ใครได้ประโยชน์จากราคาข้าวแพง

* ที่มาของภาพ - http://www.molbiotech.rwth-aachen.de/Groups/cereal%20biotechnology%20group/rice%20plant.JPG
ในภาวะที่สินค้าแพงขึ้นแทบทุกชนิด แม้แต่ข้าวซึ่งปกติมีแต่ปัญหาราคาตกต่ำก็กลับแพงขึ้นด้วย การที่ข้าวมีราคาแพงแม้ว่าน่าจะเป็นผลดีต่อชาวนา แต่กลับทำให้เกิดข้อถกเถียงว่าจริงหรือไม่
เมื่อพิจารณาราคาข้าวสารและข้าวเปลือกจากตารางที่ 1 จะเห็นว่าราคาข้าวสารมีราคาสูงขึ้นอย่างมาก เช่น ข้าวขาว 5 เปอร์เซ็นต์มีราคาสูงขึ้นกว่า 2 เท่า และการที่ราคาข้าวสารสูงขึ้นทำให้ราคาข้าวเปลือกสูงขึ้นด้วย โดยราคาข้าวเปลือกเจ้าสูงขึ้นเกือบ 2 เท่าในช่วง 6 เดือน
ตารางที่ 1 ราคาข้าวขายส่ง ณ ตลาดกรุงเทพฯ และราคาข้าวเปลือกนครสวรรค์ ตั้งแต่ต้นเดือนตุลาคม 2550 ถึงต้นเดือนเมษายน 2551
ประเภท
|
ต.ค.
|
พ.ย.
|
ธ.ค.
|
ม.ค.
|
ก.พ.
|
มี.ค.
|
เม.ย.
|
%? (ต.ค.-เม.ย.)
|
ข้าวหอมมะลิ 100% ชั้น 1 ใหม่/ 100 กิโลกรัม
|
1,810
|
1,840
|
1,945
|
2,025
|
2,295
|
2,263
|
2,995
|
65.47
|
ข้าวขาว 5% ใหม่/ 100 กิโลกรัม
|
1,028
|
1,068
|
1,143
|
1,133
|
1,318
|
1,453
|
2,153
|
109.44
|
ข้าวเปลือกเจ้า นครสวรรค์/ ตัน
|
6,250
|
6,250
|
6,750
|
6,750
|
7,050
|
9,200
|
12,000
|
92.00
|
ที่มา: กรมการค้าภายใน
เมื่อดูเผิน ๆ ราคาข้าวเปลือกที่สูงขึ้นอย่างมากน่าจะทำให้เกษตรกรเป็นผู้รับประโยชน์ เนื่องจากข้าวเปลือกเป็นสินค้าที่ชาวนาขายให้กับพ่อค้าหรือโรงสี แต่ความเป็นจริงจะเป็นเช่นนั้นหรือไม่
เมื่อวิเคราะห์ลึกลงไป ชาวนาอาจได้รับประโยชน์บ้างแต่ไม่มากนัก เนื่องจากโดยปกติชาวนามักเก็บเกี่ยวข้าวนาปีในเดือนตุลาคม และจะขายผลผลิตให้พ่อค้าหรือโรงสีทันที แต่ช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงธันวาคมที่ชาวนาขายข้าวเปลือกนั้น ราคาข้าวยังไม่สูงมากนัก ส่วนช่วงที่ข้าวเปลือกมีราคาสูงขึ้นอย่างรวดเร็วคือตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์เป็นต้นมา เป็นช่วงที่ชาวนาขายข้าวนาปีที่เก็บเกี่ยวตั้งแต่ปีกลายไปแล้ว
ชาวนาที่ขายข้าวนาปีเมื่อปีที่ผ่านมาจึงไม่ได้รับประโยชน์มากนัก ยกเว้นชาวนาจำนวนน้อยรายที่มียุ้งฉางเก็บข้าว อย่างไรก็ตามชาวนาที่ปลูกข้าวนาปรังซึ่งกำลังจะมีผลผลิตออกมาช่วงเดือนเมษายนหรือพฤษภาคมนี้ อาจจะได้รับประโยชน์จากราคาข้าวที่สูงขึ้นเกือบ 2 เท่าในช่วง 6 เดือน
ในเมื่อชาวนาส่วนใหญ่ไม่ได้รับประโยชน์ แล้วใครเป็นผู้รับประโยชน์จากราคาข้าวที่สูงขึ้น? คำตอบคือ ldquo;ผู้ที่มีความสามารถในการคาดการณ์ตลาดล่วงหน้า และมีศักยภาพในการกักตุนข้าวเปลือกไว้ได้rdquo;
