ควรย้ายกลับมาสนามบินดอนเมืองหรือไม่?

ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้มีมติให้ใช้ท่าอากาศยานกรุงเทพ (สนามบินดอนเมือง) เป็นสนามบินนานาชาติแห่งที่ 2 คู่กับท่าอากาศยานสุวรรณภูมิซึ่งเป็นสนามบินหลัก โดยกำหนดให้สายการบินย้ายเที่ยวบิน ทั้งในและระหว่างประเทศ กลับมาที่สนามบินดอนเมืองแบบสมัครใจ รวมทั้งจะปรับอัตราค่าธรรมเนียม และค่าบริการการใช้สนามบินสุวรรณภูมิและสนามบินดอนเมือง ที่มีความแตกต่างกันในปัจจุบันให้มีอัตราเท่ากันด้วย

เหตุผลของการย้ายกลับมาใช้สนามบินดอนเมือง เกิดจากสนามบินสุวรรณภูมิเริ่มมีข้อจำกัดในการรองรับผู้โดยสาร รวมถึงความจำเป็นต้องปิดซ่อมบางส่วน นอกจากนี้ยังช่วยประหยัดงบประมาณได้กว่า 40,000 ล้านบาท จากการชะลอการลงทุนในสนามบินสุวรรณภูมิเฟสที่ 2

แม้รัฐบาลมีความจำเป็นในการย้ายกลับมาใช้สนามบินดอนเมือง แต่สังคมยังสงสัยว่า ในระยะยาว ประเทศไทยควรใช้สนามบินแห่งเดียวหรือสองแห่ง ควรจัดสรรให้สายการบินใดให้บริการอยู่ที่สนามบินใด และการย้ายสายการบินกลับไปยังสนามบินดอนเมืองแบบสมัครใจ ทำให้เกิดประสิทธิในระบบเศรษฐกิจภาพสูงสุดหรือไม่ รวมทั้งควรกำหนดค่าธรรมเนียมและค่าบริการต่าง ๆ ในอัตราเท่าไร

นอกจากนี้ ยังมีความกังวลว่า การใช้สองสนามบินอาจทำให้ไทยสูญเสียความเป็นศูนย์กลางการบินในภูมิภาค (ฮับ) และอาจก่อให้เกิดความยุ่งยากในการบริหารจัดการ ทำให้ภาครัฐและสายการบินมีต้นทุนสูงขึ้นและเกิดการสิ้นเปลือง เนื่องจากจะต้องจัดสรรทรัพยากรและเจ้าหน้าที่ ไปประจำอยู่ทั้งสองสนามบิน รวมถึงอาจทำให้ผู้โดยสารเกิดความสับสนและไม่สะดวกในการใช้บริการ

ผมจึงขอเสนอแนะให้ภาครัฐใช้ ldquo;กลไกตลาดrdquo; ในการตอบโจทย์ดังกล่าว โดยแนวทางการดำเนินการมีอยู่ 2 วิธีการหลัก ๆ คือ การเปิดประมูลเพื่อคัดเลือกสายการบินที่จะให้บริการที่สนามบินดอนเมืองและ/หรือสนามบินสุวรรณภูมิ และการทำให้มีการแข่งขันกันระหว่างสนามบินสุวรรณภูมิและสนามบินดอนเมือง ซึ่งน่าจะเป็นวิธีการที่สามารถตอบคำถามต่าง ๆ ได้เกือบครบถ้วน

สายการบินใดควรอยู่ที่สนามบินแห่งใด?

แนวคิดดังกล่าวไม่ขัดแย้งกับหลักความสมัครใจ และยังเปิดโอกาสให้สายการบินพิจารณาความเสี่ยงและคุ้มค่าในการลงทุนเองว่า ควรให้บริการที่สนามบินใดหรือเปิดให้บริการทั้งสองแห่ง การที่สายการบินเป็นภาคเอกชนที่มีการแข่งขันกัน จึงมีแรงจูงใจที่จะลดต้นทุนให้ต่ำที่สุดหรือเลือกลงทุนในที่ที่คุ้มค่ามากที่สุด เพื่อทำกำไรสูงสุด ด้วยวิธีการนี้จึงทำให้ผู้ประกอบการสายการบินมีทางเลือกและมีต้นทุนในการดำเนินงานต่ำที่สุด และทำให้การลงทุนของสายการบินโดยรวมมีความคุ้มค่ามากที่สุด ซึ่งจะทำให้ประเทศไทยสามารถรักษาความได้เปรียบในการเป็นศูนย์กลางการบินในภูมิภาคไว้ได้

ค่าธรรมเนียมและค่าบริการควรกำหนดอย่างไร?

