างประชากรเด็กสูงถึงร้อยละ 31.8 มีอัตราการเกิด 22.7 ต่อประชากร 1 พันคน อัตราการเจริญพันธุ์โดยเฉลี่ยสูงถึงร้อยละ 2.8 ในขณะที่สัดส่วนผู้สูงอายุน้อยมาก เพียงร้อยละ 5.1 เท่านั้น ตรงข้ามกับยุโรป มีจำนวนประชากรลดลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรวัยเด็กที่มีสัดส่วนลดลงจากร้อยละ 15.4 ในปี 2550 เป็นร้อยละ 14.1 ในปี 2580 เพราะมีอัตราการเกิดต่ำมาก เมื่อเทียบกับภูมิภาคอื่น เพราะอัตราการเจริญพันธุ์โดยเฉลี่ยต่ำกว่าระดับทดแทน เพียง 1.4 คน (ระดับทดแทนคือ 2 คน) ในขณะที่ประชากรผู้สูงอายุมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 16.3 ในปี 2550 เป็นร้อยละ 22.3 ในปี 2580 ทำให้ยุโรปเป็นภูมิภาคเดียวที่มีประชากรสูงอายุมากกว่าประชากรวัยเด็ก
ประเทศไทยมีแนวโน้มของโครงสร้างประชากรคล้ายคลึงกับยุโรป แม้ว่ามีจำนวนประชากรเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่เป็นการเพิ่มในอัตราที่ลดลง โดยโครงสร้างประชากรวัยเด็กมีจำนวนลดลง จากร้อยละ 21.6 ในปี 2550 เป็นร้อยละ 17.2 ในปี 2580 อัตราการเกิดมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องมาจากปี 2513 รัฐบาลมีนโยบายให้ประชาชนวางแผนครอบครัวโดยสมัครใจ ดังนั้น ตลอดระยะเวลา 30 กว่าปีที่ผ่านมา อัตราการเจริญพันธุ์จากที่เคยสูงถึง 6-7 คน ลดลงเหลือเพียง 1.7 คน (2548) ซึ่งเป็นภาวะเจริญพันธุ์ที่ต่ำกว่าระดับทดแทน และคาดว่าอัตราการเกิดจะมีแนวโน้มลดลงอีก ในขณะเดียวกัน ประชากรผู้สูงอายุมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น และเพิ่มในอัตราที่สูงขึ้นจากร้อยละ 8.2 ในปี 2550 เป็นร้อยละ 15.6 ในปี 2580 ซึ่งในอนาคตประเทศไทยจะก้าวสู่การเป็นสังคมผู้สูงอายุในที่สุด
ผลกระทบต่อสถาบันการศึกษาจากอัตราการเกิดที่ลดลง
อัตราการเกิดที่ลดลง อาจส่งผลกระทบต่อสถาบันการศึกษาในอนาคต เพราะโรงเรียนและมหาวิทยาลัยต้องอาศัยนักเรียนนักศึกษาในจำนวนที่มากพอในการดำเนินกิจการ หากอัตราการเกิดน้อยลง สถาบันการศึกษาที่จะได้รับผลกระทบเป็นอันดับแรกคือ โรงเรียนในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน และต่อมาคือ มหาวิทยาลัย
ก่อนหน้านี้ ประเทศญี่ปุ่นได้รับผลกระทบจากอัตราการเกิดที่ลดลง โดยเริ่มแรกได้ส่งผลกระทบต่อโรงเรียนประถมและมัธยมหลายร้อยแห่ง จนต้องปิดตัวหรือรวมตัวกัน แต่ปัจจุบันได้ส่งผลกระทบต่อมหาวิทยาลัย เนื่องจากอัตราการเกิดที่ลดลงในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ได้ทำให้จำนวนประชากรวัยหนุ่มสาวลดลงไปด้วย