ประชาชนทั่วไปอาจเข้าใจว่า โรงสีเป็นผู้ได้รับผลประโยชน์จากราคาข้าวที่สูงขึ้น แต่ในความเป็นจริง เจ้าของโรงสีรายย่อยอาจได้รับกำไรบ้างแต่ไม่มากมายอย่างที่เข้าใจกัน เนื่องด้วยเหตุผลสามประการ
ประการแรก โรงสีรายย่อยมีเป็นจำนวนมากและแข่งกันเพื่อรับซื้อผลผลิตจากชาวนา โรงสีรายย่อยเหล่านี้อาจมีอำนาจเหนือตลาดอยู่บ้าง แต่ไม่ถึงขั้นเป็นผู้ผูกขาด
ประการต่อมา โรงสีรายย่อยมักเป็นกิจการดั้งเดิมที่มีองค์ความรู้จำกัด ขณะที่บริบทในตลาดข้าวเปลี่ยนไปมาก เถ้าแก่โรงสีเหล่านี้จึงไม่สามารถคาดการณ์แนวโน้มราคาข้าวได้แม่นยำนัก จึงจำเป็นต้องหลีกเลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยง เช่น การเก็บข้าวเปลือกไว้เพื่อรอการสีเมื่อราคาข้าวสูงขึ้น แต่โรงสีจำนวนมากจะซื้อข้าวจากชาวนาแล้วนำไปสีเพื่อขายทันที เพราะถึงจะได้กำไรไม่มากมายนักแต่ก็มีกำไรที่แน่นอน
ประการสุดท้าย โรงสีรายย่อยมีสายป่านสั้น แม้จะกล้าเสี่ยงในการกักตุนข้าวเปลือกไว้ แต่ก็ไม่สามารถซื้อข้าวมากักตุนได้ในปริมาณมากนัก
ขณะที่ธุรกิจการเกษตรขนาดใหญ่เป็นองค์กรที่ทันสมัย มีประสิทธิภาพสูงมาก และพร้อมในทุกด้าน ทั้งสายป่านที่ยาวจึงสามารถแข่งขันกับโรงสีรายย่อยในการซื้อข้าวจากชาวนา (ซึ่งเป็นเรื่องดี) และสามารถกักตุนข้าวเปลือกจำนวนมากได้ ธุรกิจการเกษตรขนาดใหญ่ยังมีองค์ความรู้และบุคลากรในองค์กรที่มีทักษะสูง ทำให้มีความเข้าใจสภาพตลาด และสามารถคาดการณ์ราคาในอนาคตได้อย่างแม่นยำ และดำเนินกลยุทธ์อย่างชาญฉลาด โดยจะกว้านซื้อข้าวเปลือกจากชาวนาในราคาสูงกว่าโรงสีรายย่อย และยอมจ่ายค่าเช่ายุ้งฉางเก็บข้าว เพราะมั่นใจว่าจะสามารถทำกำไรจากราคาข้าวที่จะสูงขึ้นอีกมากในอนาคต
จึงเป็นไปได้ว่า ผู้รับประโยชน์มากที่สุดในภาวะที่ราคาข้าวสูงขึ้น คือ บริษัทการเกษตรรายใหญ่
อย่างไรก็ตาม ผมมิได้เห็นว่าบริษัทยักษ์ใหญ่เหล่านี้เป็นผู้ร้าย เพราะผู้ที่มีประสิทธิภาพมากกว่าสมควรได้รับกำไรสูงกว่า แต่เราจะทำอย่างไรให้กำไรตกไปอยู่กับผู้ผลิตรายย่อย โดยเฉพาะชาวนามากขึ้น
ทั้งนี้หากชาวนามียุ้งฉาง เขาจะสามารถกักตุนข้าวเพื่อปล่อยขายเมื่อราคาสูงได้ แต่วิธีการนี้จำเป็นต้องมีทุนในการประกอบการสูง และมีหลายคนได้พูดถึงกันมากแล้ว ผมจึงขอข้ามประเด็นนี้ไป
ประเด็นที่ผมสนใจคือ องค์ความรู้ในองค์กร ซึ่งธุรกิจยักษ์ใหญ่และโรงสีรายย่อยแตกต่างกันมาก มิไยต้องพูดต้องชาวนา โรงสีรายย่อยจึงตามบริษัทยักษ์ใหญ่ไม่ทัน ทั้งในแง่การคาดการณ์ราคาและกลยุทธ์
