อย่าขัดแย้งเมื่อแก้ปัญหาเดียวกัน

ในช่วงเวลาที่ต้องมีการตัดสินใจทำสิ่งใหม่ เกิดการเปลี่ยนแปลงจากภาวะปกติ มักนำไปสู่ความคิดเห็นที่แยกออกเป็น 2 ฝ่าย...เห็นด้วย กับ ไม่เห็นด้วย ซึ่งตามมาด้วยการอ้างเหตุผลและหลักฐานอ้างอิงสนับสนุนความคิดเห็นของตน
ตัวอย่างที่เราคงเคยเห็น ได้แก่ ในการพิจารณาโครงการก่อสร้างเขื่อนผลิตไฟฟ้า มักมีความคิดเห็นที่ขัดแย้งกัน ทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย โดยฝ่ายรัฐบาลเห็นควรว่าต้องสร้าง แต่กลุ่มชาวบ้านและนักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมคัดค้านหัวชนฝา ไม่ให้สร้างเด็ดขาด
เราคงพบว่า เรื่องนี้ไม่สามารถหาข้อสรุปที่ทุกฝ่ายพึงพอใจได้ หากเลือกสร้างย่อมมีปัญหากับกลุ่มต่อต้าน ในทำนองเดียวกัน หากเลือกที่จะไม่สร้างย่อมก่อให้เกิดปัญหาการขาดแคลนไฟฟ้าในระยะยาวได้
สมมติว่า รัฐบาลต้องการให้สร้างhellip;โดยเบื้องต้นใช้วิธีจูงใจ (convince) พยายามส่งเจ้าหน้าที่ออกไปให้ความรู้ความเข้าใจ เพื่อให้คนเห็นประโยชน์และเห็นด้วยกับการสร้างเขื่อน พยายามเปลี่ยนใจฝ่ายที่ไม่เห็นด้วย โดยจูงใจว่าจะเกิดผลดีมากกว่าผลเสีย ผลที่ได้รับคือสามารถเปลี่ยนใจคนได้บางส่วน แต่ไม่สามารถทำให้เห็นด้วยได้ทั้งหมด
จากนั้นจึงหาข้อสรุปโดยใช้เสียงข้างมาก (majority) โดยแก้ปัญหาและหาข้อยุติด้วยการลงประชามติ ผลปรากฏว่า เสียงส่วนใหญ่ต้องการให้มีการสร้างเขื่อน
กระนั้นก็ดี แม้เสียงส่วนใหญ่เห็นด้วย แต่การสร้างเขื่อนอาจไม่สำเร็จได้ เพราะกลุ่มคนที่เสียประโยชน์ย่อมลุกฮือขึ้นต่อต้าน
หรือในอีกมุมหนึ่ง แม้ว่าเสียงส่วนใหญ่จะยอมรับให้สร้าง แต่ผลกระทบที่เกิดจากการสร้างเขื่อนย่อมยังคงมีอยู่ ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ป่า สัตว์ป่า โบราณสถาน วิถีชีวิตชุมชน ซึ่งเป็นความสูญเสียที่ต้องเกิดขึ้นเพื่อแลกกับการสร้างเขื่อน
ลองคิดดู..หากเราเป็นรัฐบาลที่ต้องตัดสินใจในเรื่องนี้ จะมีวิธีจัดการอย่างไรจึงดีที่สุดต่อทุกฝ่าย?
ในหนังสือ การคิดเชิงบูรณาการ ผมได้แนะนำว่า หากเราเปลี่ยนมุมมองความคิดให้คิดเชิงบูรณาการ เราอาจสามารถหาทางเลือกใหม่ที่บรรลุวัตถุประสงค์และทุกฝ่ายพึงพอใจได้
นั่นคือhellip;แทนการดึงดันที่จะสร้างเขื่อน เราลองพยายามหาทางเลือกที่ไม่เกิดปัญหาตามมา ไม่ก่อความขัดแย้ง แต่ยังคงสามารถบรรลุวัตถุประสงค์และสร้างความพึงพอใจให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง โดยพยายามหาวิธีเข้าถึงแก่นที่ไม่มีความขัดแย้ง
การเข้าถึงแก่นที่ไม่มีความขัดแย้ง สำหรับกรณีนี้คือ การค้นหาตัวร่วมว่า มีอะไรที่เป็นปัญหาร่วมกัน เป็นความต้องการร่วมกัน เป็นสิ่งที่พึงประสงค์ร่วมกันสำหรับทุกฝ่าย
ลองพิจารณาจากตัวอย่างข้างต้น เราจะพบว่า การสร้างเขื่อน เป็นทางออกของปัญหา ไม่ใช่เป็นเป็นตัวปัญหา เพราะปัญหาที่แท้จริงคือ การขาดแคลนพลังงานไฟฟ้าที่มีแนวโน้มว่าจะเกิดขึ้นในอนาคต
ปัญหานี้นำไปสู่การตั้งคำถามว่า ldquo;ทำอย่างไรในอนาคต ประเทศไทยจึงมีไฟฟ้าใช้อย่างพอเพียง?rdquo; และการสร้างเขื่อนเป็นเพียงทางเลือกหนึ่ง
การค้นพบปัญหาที่แท้จริงของทุกคนร่วมกัน นำไปสู่การหาวิธีการอื่น ๆ ในการแก้ปัญหา อาทิ การใช้พลังงานทดแทนเพื่อผลิตไฟฟ้า การซื้อไฟฟ้าจากประเทศเพื่อนบ้าน ส่งเสริมการประหยัดไฟฟ้า การสร้างโรงไฟฟ้าชีวภาพขนาดเล็กในชุมชน ฯลฯ
ตัวอย่างนี้ ช่วยให้เราเรียนรู้ว่า ปัญหาความขัดแย้งอันยากแก้ไข เกิดขึ้นจากการไม่ได้หวนกลับไปสู่ความต้องการร่วมกัน หรือแก่นแท้ของปัญหา แต่มักมุ่งขัดแย้งกันภายใต้วิธีการแก้ปัญหาเดียว ทั้ง ๆ ที่มีวิธีการอีกมากในการแก้ปัญหาที่สามารถสร้างความพึงพอใจให้กับทุกฝ่ายได้
การคิดเชิงบูรณาการจะช่วยเข้าถึงความต้องการร่วมกัน อันจะช่วยให้เห็นทางเลือกที่สามารถสร้างความพึงพอใจแก่ทุกฝ่าย ยุติความขัดแย้งที่ไม่จำเป็นต้องเกิดขึ้นลงได้
admin
เผยแพร่: 
งานวันนี้
เมื่อ: 
2008-06-21