สำมะโนประชากรประเทศญี่ปุ่นระบุว่า ในปี 2550 ประชากรวัย 18 ปีของญี่ปุ่นลดลงเหลือ 1.3 ล้าน หากเทียบกับปี 2535 ที่มีจำนวนประชากรวัย 18 ปี ถึง 2.05 ล้านคน ซึ่งเป็นเยาวชนที่เกิดในยุคที่มีอัตราการเกิดสูงสุด และคาดการณ์กันว่าในอีก 2 ปีข้างหน้า ประชากรวัย 18 ปีจะลดลงเหลือ 1.21 ล้านคน ส่งผลให้มหาวิทยาลัยในญี่ปุ่นเกือบ 1 ใน 3 อาจไม่สามารถเปิดสอนได้ครบทุกหลักสูตร ซึ่งที่ผ่านมามีมหาวิทยาลัยในญี่ปุ่นบางแห่งได้ปิดตัวเองลง เพราะจำนวนนักศึกษาไม่เพียงพอต่อห้องเรียนและวิทยาเขต
คงจำกันได้ว่า เมื่อหลายปีก่อน นักเรียนญี่ปุ่นต้องเคร่งเครียดเพื่อสอบแข่งขันเข้ามหาวิทยาลัย แต่ปัจจุบัน มหาวิทยาลัยกลับต้องแข่งขันกันแย่งนักศึกษา จึงมีความเป็นห่วงกันว่า มหาวิทยาลัยอาจลดมาตรฐานการสอบเอนทรานซ์ลง เพื่อเปิดรับนักศึกษาให้ได้ในจำนวนที่ต้องการ ในขณะที่บางมหาวิทยาลัยเลือกที่จะดึงดูดนักศึกษากลุ่มใหม่ เช่น นักศึกษาต่างชาติ ผู้สูงอายุ เป็นต้น หรือเลือกที่จะพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและหลักสูตรการเรียนการสอน อย่างมหาวิทยาลัยเศรษฐศาสตร์ฟูกูโอกะ ยอมทุ่มเงินกว่า 50 ล้านดอลลาร์ สร้างหอพักหรู ซึ่งมีห้องพักเดี่ยวกว่า 700 ห้อง มีบริหารน้ำพุร้อนในหอพัก ห้องคาราโอเกะส่วนตัว สระว่ายน้ำ และสวนหย่อมแบบอังกฤษที่ปลูกกุหลาบสีชมพู พร้อมทั้งลดค่าเล่าเรียนต่อปีลงครึ่งหนึ่ง และมีการสอนวิชาเอก ldquo;ธุรกิจคนดังrdquo; รองรับนักศึกษาที่ต้องการทำงานเชิงสร้างสรรค์และสายบันเทิง (ldquo;เทรนด์ใหม่การศึกษาญี่ปุ่นสถาบันต้องง้อนักศึกษา,rdquo; กรุงเทพธุรกิจ, 3 ก.ค. 50, หน้า 14)
สรุปแล้ว ความพยายามในการเอาตัวรอดจากผลกระทบของอัตราการเกิดของประชากรที่ลดลงของมหาวิทยาลัยในญี่ปุ่น โดยแสวงหาประโยชน์ในสิ่งที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลง ซึ่งมี 2 ลักษณะ คือ การดึงดูดกลุ่มผู้เรียนกลุ่มใหม่ที่เป็นนักศึกษาต่างชาติและผู้สูงอายุ และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของมหาวิทยาลัยให้โดดเด่น การลดค่าเล่าเรียน และเปิดหลักสูตรที่น่าสนใจเพื่อดึงดูดผู้เรียน
ทางออกมหาวิทยาลัยไทยในยุคที่จำนวนนักศึกษาลดลง
มหาวิทยาลัยไทยในอนาคต อาจมีแนวโน้มเช่นเดียวกันกับมหาวิทยาลัยในญี่ปุ่น เนื่องจากอัตราการเกิดลดลง ส่งผลให้คนวัยหนุ่มสาวลดลงในอนาคต ดังนั้น เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้มหาวิทยาลัยไทยต้องปิดตัวลงเช่นเดียวกับมหาวิทยาลัยในญี่ปุ่นบางแห่ง ควรมีแนวทางรองรับไว้ตั้งแต่เนิ่น ๆ ดังนี้
สร้างเอกลักษณ์ให้มหาวิทยาลัย
