ทักษะภาษาต่างประเทศ ความจำเป็นสำหรับยุคโลกาภิวัตน์

ในยุคโลกาภิวัตน์ ประเทศไทยจำเป็นต้องติดต่อสื่อสารกับชาวต่างชาติมากกว่าในอดีต ไม่ว่าจะเป็นการติดต่อด้านการค้าและการลงทุน การศึกษา การท่องเที่ยว และการใช้ในชีวิตประจำวัน ก่อให้เกิดความตื่นตัวในการพัฒนาทักษะด้านภาษาต่างประเทศ เช่น ภาษาอังกฤษ ภาษาจีน ภาษาเกาหลี ภาษาญี่ปุ่น ฯลฯ

เมื่อปี 2549 สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้ปรับหลักสูตรภาษาอังกฤษใหม่ และคณะรัฐมนตรีมีมติให้เปิดสถาบันภาษาอังกฤษ เพื่อเป็นหน่วยงานในการติดตามและปรับปรุงหลักสูตรการเรียนการสอนภาษาอังกฤษของโรงเรียนในสังกัด สพฐ. รวมถึงมีการฝึกอบรมครูสอนภาษาอังกฤษ นอกจากนี้ สพฐ. ได้วางยุทธศาสตร์ให้ผู้เรียนในสังกัด สพฐ. ได้มีโอกาสเรียนภาษาต่างประเทศอื่นนอกจากภาษาอังกฤษ เช่น ภาษาจีน มาเลเซีย พม่า เวียดนาม และมีการรื้อฟื้นภาษาฝรั่งเศสที่เริ่มแผ่วลง แต่ยังเป็นที่ต้องการของตลาดแรงงาน นอกเหนือจากสิ่งที่กระทรวงศึกษา (ศธ.) ได้ดำเนินการ สถาบันสอนภาษาต่าง ๆ ยังได้เพิ่มจำนวนภาษาที่สอน เพื่อรองรับความต้องการของผู้เรียน เช่น ภาษาเกาหลี ภาษาจีน เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ไทยมิใช่เป็นเพียงประเทศเดียวที่ตื่นตัวในการสอนภาษาต่างประเทศ แต่เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นทั่วโลก เหตุผลที่ประเทศต่าง ๆ ให้ความสำคัญกับการสอนภาษาต่างประเทศนั้น เนื่องจากประโยชน์ในเชิงการค้า การลงทุน การศึกษา และการเรียนรู้ รวมถึงความมั่นคงระหว่างประเทศ

แม้กระทั่งประเทศมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกา ที่คนทั่วโลกต้องการเข้ามาร่วมทำการค้าการลงทุนเข้ามาทำงาน ศึกษาต่อ หรือตั้งรกราก ยังต้องเร่งพัฒนาภาษาต่างประเทศให้กับคนในประเทศ ทั้งนี้ เนื่องมาจากปัจจุบัน อเมริกามีนโยบายหลักสร้างความสัมพันธ์กับประเทศต่าง ๆ โดยเฉพาะประเทศแถบตะวันออก เช่น จีน เกาหลี ญี่ปุ่น อินเดีย อิสราเอล ฯลฯ รวมถึงประเทศแถบลาตินอเมริกา เพื่อประโยชน์ด้านการค้า การลงทุน และความมั่นคงระหว่างประเทศ อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากความหวาดกลัวเหตุการณ์ก่อการร้ายและการสะสมอาวุธนิวเคลียร์ในบางประเทศ จึงเป็นที่มาของการส่งเสริมให้คนในประเทศ มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับศาสนา วัฒนธรรม และภาษาของประเทศอื่น เพราะเป็นเหมือนสื่อกลางที่ทำให้เข้าถึงข้อมูลเกี่ยวกับต่างประเทศได้เป็นอย่างดี

คณะกรรมการเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจ (Committee for Economic Development: CED) เป็นองค์กรอิสระที่มีบทบาทสำคัญต่อผู้นำธุรกิจและผู้นำด้านการศึกษาของสหรัฐอเมริกา ได้จัดทำรายงานประจำปี 2549 เรื่อง Education for Global Leadership: The Importance of International Studies and Foreign Language Education for U.S. Economic and National Security. โดยระบุว่า ประเด็นหลักที่อเมริกาควรให้ความสำคัญมากขึ้นคือ การเพิ่มความรู้ด้านภาษาและวัฒนธรรมของต่างประเทศให้ผู้เรียน โดยผู้ว่าการรัฐต้องกำหนดเจตจำนงที่ชัดเจน ในการพัฒนาทักษะภาษาต่างประเทศและเพิ่มความรู้เกี่ยวกับประเทศต่าง ๆ ให้ผู้เรียน ตัวอย่างที่แต่ละมลรัฐมีการดำเนินการ เช่น