การกำหนดค่าธรรมเนียมและค่าบริการต่าง ๆ ของทั้งสองสนามบินให้เท่ากัน เป็นวิธีการที่ไม่เหมาะสม เนื่องจากสนามบินทั้งสองแห่งมีต้นทุนในการดำเนินงานไม่เท่ากัน มีสิ่งอำนวยความสะดวกแตกต่างกัน และมีความต้องการเข้ามาใช้บริการและความต้องการเข้ามาลงทุนแตกต่างกัน ดังนั้นการกำหนดค่าธรรมเนียมและค่าบริการที่เท่ากันจะทำให้เกิดการบิดเบือนกลไกตลาด ซึ่งทำให้ไม่เกิดประสิทธิภาพในการจัดสรรทรัพยากร ทั้งในด้านบริหารสนามบิน การลงทุนของสายการบิน และการใช้บริการของประชาชน

การแข่งขันระหว่างสนามบินและการเปิดประมูล จะทำให้สนามบินแต่ละแห่งทราบว่า ควรกำหนดค่าธรรมเนียมและค่าบริการในอัตราเท่าไร เพราะราคาที่สายการบินยื่นประมูล เป็นอัตราที่สายการบินได้ประเมินแล้วว่าสามารถแข่งขันได้หรืออยู่รอดได้ ขณะที่สนามบินสามารถกำหนดราคาประมูลต่ำสุดและจำนวนสายการบินที่จะเปิดรับได้ เพื่อทำให้การบริหารสนามบินมีความคุ้มทุนและแข่งขันกับสนามบินอื่น ๆ ได้ ซึ่งในที่สุด จะทำให้ผู้บริโภคได้รับบริการในราคาที่เป็นธรรม แต่หากสายการบินเสนอราคาประมูลสูงมาก จนทำให้สนามบินมีกำไรสูง สนามบินอาจช่วยผู้โดยสารได้ด้วยการลดค่าธรรมเนียมการใช้สนามบิน

ควรเปิดใช้สนามบินแห่งใดบ้าง?

วิธีการดังกล่าวยังทำให้ภาครัฐทราบด้วยว่า ควรเปิดใช้สนามบินแห่งใด หรือควรใช้สนามบินทั้งสองแห่ง เพราะอัตราค่าธรรมเนียมและค่าบริการต่าง ๆ จะเป็นตัวสะท้อนว่า สนามบินแต่ละแห่งจะสามารถอยู่รอดได้หรือไม่ ทั้งนี้หากราคาประมูลต่ำกว่าต้นทุนหน่วยสุดท้าย (marginal cost) ของการดำเนินการของสนามบินแห่งใดแห่งหนึ่ง หรือการดำเนินการของสนามบินแห่งนั้นไม่คุ้มทุน แสดงว่าการเปิดดำเนินการในสนามบินแห่งนั้น อาจไม่ใช่ทางเลือกที่มีประสิทธิภาพสูงสุด หรือหมายความว่า นโยบายสนามนานาชาติสองแห่ง ไม่เหมาะสมต่อประเทศไทย แต่หากราคาประมูลสูงกว่าต้นทุนหน่วยสุดท้ายของการดำเนินการสนามบินทั้งสองแห่ง แสดงว่าการเปิดใช้สนามบินทั้งสองแห่งเป็นนโยบายที่เหมาะสม

อย่างไรก็ตาม มีความเป็นไปได้ว่า หากให้มีการย้ายสนามบิน อาจทำให้การดำเนินการของทั้งสองสนามบินไม่มีความคุ้มทุน เนื่องจากการที่สนามบินแต่ละแห่งไม่ได้ให้บริการเต็มศักภาพของสนามบิน หรือไม่มีความประหยัดจากขนาด (economy of scale) ในสถานการณ์เช่นนี้ ภาครัฐจำเป็นต้องเลือกเปิดบริการในสนามบินเพียงแห่งใดแห่งหนึ่ง ซึ่งมีความคุ้มค่าและคุ้มทุนมากกว่า

ข้อกังวลที่สำคัญ คือ หากต้องเปิดใช้ทั้งสองสนามบิน จะทำให้ต้นทุนด้านลอจิสติกส์ของประเทศสูงขึ้น และทำให้เกิดความยุ่งยากสับสน ผมเห็นว่า ภายใต้กลไกตลาด ผู้ที่ต้องการเดินทางและขนส่งสินค้า จะเป็นผู้ประเมินเองว่า การเดินทางและขนส่งเส้นทางใดที่มีต้นทุนต่ำที่สุด เมื่อตลาดมีความต้องการ จะทำให้สายการบินเข้ามาลงทุนให้บริการเพื่อรองรับความต้องการในเส้นทางดังกล่าวเอง และหากมีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านลอจิสติกส์ระหว่างสองสนามบิน จะยิ่งทำให้ต้นทุนดังกล่าวต่ำลง ส่วนข้อกังวลเรื่องความยุ่งยากสับสน ผมเห็นว่า สามารถแก้ปัญหาได้ด้วยการจัดระบบและการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ

การดำเนินนโยบายสนามบินทั้งสองแห่ง ควรคำนึงถึงหลักประสิทธิภาพสูงสุด ความคุ้มค่าในการลงทุนทั้งของภาครัฐและเอกชน ความสามารถการแข่งขัน และการพัฒนาสู่การเป็นศูนย์กลางการบินในภูมิภาค โดยทำให้ประชาชนได้รับประโยชน์สูงสุด ซึ่งผมเห็นว่า ldquo;กลไกตลาดrdquo; สามารถทำหน้าที่นี้ได้ดีที่สุด
admin
เผยแพร่: 
0
เมื่อ: 
2007-02-24