ห้ามค้าปลีกยักษ์ขยายสาขา..เป็นธรรมหรือไม่

เรียนมิตรสหายที่เคารพรัก

สงครามค้าปลีกเริ่มส่อเค้าขยายวง เมื่อเอกอัครราชทูตอังกฤษประจำประเทศไทยออกมาเรียกร้องรัฐบาลไทยให้ความเป็นธรรมกับค้าปลีกต่างชาติ พร้อมทั้งกระตุ้นให้รัฐบาลไทยเป็นธรรมกับนักลงทุนจากต่างชาติ โดยเฉพาะการขยายกิจการซูเปอร์สโตร์และการลงทุนจากภายนอกนั้น เป็นประโยชน์และมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจของประเทศไทย ดังนั้นการดำเนินนโยบายการใดๆ จะต้องสมดุลและเป็นธรรมกับทุกฝ่ายผมเชื่อมั่นว่าร้านโชว์ห่วยของไทยยังไม่ถึงกับหมดทางสู้เสียทีเดียว หากเร่งพัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบการร้านค้าโชว์ห่วยอย่างจริงจังและอย่างถูกวิธีให้ความสามารถแข่งขันได้

ผมคิดว่าการออกมาปกป้องธุรกิจของรัฐบาลต่างชาติที่เข้ามาลงทุนในประเทศไทย มีข้อถกเถียงสำคัญเกี่ยวกับนิยามของ ldquo;ความเป็นธรรมrdquo; เพราะหากพิจารณาในแง่ข้อจำกัดของการประกอบธุรกิจ กิจการค้าปลีกขนาดใหญ่ย่อมมีข้อจำกัดทางกฎหมายกว่ากิจการร้านค้าโชว์ห่วย แต่หากพิจารณาในแง่ของการแข่งขันที่เป็นธรรม การให้กิจการขนาดใหญ่ตั้งสาขาในพื้นที่ต่างๆ ได้เหมือนกับร้านค้าโชว์ห่วย ย่อมไม่เป็นธรรมต่อร้านค้าโชว์ห่วย เพราะกิจการค้าปลีกขนาดใหญ่มีความได้เปรียบมากกว่าร้านค้าโชว์ห่วยอยู่แล้วโดยธรรมชาติ เนื่องจาก

1. ความแข็งแกร่งของร้านค้าปลีกสมัยใหม่ ประเด็นที่จะกล่าวต่อไปนี้เป็นจุดแข็งของร้านค้าปลีกสมัยใหม่ ในทางตรงกันข้ามเป็นจุดอ่อนของร้านค้าปลีกรายย่อยด้วย อาทิ

การบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ การมีเงินทุนจำนวนมาก การบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ การลดขั้นตอนการดำเนินงาน โดยที่คนกลาง ยี่ปั๊วและซาปั๊วถูกตัดทิ้งไป ทำให้มีต้นทุนต่ำลง ตลอดจนมีระบบจัดส่งสินค้าเข้าถึงลูกค้าโดยตรง และมีความพิถีพิถันในรายละเอียด แม้แต่วิธีการชำระเงินที่สามารถตอบสนองผู้บริโภคได้ดีกว่า

ความประหยัดต่อขนาด (economy of scale) เนื่องจากองค์กรมีขนาดใหญ่ที่มีการซื้อสินค้าจำนวนมาก ๆ ทำให้การจัดซื้อสินค้ามีต้นทุนต่ำ ขณะที่การขนส่งสินค้าจำนวนมากทำให้ต้นทุนการขนส่งต่อหน่วยต่ำมากกว่ากิจการร้านค้าขนาดเล็ก

ความสะดวกสบาย มีที่จอดรถอย่างเพียงพอและมีสินค้าให้เลือกอย่างหลากหลายและครบครันจำนวนมากว่า 40,000 รายการขึ้นไป จึงสามารถตอบสนองด้านความต้องการสินค้าอุปโภคบริโภคได้ดีกว่า และสามารถตอบสนองความต้องการของประชาชนและครอบครัวในเมืองที่ส่วนใหญ่จะมียานพาหนะ ขณะที่ร้านสะดวกซื้อยังมีสินค้าที่จำเป็นอย่างครบถ้วน มีการติดเครื่องปรับอากาศ ตั้งอยู่ใกล้แหล่งที่อยู่อาศัย พร้อมทั้งให้บริการที่รวดเร็วเป็นระบบ และให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง

ใช้เทคโนโลยีในศูนย์กระจายสินค้า เช่น การใช้ระบบ electronics data interchange และ logistics ทำให้การบริหารสินค้าคงคลังมีประสิทธิภาพ มีจำนวนสินค้าคงคลังในระดับที่เหมาะสม และสามารถปรับปรุงการกระจายสินค้าทำให้มีต้นทุนการขนส่งและการกระจายสินค้าที่ต่ำลง ตลอดจนมีการถ่ายทอดเทคโนโลยีการจัดการให้แก่ผู้ผลิตสินค้า ทำให้ผู้ผลิตและจัดส่งสินค้าต้องปรับตัวไปใช้เทคโนโลยีที่สอดคล้องกับร้านค้าปลีกสมัยใหม่ทั้งหมด ซึ่งในประเด็นนี้ร้านค้าปลีกรายย่อยจะเสียเปรียบอย่างมาก เพราะไม่สามารถลงทุนเพื่อใช้เทคโนโลยีในการตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้

