ดุลการค้าของไทยกับค่าเงินบาท : ปัจจุบันและอนาคต

* ที่มาภาพ http://www.thannews.th.com/images/2111/images/M1721111.jpg-ถ่วงดุลกับค่าเงิน


หลายเดือนมานี้ มีปรากฏการณ์หนึ่งที่ดูขัดแย้งกับทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ คือ การที่ดุลการค้ายังคงเกินดุลเพิ่มขึ้นแม้ค่าเงินบาทจะแข็งค่าขึ้นมาก ผมจึงสนใจที่จะทำความเข้าใจถึงสาเหตุของปรากฏการณ์นี้

ดุลการค้าเป็นดัชนีเศรษฐกิจที่คำนวณจากส่วนต่างระหว่างมูลค่าการส่งออกและการนำเข้า คำว่า
ldquo;เกินดุลการค้าเพิ่มขึ้นrdquo; หมายถึง มูลค่าการส่งออกเติบโตเร็วกว่ามูลค่าการนำเข้า ขณะที่ ldquo;มูลค่าการส่งออกหรือนำเข้าrdquo; นั้น คำนวณจากราคาสินค้าคูณด้วยปริมาณสินค้า เราจึงต้องวิเคราะห์ต่อไปว่าการเกินดุลการค้าที่เกิดขึ้น เป็นสาเหตุจากการเติบโตด้านปริมาณหรือราคาของการส่งออกและนำเข้า

จากตารางที่ 1 จะเห็นว่า มูลค่าการส่งออกและนำเข้าทั้งในรูปเงินบาทและดอลลาร์ มีการเปลี่ยนแปลงในทิศทางที่สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของปริมาณสินค้าเข้า-ออก ขณะที่ราคาสินค้าเข้า-ออกมีการเปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้นหรือลดลงในอัตราค่อนข้างคงที่ เราจึงพอสรุปในเบื้องต้นได้ว่า การเปลี่ยนแปลงปริมาณสินค้าเข้า-ออก เป็นปัจจัยหลักที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของมูลค่าสินค้าเข้า-ออก

ขณะที่การเปลี่ยนแปลงของราคาสินค้าเข้า-ออก ทำให้เกิดความแตกต่างระหว่างมูลค่าการส่งออกและนำเข้าในรูปเงินบาทและในรูปเงินดอลลาร์ กล่าวคือ ทำให้มูลค่าการค้าในรูปเงินดอลลาร์มีอัตราการขยายตัวมากกว่ามูลค่าการค้าในรูปเงินบาท เนื่องจากราคาสินค้าในรูปเงินบาทมีแนวโน้มลดลง แต่ราคาสินค้าในรูปเงินดอลลาร์มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น
คำถามต่อมา คือ การเปลี่ยนแปลงปริมาณการส่งออกและนำเข้าในช่วงที่ผ่านมาเกิดจากปัจจัยใด

หากพิจารณาด้านการนำเข้า ในช่วงไตรมาส 3 ปี 2549 ถึงไตรมาสที่
2 ปี 2550 ราคาสินค้านำเข้าในรูปเงินบาทลดลงประมาณร้อยละ 3.15-7.87 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นการลดลงตามค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น ทั้งนี้ตามหลักเศรษฐศาสตร์ ราคาสินค้าเข้าที่ลดลงควรจะทำให้ปริมาณการนำเข้าเพิ่มขึ้น แต่เหตุใดปริมาณการนำเข้าของไทยจึงไม่เติบโตอย่างที่ควรจะเป็น สังเกตได้จากปริมาณสินค้าเข้าที่ขยายตัวเพียงร้อยละ 2.88-8.08 ขณะที่ปริมาณการส่งออกขยายตัวถึงร้อยละ 16.21-22.32

คำตอบน่าจะอยู่ที่การชะลอตัวของเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะการลงทุนภาคเอกชนในไตรมาสแรกของปี 2550 ที่มีค่าติดลบกว่าร้อยละ 1.4 เมื่อเทียบกับไตรมาสแรกของปี 2549 และการที่โครงสร้างนำเข้าของไทยมากกว่า 3 ใน 4 ส่วน เป็นการนำเข้าเพื่อการลงทุน ดังนั้นเมื่อภาคเอกชนชะลอการลงทุน (ซึ่งอาจมาจากความไม่มั่นใจในเสถียรภาพทางการเมือง) จึงทำให้การนำเข้าของไทยชะลอตัวตามไปด้วย

ในประเด็นการนำเข้าอาจกล่าวได้โดยสรุปว่า เหตุที่การนำเข้าไม่เพิ่มอย่างมากมายนั้น เกิดจากการที่ปัจจัยเรื่องค่าเงินบาทแข็งซึ่งเป็นปัจจัยสนับสนุนการนำเข้า ถูกหักล้างด้วยปัจจัยการชะลอตัวของการลงทุนภาคเอกชนซึ่งเป็นปัจจัยที่ทำให้การนำเข้าลดลง

