จัดการความกลัวเมื่อต้องพูด
ในระหว่างที่ผมทำงานวิชาการที่ฮาวาร์ด ผมได้เข้าไปฟังบรรยายวิชา ศิลปะการสื่อสาร (The Arts of Communication) สอนโดย ดร.ทิโมธี แมคคาร์ธี (Timothy Patrick McCarthy, Ph.D.,) เป็นวิชาที่มุ่งหมายเพื่อพัฒนาทักษะการพูดปาฐกถา (speech) ในวาระต่าง ๆ อันเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาผู้เรียนสู่การเป็นผู้มีภาวะผู้นำที่สมบูรณ์
ในวิชานี้ เป็นวิชาที่นักศึกษาจะต้องออกไปพูดหน้าชั้น ในลักษณะของการกล่าวปาฐกถา ในหัวข้อต่าง ๆ สิ่งหนึ่งที่ผมสังเกตในชั่วโมงแรก ๆ นักศึกษาในชั้นจำนวนไม่น้อยจะพูดด้วยความไม่มั่นใจ มี อาการกลัว ประหม่า ทำให้การพูดของเขา แม้จะเตรียมบทพูดที่ดี แต่มักจะตะกุกตะกัก ขาดความมั่นใจ ทำให้สื่อสารได้ไม่ดีเท่าที่ควร
อาการที่เกิดขึ้นนี้ เรียกว่า ความกลัวเวที หรือ ความรู้สึกกลัว ตกใจ ประหม่าเมื่อต้องขึ้นเวทีหรืออยู่ต่อหน้าฝูงชนครั้งแรก เป็นความกลัวที่เกิดขึ้นอย่างกะทันหัน เพราะเกิดความรู้สึกราวกับว่า ตนเองนั้นกำลังตกอยู่ในภาวะคับขัน ตกอยู่ในอันตราย หวาดหวั่นต่ออนาคตที่จะเกิดขึ้น ในการที่จะต้องแสดงออกต่อหน้าผู้อื่น เมื่อต้องยืนอยู่คนเดียว ท่ามกลางสายตาหลายสิบ หลายร้อยคู่ที่จ้องมองมาทางเราเป็นตาเดียว
ความคิดของเราที่ทำให้เกิดความกลัว อาทิ ความกลัวว่าจะทำได้ไม่ดี ความกดดันที่ถูกจับจ้องมองด้วยความคาดหวัง เกรงว่าจะถูกหัวเราะเยาะหรือวิพากษ์วิจารณ์ เมื่อทำได้ไม่ดี ไม่น่าประทับใจ หรืออาจคิดว่า เราไม่มีโอกาสแก้ตัว การพูดครั้งนี้เป็นครั้งเดียว ถ้าทำไม่ดีอาจเท่ากับหมดอนาคตได้ หรือเกิดความรู้สึกหรือความนึกคิดไปเองว่า จะมีเรื่องไม่ดีเกิดขึ้น เช่น พูดไม่ได้ เดินสะดุด คิดคำพูดไม่ออก คนดูไม่ตอบสนองเมื่อเราพูดตลก เป็นต้น จึงมีอาการที่ตามมา เช่น มือสั่น หัวใจเต้นเร็วกว่าปกติ เหงื่อออก หรือหนาวผิดปกติ
ความคิดวิตกต่าง ๆ นานาเช่นนี้ จะเกิดมากยิ่งขึ้นสำหรับคนที่ต้องพูดต่อหน้าผู้อื่นเป็นครั้งแรก หรือเผชิญหน้ากับสถานการณ์นั้นเป็นครั้งแรก
ยิ่งหากเราถูกความกลัวนี้ครอบงำจนทำให้การสื่อสารของเราล้มเหลว คนฟังไม่ประทับใจ ย่อมจะยิ่งตอกย้ำให้เราปฏิเสธ ไม่ต้องการสื่อสารต่อหน้าผู้อื่นอีกต่อไปและนี่คือ อุปสรรคสำคัญที่ขัดขวางมิให้เราก้าวสู่บทบาทผู้นำ ในอนาคตการทำงานของเราได้
จำไว้ว่า ผู้นำ กับ การพูดต่อหน้าผู้อื่นนั้น เป็นเรื่องที่ต้องดำเนินควบคู่กันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้น หากเราต้องการพัฒนาภาวะผู้นำ เราจำเป็นต้องก้าวข้ามอุปสรรค ldquo;ความกลัวrdquo; ในช่วงเริ่มต้นนี้ด้วยความเข้าใจ
