กระบวนการในการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่
เรียนมิตรสหายที่เคารพรัก
มีความพยายามที่ส่งเสริมให้ทุกภาคส่วนของสังคมไทยได้รับเลือกและเข้ามาทำหน้าที่ในสมัชชาแห่งชาติ โดยสมัชชาแห่งชาติ จำนวนไม่เกิน 2000 คน มาจาก 8 ประเภท คือ ตัวแทนภาคเศรษฐกิจและสังคม 767 คน ตัวแทนภาครัฐ 318 คน ตัวแทนภาคการเมืองและการปกครองท้องถิ่น 227 คน ผู้แทนองค์องค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ 16 คน ผู้ทรงคุณวุฒิ 302 คน นิสิตนักศึกษา 140 คน คณะรัฐมนตรีสรรหา 115 คน และคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติสรรหา 115 คน
หลังจากนั้น สมัชชาแห่งชาติคัดเลือกกันเอง ให้เหลือ 200 คน ภายใน 7 วัน และขั้นตอนสุดท้าย คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ(คมช.) จะทำการคัดเลือกให้เหลือ 100 คน เพื่อเป็นสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ และแต่งตั้งคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญขึ้น อันประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิจำนวน 35 คน มาจากสภาร่างรัฐธรรมนูญคัดเลือก (เป็นหรือไม่เป็นสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญก็ได้) 25 คน และตามคำแนะนำของประธาน คมช. อีก 10 คน (เป็นหรือไม่เป็นสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญก็ได้)
รัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะมีโครงสร้างและกำหนดกติกาในการปกครองประเทศอย่างไรนั้นคงต้องยอมรับว่าทั้ง 35 คน มีบทบาทเป็นอย่างมาก แต่อย่างไรก็ตาม ผมเห็นว่าสังคมไทยไม่ควรอยู่เฉยโดยปล่อยให้เป็นหน้าที่ของคณะกรรมาธิการทั้ง 35 คน เพียงลำพัง แต่ควรที่จะเอาใจใส่และให้ความสำคัญ เพราะบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวมีความสำคัญเป็นอย่างมากในการกำหนดความเป็นไปในสังคมไทย สิทธิและเสรีภาพของประชาชน ตลอดจนกลไกการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ หรือการสร้างความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจในมิติต่าง ๆ เป็นต้น
ดังนั้น ในการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ทุกภาคส่วนของสังคมไทยควรเข้ามามีส่วนร่วมกันคิด ร่วมกันทำ ดังนี้
ประการแรก สมัชชาแห่งชาติจำนวน 1900 คน ที่ไม่ได้รับเลือกเป็นสภาร่างรัฐธรรมนูญ ไม่ควรที่จะถูกยกเลิกไปเฉย ๆ แต่ควรเข้ามามีบทบาทหรือเข้ามามีส่วนร่วมเกี่ยวกับการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ด้วย เช่น อาจตั้งเป็นองค์กรเฉพาะกิจทำหน้าที่ในการรณรงค์ให้ความรู้และเผยแพร่ให้ประชาชนในแต่ละจังหวัดให้มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญที่มีต่อวิถีประชาชน ขณะเดียวกัน ควรจัดให้มีเวทีคอยรับฟังความคิดเห็น และความต้องการของประชาชนในแต่ละจังหวัด เพื่อส่งต่อข้อเสนอแนะดังกล่าวไปยังสภาร่างรัฐธรรมนูญ และคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ในการนำมาพิจารณาประกอบการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ต่อไป
ประการที่สอง สื่อมวลชนแขนงต่าง ๆ ตั้งแต่ หนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ หรือทางเว็บไซด์ ควรที่จะเปิดพื้นที่ของสื่อทุกประเภทเพื่อเป็นการรณรงค์และสร้างให้ประชาชนเกิดความรู้ ความเข้าใจ และเกิดความตื่นตัวกันทั้งประเทศว่ารัฐธรรมนูญนั้นไม่ใช่เรื่องที่ไกลตัวแต่มีความสำคัญและเกี่ยวข้องกับการกำหนดวิถีชีวิตของประชาชนตลอดจนการจัดโครงสร้างในการปกครองประเทศ ในอีกทางหนึ่ง ควรเปิดพื้นที่ที่เป็นสื่อกลางคอยทำหน้าที่รับฟังความคิดเห็น และข้อเสนอแนะต่าง ๆ เพื่อสื่อสารเนื้อหาดังกล่าวไปยังคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งจะทำให้การร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เป็นฉบับที่ประชาชนมีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็นอย่างแท้จริง
ประการที่สาม ภาควิชาการ สถาบันการศึกษา ภาคองค์กรพัฒนาเอกชนหรือภาคประชาสังคม ควรที่จะจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับเงา ซึ่งกลั่นกรองมาจากงานวิจัยทางวิชาการ การประเมินผลดีผลเสียจากการใช้รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 จากภาคปฏิบัติจริง การรวบรวมความคิดเห็นต่าง ๆ จากภาคประชาชนในจังหวัดต่าง ๆ แล้วเผยแพร่ต่อสาธารณชน ขณะเดียวกันก็ยื่นร่างดังกล่าวเสนอต่อคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญได้พิจารณาและรับฟังต่อข้อเสนอดังกล่าว ประการที่สี่ ก่อนมีการทำประชามติโดยประชาชนทั่วทั้งประเทศ ควรจัดให้มีเวทีสาธารณะเพื่อตอบข้อซักถามหรือข้อสงสัยเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยถ่ายทอดผ่านสื่อวิทยุโทรทัศน์ทั่วประเทศ เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนในทุกระดับได้รับรู้และมีส่วนร่วมอีกทั้งเพื่อให้รัฐธรรมนูญเป็นฉบับที่มาจากประชาชนจริง ๆ มิใช่เพียงแค่ในรูปแบบเท่านั้น
กล่าวถึงตรงนี้แล้ว ระยะเวลา 6ndash;8 เดือนข้างหน้า รัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะเป็นสิ่งที่กำหนดอนาคตของประเทศไทยว่าจะเดินหน้าไปอย่างไร ดังนั้น สังคมไทยไม่ควรอยู่นิ่งเฉย แต่ควรเข้ามามีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็น วิพากษ์วิจารณ์ และเสนอแนะ เพื่อให้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่เป็นฉบับที่มาจากประชาชนอย่างแท้จริง หรืออย่างน้อย ต้องช่วยกันทำให้กระบวนการร่างรัฐธรรมนูญมีภาคประชาชนเกี่ยวข้องมากที่สุดเท่าที่เป็นไปได้