พัฒนาทักษะการออกเสียงภาษาต่างประเทศ
คณะกรรมการการศึกษา (Commissioner of Education) ของมลรัฐมินนิโซตาได้ร่วมมือกับสภามหาวิทยาลัยมินนิโซตา (Board of Regents of the University of Minnesota) ในการพัฒนาหลักสูตรพัฒนาการออกเสียงภาษาจีนให้แก่ผู้เรียนเกรด 12 นอกจากนี้ ยังสร้างเครือข่ายครูสอนภาษาจีน และนักการศึกษาเพื่อพัฒนาทักษะการสอน ปรับเปลี่ยนวิธีการสอนตามความเหมาะสม สนับสนุนอุปกรณ์การสอน การประเมินผลการสอน และการฝึกอบรมวิธีการสอนภาษาจีนให้แก่ผู้เรียน มลรัฐลุยเซียนา ประกาศฉบับที่ 741 (Bulletin 741) ของมลรัฐลุยเซียนา มีผลบังคับให้โรงเรียนระดับการศึกษาขั้นประถมทุกโรงเรียน ต้องมีโปรแกรมการฝึกออกเสียงภาษาต่างประเทศที่ชัดเจนวันละ 30 นาที สำหรับผู้เรียนเกรด 4 และ 6 และสัปดาห์ละ 150 นาที สำหรับผู้เรียนเกรด 7 และ 8

ให้ภาษาต่างประเทศเป็นส่วนหนึ่งของหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน
คณะกรรมการการศึกษาของมลรัฐแมสซาชูเซตส์ (Massachusetts Board of Education) ได้ประกาศใช้กฎ Pioneer Valley Chinese Immersion Charter School มีผลบังคับให้ทุกโรงเรียนต้องสอนภาษาจีน โดยเฉพาะภาษาจีนกลางให้แก่ผู้เรียนเกรด 8 มลรัฐเคนทักกี หน่วยงานด้านการศึกษาของมลรัฐเคนทักกี ได้กำหนดกฎหมายที่มีผลบังคับให้มีการบูรณาการภาษาต่างประเทศเข้ากับหลักสูตรพื้นฐานของโรงเรียนจำนวน 1 ภาษาเป็นอย่างน้อย เพื่อให้ผู้เรียนทุกคน มีทักษะการใช้ภาษาต่างประเทศ รวมถึงมีความเข้าใจเกี่ยวกับวัฒนธรรมของประเทศเจ้าของภาษา มลรัฐอิลลินอยส์ บังคับให้ภาษาต่างประเทศเป็นวิชาหนึ่งในหลักสูตรหลักของโรงเรียน และมลรัฐนิวยอร์ก บังคับให้ผู้เรียนต้องเรียนภาษาต่างประเทศจำนวน 1 หน่วยกิต

วิเคราะห์องค์ประกอบของภาษาต่างประเทศเพื่อใช้ในการเรียนการสอน
ในมลรัฐยูทาห์ มีการจัดโปรแกรมนำร่องที่เรียกว่า ldquo;Critical languagerdquo; เพื่อสอนการวิเคราะห์องค์ประกอบภาษาต่างประเทศ เช่น ภาษาจีน อารบิก รัสเซีย ฟาร์ซีหรือเปอร์เซีย ฮินดี และเกาหลี โดยมีที่มาอยู่บนพื้นฐานที่ว่าผู้เรียนจะประสบความสำเร็จในสังคมโลกได้นั้น จำเป็นต้องมีความเข้าใจในภาษาต่างประเทศอย่างลึกซึ้ง โดยมีการเปิดสอนทั้งในห้องเรียน และผ่านอินเทอร์เน็ต มีคู่มือการสอนสำหรับครู เป็นต้น