ในอนาคต จำนวนนักเรียนนักศึกษามีแนวโน้มลดลง ส่งผลให้มหาวิทยาลัยต้องแข่งขันกันเพื่อแย่งนักศึกษา หากสถาบันอุดมศึกษาทุกแห่งมีความคล้ายคลึงกันหมด นักเรียนนักศึกษาส่วนใหญ่ย่อมเลือกเรียนในมหาวิทยาลัยที่มีความโดดเด่น เช่น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ฯลฯ เพราะเป็นมหาวิทยาลัยที่ได้รับการยอมรับกันโดยทั่วไปว่า มีคุณภาพในด้านวิชาการและมีชื่อเสียงสะสมยาวนาน ดังนั้น จำนวนนักเรียนนักศึกษาที่มีแนวโน้มลดน้อยลงนี้ อาจส่งผลกระทบต่อมหาวิทยาลัยที่ยังไม่มีชื่อเสียงมากนักหรือเป็นมหาวิทยาลัยเปิดใหม่ เพราะนักเรียนนักศึกษาอาจไม่เลือกเรียน จนประสบปัญหามีจำนวนนักศึกษาไม่เพียงพอ
หากมหาวิทยาลัยหันมาสร้าง ldquo;เอกลักษณ์rdquo; จะสามารถดึงความสนใจของนักศึกษาได้ในระดับหนึ่ง ดังตัวอย่างนักศึกษาที่เข้ามาเรียนในมหาวิทยาลัยเศรษฐศาสตร์ฟูกูโอกะ ได้ให้เหตุผลว่า ชื่นชอบที่มหาวิทยาลัยมีบ่อน้ำพุร้อน ห้องคาราโอเกะ สวนหย่อมแบบอังกฤษ ซึ่งไม่มีในมหาวิทยาลัยแห่งอื่นในญี่ปุ่น
สำหรับมหาวิทยาลัยไทย การสร้างเอกลักษณ์ อาจเป็นในลักษณะของการพัฒนาคุณภาพของมหาวิทยาลัยให้โดดเด่นในด้านการวิจัย สาขาการบริหารธุรกิจ หรือสาขาวิทยาศาสตร์ ฯลฯ ตามศักภาพและความพร้อมด้านทรัพยากรทางการศึกษา และดึงเอาอาจารย์และนักวิจัยที่เก่งมาช่วยเพิ่มคุณภาพการศึกษา ในด้านหรือสาขาที่มหาวิทยาลัยตั้งใจให้เป็นเอกลักษณ์ ทั้งนี้ มหาวิทยาลัย 1 แห่ง อาจมีความโดดเด่นได้หลายด้านก็ได้ หากมีศักยภาพและทรัพยากรเพียงพอ นอกจากนี้ อาจทำได้โดยการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในมหาวิทยาลัยควบคู่กันไป เช่น สร้างศูนย์วิจัย สร้างห้องสมุดขนาดใหญ่ สนามกีฬา หอพัก ตั้งบริษัทจำลองขึ้นในมหาวิทยาลัย ฯลฯ
เปิดหลักสูตรรองรับนักศึกษากลุ่มใหม่
ในท้ายที่สุดแล้ว มหาวิทยาลัยไทยอาจไม่สามารถต้านทานการเปลี่ยนแปลงของจำนวนนักศึกษาที่อายุยังน้อยมีแนวโน้มลดลงในอนาคต อาจหาทางออกโดยเปิดหลักสูตรใหม่เพื่อดึงนักศึกษากลุ่มใหม่เข้ามา ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มคนวัยทำงานรวมถึงกลุ่มผู้สูงอายุ และอาจเปิดหลักสูตรนานาชาติ เพื่อดึงกลุ่มนักศึกษาต่างชาติเข้ามาด้วย โดยอาจเริ่มต้นจากนักศึกษาต่างชาติที่อยู่ในภูมิภาคเดียวกัน เช่น เวียดนาม ลาว พม่า มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฯลฯ แล้วค่อยขยายสู่ภูมิภาคอื่น ๆ ของโลก
ต้องยอมรับว่า มหาวิทยาลัยไทยคงชื่นชมกับอัตราการเข้าศึกษาต่อมหาวิทยาลัยที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องได้เพียงไม่นาน เพราะผลกระทบจากอัตราการเกิดของประชากรที่ลดลง และเริ่มก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ นับว่าเป็นสัญญาณเตือนที่ประเทศไทยต้องตระหนักและหาแนวทางตั้งรับเช่นเดียวกับประเทศญี่ปุ่น
Tags:
เผยแพร่:
การศึกษาอัพเกรด
เมื่อ:
2007-10-25