เข้าใจพฤติกรรมการบริโภคอย่างดี และเข้าใจถึงการเปลี่ยนแปลงของการบริโภคในแต่ละช่วงเวลา ตลอดจนมีการฝึกอบรมพนักงานให้มีความสุภาพและมีความเข้าใจสินค้าแต่ประเภทเป็นอย่างดี ร้านค้าปลีกสมัยใหม่จึงสามารถปรับปรุงสินค้าและบริการตามความต้องการของลูกค้าได้เป็นอย่างดี ขณะที่ร้านค้าปลีกขนาดเล็กไม่มีสิ่งเหล่านี้

การโฆษณาประชาสัมพันธ์ผ่านช่องทางต่างๆ ประกอบกับมีกลยุทธ์การจัดวางสินค้า ซึ่งร้านค้าปลีกสมัยใหม่มีข้อมูลที่ทำให้ทราบว่า ควรวางสินค้าประเภทใดไว้ที่ตำแหน่งใด และทราบว่าลูกค้าควรจะเห็นสินค้าประเภทใดก่อน-หลัง เพื่อจูงใจให้ซื้อสินค้ามากที่สุด กิจการค้าปลีกสมัยใหม่จึงสามารถดึงดูดผู้บริโภคเข้าไปซื้อสินค้าและใช้บริการได้มากกว่าร้านค้าโชว์ห่วย

2. กลยุทธ์การแข่งขันของร้านค้าปลีกสมัยใหม่

การขายสินค้าราคาต่ำ (loss leading) เพื่อกำจัดคู่แข่งให้ออกจากธุรกิจ และจะทำให้ตนเองผูกขาดในธุรกิจดังกล่าว พฤติกรรมนี้ของร้านค้าปลีกขนาดใหญ่คือ การกำหนดราคาสินค้าต่ำแต่เน้นยอดขายจำนวนมาก โดยยอมรับกำไรเบื้องต้นเพียงร้อยละ 8-12

ในขณะที่ห้างสรรพสินค้าและร้านสะดวกซื้อมีกำไรเบื้องต้น ร้อยละ 16-20 การขายราคาต่ำมาก (predator price) ซึ่งบางครั้งอาจต่ำกว่าต้นทุนแปรผัน (variable cost) สังเกตได้จากรายได้จากการขายสินค้ากลับมีผลการขาดทุน แต่กิจการกลับขยายตัวมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยมีรายได้จากช่องทางอื่นที่ทำให้มีกำไร

การขยายสาขาเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วทำให้มียอดการสั่งซื้อจำนวนมาก ซึ่งส่งผลทำให้ได้รับส่วนลดในการจัดซื้อสินค้ามากขึ้น และสามารถต่อรองให้ผู้ผลิตสินค้าเข้ามาร่วมแบกรับต้นทุนบางส่วนได้ เช่น การประมูลขายพื้นที่บนชั้นวางสินค้า การจัดรายการลดราคาสินค้าโดยขอให้ผู้ผลิตสินค้าร่วมแบ่งรับต้นทุนของการลดราคา

การบีบให้ผู้ผลิตสินค้าจัดส่งสินค้าในราคาต่ำมาก ปัจจุบันห้างค้าปลีกสมัยใหม่เริ่มรุกเข้าไปสู่การผลิตสินค้าโดยใช้ตราสินค้าของตนเอง (House brand) หรือบีบให้ผู้ผลิตสินค้าจัดส่งสินค้าเพื่อนำมาจำหน่ายในตราสินค้าของร้านค้าปลีกขนาดใหญ่เสียเอง เช่น first price, leader price, คุ้มค่า, Supersafe เป็นต้น ทำให้สามารถขายในราคาต่ำกว่าผู้ผลิตสินค้ารายอื่น ๆ

การตั้งกิจการค้าปลีกสมัยใหม่เป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจและผู้บริโภคจริงดังที่เอกอัครราชทูตอังกฤษประจำประเทศไทยกล่าว แต่ความจริงอีกด้านหนึ่งคือผลกระทบต่อผู้ประกอบการรายย่อยด้วย ดังนั้น นโยบายการจัดตั้งกิจการค้าปลีกสมัยใหม่จึงอาจไม่สามารถใช้กติกาเดียวกับร้านค้าโชว์ห่วย ในขณะเดียวกันต้องไม่ใช้กฎหมายที่เข้มงวดต่อกิจการค้าปลีกสมัยใหม่มากเกินไป แต่ต้องสมดุลระหว่างผลประโยชน์ของผู้บริโภคและผู้ประกอบการร้านค้าโชว์ห่วย

admin
เผยแพร่: 
0
เมื่อ: 
2006-09-23