เมื่อพิจารณาด้านการส่งออก การที่มูลค่าการส่งออกของไทยยังขยายตัวในระดับสูง เนื่องมาจากราคาสินค้าออกในรูปดอลลาร์มิได้แพงขึ้นมากนักเมื่อเทียบกับสินค้าอื่น ๆ ในโลก สังเกตได้จากในช่วงไตรมาส 3 ปี 2549 ถึงไตรมาสที่
2 ปี 2550 ราคาสินค้าออกในรูปดอลลาร์ที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.4-6.07 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ใกล้เคียงกับราคาสินค้าเข้าในรูปดอลลาร์ที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.07-8.07

แต่คำถาม คือ เหตุใดราคาสินค้าออกของไทยในรูปเงินดอลลาร์จึงไม่เพิ่มขึ้นมากนัก ในเมื่อค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นถึงร้อยละ 9.68-12.22 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

คำตอบอยู่ในตารางที่ 1 เมื่อพิจารณาราคาสินค้าส่งออกจะพบว่า ราคาสินค้าออกในรูปเงินบาทลดลงร้อยละ 4.65-8.65 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ตัวเลขนี้ชี้ให้เห็นว่า ผู้ส่งออกของไทยยอมลดราคาสินค้าส่งออกในรูปเงินบาท เพื่อให้ราคาสินค้าส่งออกในรูปเงินดอลลาร์ไม่เพิ่มขึ้นมากเกินกว่าราคาตลาดโลก โดยผู้ส่งออกอาจมีเหตุผลที่ต้องตั้งราคาเช่นนี้ อาทิ เป็นไปตามสัญญาการซื้อขายเดิม หรือยอมลดราคาสินค้าเพื่อรักษาส่วนแบ่งการตลาดเอาไว้ หรือยอมให้มีกำไรลดลงเพื่อรักษากิจการ ฯลฯ

โดยสรุปแล้ว การส่งออกของไทยที่ยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง มีสาเหตุมาจากการที่ผู้ส่งออกยอมลดราคาสินค้าส่งออกในรูปเงินบาทลง เพื่อรักษาราคาในรูปดอลลาร์ไว้ไม่ให้สูงเกินไป

อย่างไรก็ตาม แนวโน้มดุลการค้าอาจจะไม่เกินดุลอีกต่อไป เนื่องจากได้รับผลจากปัจจัยเศรษฐกิจและการเมืองในประเทศ และปัจจัยด้านราคาสินค้า
ภาวะเศรษฐกิจและการเมืองในประเทศจะส่งผลทำให้ดุลการค้าเริ่มลดลง จนกลายเป็นขาดดุลในที่สุด เพราะภายหลังการเลือกตั้งในช่วงปลายปี ภาคเอกชนจะมีความเชื่อมั่นมากขึ้นและจะเริ่มเร่งลงทุนอย่างเต็มที่ หากค่าเงินบาทยังแข็งค่าอยู่ในช่วงเวลานั้น การขยายของการลงทุนภาคเอกชนอย่างรวดเร็วจะทำให้การนำเข้าขยายตัวอย่างรวดเร็ว จนแซงหน้าการเติบโตด้านการส่งออก

ในทำนองเดียวกัน ปัจจัยด้านราคาจะเริ่มส่งผลทำให้การเกินดุลการค้าลดลง ทั้งนี้หากทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ที่ชื่อว่า J-curve เป็นจริง ดุลการค้าที่เคยเพิ่มขึ้นในช่วงแรกจะกลับลดลงจนกระทั่งขาดดุล เนื่องจากผู้บริโภคและผู้ผลิตในประเทศเริ่มเห็นความแตกต่างของราคา และหันไปนำเข้าสินค้าต่างประเทศที่มีราคาลดลง ผู้ส่งออกจำนวนหนึ่งจะมียอดขายลดลงเนื่องจากราคาสินค้าส่งออกในรูปดอลลาร์ปรับตัวสูงขึ้น ขณะที่ผู้ส่งออกบางรายอาจต้องปิดกิจการเนื่องจากไม่สามารถแข่งขันได้

ดุลการค้าซึ่งเป็นหนึ่งในตัวชี้วัดเสถียรภาพภายนอกของเศรษฐกิจ จึงเป็นตัวแปรที่น่าจับตามองในอนาคต โดยเฉพาะตั้งแต่หลังการเลือกตั้งเป็นต้นไป

admin
เผยแพร่: 
0
เมื่อ: 
2007-09-04