ทางธุรกิจ องค์กรสองกลุ่มนี้จึงมีประสิทธิภาพที่ต่างกันมาก และส่งผลทำให้เกิดความแตกต่างของกำไร
ปัจจุบันเศรษฐกิจกำลังเข้าไปสู่ระบบฐานความรู้ ผู้ใดกุมความรู้ ผู้นั้นกุมอำนาจและความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ เนื่องจากความรู้ทำให้เกิดประสิทธิภาพและกำไรอย่างที่ได้อธิบายแล้ว ความรู้ยังเป็นทรัพย์สินกึ่งสาธารณะที่สามารถใช้ร่วมกันได้ หากเจ้าของมิได้ปิดกั้นเอาไว้
การสร้างองค์ความรู้ให้รายย่อย เช่นโรงสีรายย่อย อาจสร้างโอกาสให้ชาวนาและโรงสีรายย่อยได้
ความรู้ในที่นี้หมายถึงความสามารถในการคาดการณ์ตลาดในอนาคตด้วยการวิจัย เมื่อมีการวิจัยที่มีคุณภาพจะสามารถพยากรณ์ปัจจัยในตลาดและราคาข้าวในอนาคตได้อย่างแม่นยำ และทำให้สามารถ
ตัดสินใจซื้อขายได้อย่างถูกต้องซึ่งบริษัทยักษ์ใหญ่สามารถทำสิ่งนี้ได้ แต่โรงสีรายย่อยไม่สามารถทำได้
อย่างไรก็ตาม แนวคิดนี้ไม่สามารถเป็นไปได้สำหรับโรงสีรายย่อยรายเดียว แต่อาจเป็นไปได้ในระดับมหภาครัฐบาลจึงควรอุดหนุนองค์กรที่เกิดจากการรวมตัวของโรงสีข้าวรายย่อย เช่นสมาคมโรงสีข้าวไทย ในการทำวิจัยเพื่อพยากรณ์ตลาด โดยโรงสีที่เป็นสมาชิกจะสามารถเข้าถึงผลการวิจัยได้ เมื่อโรงสีรายย่อยคาดการณ์อนาคตได้แม่นยำ จะส่งผลให้การตัดสินใจทางธุรกิจถูกต้องมากขึ้นและมีกำไรเพิ่มขึ้น
นอกจากนี้หากโรงสีรายย่อยต่างคาดการณ์อนาคตได้แม่นยำขึ้น โรงสีรายย่อยจะกล้าไปแข่งขันกันรับซื้อข้าวจากชาวนาในราคาที่สูงขึ้นด้วย สุดท้ายผลนี้จะไหลรินไปสู่ชาวนาที่จะขายข้าวได้ในราคาสูงขึ้น
หลายคนอาจกังวลว่า สุดท้ายโรงสีรายย่อยอาจฮั๊วกัน แล้วไปกดราคาข้าวของชาวบ้าน อย่างไรก็ตาม การฮั๊วกันนั้นจะประสบความสำคัญหากมีผู้เล่นน้อยราย แต่จากประวัติศาสตร์ที่ผ่านมานั้น จำนวนโรงสีมีจำนวนมาก จึงทำให้โรงสีเหล่านี้จึงมีพฤติกรรมแข่งขันกัน รวมถึงแข่งขันกับบริษัทยักษ์ใหญ่ด้วย
ในยุคที่เศรษฐกิจกำลังเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ระบบฐานความรู้นั้น การพัฒนาองค์ความรู้และสร้างโอกาสในการเข้าถึงองค์ความรู้เป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่งยวด ซึ่งไม่เพียงจำเป็นสำหรับภาคธุรกิจสมัยใหม่เท่านั้น แม้แต่ภาคการผลิตแบบดั้งเดิมอย่างการปลูกข้าวยังจำเป็นต้องมีองค์ความรู้ด้วยเช่นกัน
* นำมาจากหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันพุธดีที่16 เมษายน 2551
Tags:
เผยแพร่:
0
เมื่อ:
2008-04-19