ตัวอย่างการเรียนภาษาต่างประเทศในอเมริกา สามารถนำมาปรับใช้ในไทยได้ดังนี้

พัฒนาทักษะการออกเสียงให้เหมือนภาษาแม่
สามารถทำได้โดยการสร้างห้องปฏิบัติการทางภาษา กระทรวงศึกษาธิการอาจจัดสรรงบประมาณให้กับโรงเรียนที่ไม่มีห้องปฏิบัติการทางภาษา โดยเฉพาะโรงเรียนในพื้นที่ห่างไกล ทั้งในระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา แต่เนื่องด้วยความจำกัดงบประมาณของกระทรวงศึกษาธิการ อาจพิจารณาสร้างห้องปฏิบัติการทางภาษาไว้ในโรงเรียนบางแห่งตามความเหมาะสม เพื่อให้โรงเรียนในเขตพื้นที่การศึกษาเดียวกันและอยู่ในบริเวณใกล้เคียงกันใช้ทรัพยากรร่วมกัน โดยจัดตารางเวลาการใช้งาน นอกจากนี้ กระทรวงศึกษาธิการควรจัดทำสื่อการสอนออกเสียงภาษาต่างประเทศที่มีความชัดเจน เป็นมาตรฐานเดียวกัน และมีราคาถูก เพื่อให้ทุกโรงเรียนสามารถเข้าถึงได้

สร้างความร่วมมือ
สถาบันภาษาอังกฤษควรร่วมมือกับสถาบันการศึกษาต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นโรงเรียนนานาชาติ ที่มีสถาบันหรือศูนย์ภาษาในมหาวิทยาลัยต่าง ๆ สถาบันสอนภาษาของภาคเอกชน รวมถึงนักจิตวิทยาพัฒนาการ ในการพัฒนาหลักสูตรภาษาอังกฤษที่สอดคล้องความความต้องการของผู้เรียน กำหนดตัวชี้วัดเพื่อประเมินผลการสอนของครู และพัฒนาการด้านการเรียนภาษาต่างประเทศของผู้เรียน เช่น พัฒนาการด้านการฟัง การเขียน การพูดที่ชัดเจน การอ่าน ฯลฯ

อีกทั้ง ควรสร้างเครือข่ายครูสอนภาษาต่างประเทศ เพื่อเป็นเครือข่ายแนะนำปรับปรุงและแลกเปลี่ยนประสบการณ์เกี่ยวกับการเรียนการสอนภาษาต่างประเทศที่มีคุณภาพ และร่วมกำหนดตัวชี้วัดเพื่อประเมินผลการสอนภาษาต่างประเทศของครู ซึ่งจะช่วยพัฒนาการด้านการเรียนภาษาต่างประเทศให้แก่ผู้เรียน

บูรณาการภาษาต่างประเทศเข้ากับหลักสูตรการศึกษาพื้นฐาน
ซึ่งอาจทำได้ 2 รูปแบบคือ การกำกับศัพท์เฉพาะที่ผู้เรียนต้องรู้ในวิชาพื้นฐานต่าง ๆ และการปรับเนื้อหาในหนังสือเรียนภาษาอังกฤษ ให้สอดคล้องกับเนื้อหาของวิชาพื้นฐานหลัก
การเปลี่ยนแปลงของสังคมโลกในยุคปัจจุบัน ส่งผลให้ผู้คนในประเทศต่าง ๆ ต้องติดต่อสื่อสารระหว่างกันมากขึ้น ความเข้าใจในภาษาต่างประเทศ จึงกลายเป็นปัจจัยสำคัญที่คนยุคนี้ จำเป็นต้องได้รับการพัฒนา โดยสถาบันการศึกษาและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ต้องเร่งสนับสนุนและพัฒนาผู้เรียนให้มีทักษะภาษาต่างประเทศ ที่มิใช่เพียงแต่ภาษาอังกฤษเท่านั้น แต่ยังรวมถึงภาษาต่างประเทศอื่นที่จำเป็นด้วย เพื่อให้คนไทยสามารถใช้ทักษะภาษาต่างประเทศในการติดต่อการค้า การลงทุน การต่อยอดและพัฒนาองค์ความรู้ รวมถึงการนำเสนอแนวคิดใหม่ที่คนไทยคิดค้นขึ้น อันเป็นการสร้างชื่อเสียงของคนไทยให้เป็นที่รู้จักในระดับนานาชาติมากขึ้น
admin
เผยแพร่: 
การศึกษาวันนี้
เมื่อ: 
2007-07-26