ความกลัวเวที เป็นเรื่องปกติและเป็นเรื่องดี แท้จริงแล้ว ความรู้สึกกลัว ตื่นเต้น หรือความประหม่าที่จะต้องแสดงออกต่อหน้าฝูงชนนี้ เป็นเรื่องปกติที่สามารถเกิดกับทุกคน ไม่ว่าเราจะเป็นใครก็ตาม ไม่ใช่เรื่องแปลก หรือเรื่องที่น่าอับอายแต่อย่างใด
ในทางตรงกันข้าม ความกลัว ความประหม่าในลักษณะนี้ เป็นสัญญาณที่ดีเพราะจะช่วยให้เราเกิดความตื่นเต้น ตื่นตัว กระตุ้นความคิด คำพูด อารมณ์ความรู้สึกให้เตรียมพร้อมเผชิญหน้าสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ทำให้เราเกิดความคิดป้องกันและพยายามปิดจุดอ่อนต่าง ๆ เท่าที่จะเป็นไปได้ก่อนเกิดสถานการณ์จริง ซึ่งหากไม่เกิดความกลัวอาจทำให้เกิดความเฉื่อยช้าในการโต้ตอบ
เอ็ดมันด์ เบอร์ก (Edmund Burke) ได้กล่าวไว้อย่างน่าคิดว่า ldquo;ความรู้สึกกลัวในสิ่งที่ยังไม่เกิดขึ้นเป็นมารดาของความปลอดภัยrdquo;
ผ่านไปได้ด้วยการเตรียมพร้อม เราจะสามารถผ่านเหตุการณ์นี้ไปได้ด้วยดี ถ้าเราเตรียมตัวให้พร้อมมาอย่างดี ต้องพยายามฝึกซ้อมให้มากที่สุด ออกเสียงคำต่าง ๆ ให้ถูกต้อง ฝึกออกท่าทาง การวางท่า การใช้น้ำเสียงสำเนียง จนมั่นใจว่า เรารู้จักสิ่งที่จะพูดนั้นอย่างกระจ่าง ลึกซึ้ง ครบถ้วน เกิดความรู้สึกเคยชินหรือเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตของเรา ทำให้เราสามารถพูดถึงเรื่องนั้นได้อย่างเป็นปกติธรรมชาติ และไม่มีอะไรมาทำให้เราสะดุดจนลืมไปว่าจะพูดอะไรได้
การเตรียมตัวให้พร้อมเป็นสิ่งสำคัญมาก เพราะแม้คนที่มีความเชี่ยวชาญ เคยชินกับการพูดต่อหน้าสาธารณชนหรือพูดผ่านสื่อต่าง ๆ หากไม่มีการเตรียมพร้อมล่วงหน้า อาจทำได้ไม่ดี ไม่น่าประทับใจเท่าที่ควรก็เป็นได้
ความกลัวนี้จะไม่อยู่กับเรานาน ที่สำคัญ ความรู้สึกกลัว ประหม่า เมื่อต้องสื่อสารต่อหน้าฝูงชน จะค่อย ๆ หายไป เมื่อเราสื่อสารเช่นนี้บ่อยครั้งขึ้น จนเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต ทุกคนสามารถเรียนรู้ที่จะพูดได้อย่างน่าประทับใจ และพูดได้อย่างสมบูรณ์แบบมากยิ่งขึ้นเรื่อย ๆ เพราะเป็นเหมือนทักษะหนึ่งที่เราสามารถพัฒนาให้ดีขึ้นได้
ดังนั้น เราจึงต้องไม่วิตกกังวลกับความรู้สึกกลัวเวทีแต่ให้คิดว่า ความรู้สึกวิตกกังวลที่เกิดขึ้นนั้น เช่นเดียวกับความกลัวของทหารที่กำลังจะออกรบ ทำให้เขาต้องเตรียมพร้อมเป็นอย่างดี เช่นกัน ถ้าเราเตรียมพร้อมเป็นอย่างดี เราย่อมผ่านสนามรบการสื่อสารต่อหน้าผู้อื่นอย่างมีชัยชนะแน่นอน
Tags:
เผยแพร่:
งานวันนี้
เมื่อ:
2007-08-07