พ.ร.บ.ธุรกิจต่างด้าว แก้หรือไม่ แก้อย่างไร

รัฐบาลใหม่ต้องเผชิญการตัดสินใจเชิงนโยบายหลายประการ โดยเฉพาะนโยบายที่เป็นประเด็นถกเถียงของสังคม เช่น การยกเลิกมาตรการกันสำรองเงินลงทุนจากต่างประเทศร้อยละ 30 การกำกับดูแลกิจการค้าปลีกและค้าส่ง การใช้สิทธิเหนือสิทธิบัตรยา เป็นต้น
ประเด็นสำคัญอีกประการหนึ่งที่รัฐบาลจะต้องตัดสินใจ คือ การแก้ปัญหาการใช้คนไทยเป็นตัวแทน (Nominee) ในการถือหุ้นแทนคนต่างประเทศ หรือการแก้ไขพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว ซึ่งมีข้อถกเถียงอย่างกว้างขวางและยังไม่สามารถหาข้อสรุปได้ในสมัยของรัฐบาลที่ผ่านมา
ฝ่ายที่เห็นว่า ควรแก้ไข พ.ร.บ.ฉบับนี้ ให้เหตุผลว่า ปัญหานอมินีสร้างความไม่เป็นธรรมต่อธุรกิจรายอื่นที่ทำตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย ไม่โปร่งใสและไม่เป็นธรรมต่อผู้ถือหุ้นรายย่อยของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ และยังเสียเปรียบต่างประเทศเพราะเปรียบเสมือนประเทศไทยเปิดเสรีการลงทุนแต่เพียงฝ่ายเดียว ซึ่งมากเกินกว่าข้อตกลงขององค์การการค้าโลก ดังนั้นจึงควรแก้ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบันที่มีนักลงทุนต่างชาติจำนวนมากใช้คนไทยในการถือหุ้นแทน
ขณะที่ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับการแก้ไข พ.ร.บ.ฉบับนี้ โต้แย้งว่า เป็นการส่งสัญญาณไม่ต้อนรับการลงทุนจากต่างประเทศ และจะทำให้ธุรกิจจำนวนมากถึงสี่หมื่นแห่งได้รับผลกระทบ ซึ่งเป็นการดำเนินการที่ไม่สมควรทำในภาวะที่เศรษฐกิจไทยยังชะลอตัว และเศรษฐกิจโลกกำลังเข้าสู่ภาวะชะลอตัวถึงถดถอย
เมื่อลงลึกในข้อกฎหมาย มีการถกเถียงอยู่ 2 ประเด็นหลัก
ประเด็นแรก คือ การแก้ไขนิยามของธุรกิจต่างด้าว โดยเพิ่ม ldquo;อำนาจควบคุมกิจการrdquo; เช่น สิทธิออกเสียงข้างมาก อำนาจในการแต่งตั้ง/ถอดถอนกรรมการ อำนาจการกำกับชี้นำกิจการ อำนาจให้ความเห็นชอบมติสำคัญ เป็นต้น จากเดิมที่มีเพียงความเป็นเจ้าของ (ถือหุ้นเกินกึ่งหนึ่ง) แต่ประเด็นนี้มีข้อถกเถียงเกี่ยวกับความยากง่ายในการตรวจสอบความมีอยู่ของอำนาจ โดยฝ่ายสนับสนุนให้แก้ไขนิยามยืนยันว่าสามารถตรวจสอบได้จากหนังสือบริคณห์สนธิหรือข้อบังคับนิติบุคคล
ประเด็นที่สอง คือ การแก้ไขบัญชีธุรกิจแนบท้าย พ.ร.บ. ซึ่งผู้ที่เห็นด้วยกับการแก้ไขนิยามของธุรกิจต่างด้าว เสนอว่า เมื่อแก้ไขนิยามให้เข้มงวดมากขึ้น ควรมีการผ่อนคลายบัญชีธุรกิจแนบท้าย พ.ร.บ.ให้ต่างชาติเข้ามาเป็นเจ้าของได้มากขึ้น เพื่อมิให้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวมมากเกินไป
แม้ข้อถกเถียงของทั้งสองฝ่ายล้วนมาจากความปรารถนาดีต่อเศรษฐกิจของประเทศทั้งสิ้น แต่ผมเห็นว่า การยืนยันว่าจะไม่แก้ไข พ.ร.บ. โดยไม่มีทางออกในการแก้ปัญหานอมินีนั้น เปรียบเหมือนการปัดฝุ่นเข้าใต้พรม รอวันที่ปัญหาจะประทุขึ้นอีกครั้ง ในขณะที่การแก้ พ.ร.บ.แบบตรงไปตรงมาจะสร้างความเสียหายต่อความเชื่อมั่นอย่างมาก
ผมจึงขอเสนอทางออกในการแก้ปัญหานี้ โดยมีข้อเสนอดังต่อไปนี้
หนึ่ง กระทรวงพาณิชย์และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรดำเนินการตรวจสอบข้อมูลและวิเคราะห์โครงสร้างความเป็นเจ้าของและการมีอำนาจควบคุมกิจการของคนต่างด้าวในธุรกิจประเภทต่าง ๆ และประเมินความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจที่เป็นของคนไทย รวมทั้งวิเคราะห์ความจำเป็นในการส่งเสริมการลงทุนจากต่างชาติในธุรกิจแต่ละประเภท
สอง ปรับปรุงนิยามธุรกิจของคนต่างด้าว โดยเพิ่มอำนาจควบคุมกิจการเฉพาะในส่วนที่สามารถตรวจสอบจากเอกสารของบริษัท เช่นหนังสือบริคณห์สนธิหรือข้อบังคับนิติบุคคล เพื่อให้การบังคับใช้กฎหมายมีประสิทธิภาพในตรวจสอบอำนาจควบคุมกิจการได้จริง
สาม นำข้อมูลที่สำรวจได้มาใช้จำแนกธุรกิจออกเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่ 1 ธุรกิจที่มีต่างชาติเข้ามาเป็นเจ้าของ (ตามนิยามใหม่) จำนวนมากแล้วแต่ธุรกิจของคนไทยยังแข่งขันได้ กลุ่มที่ 2 ธุรกิจที่มีต่างชาติเป็นเจ้าของจำนวนมากและธุรกิจของคนไทยแข่งขันไม่ได้ กลุ่มที่ 3 ธุรกิจที่มีต่างชาติเป็นเจ้าของไม่มากและธุรกิจของคนไทยยังแข่งขันได้ และกลุ่มที่ 4 ธุรกิจที่มีต่างชาติเป็นเจ้าของไม่มากแต่ธุรกิจของคนไทยแข่งขันไม่ได้ (ดังรูป)
รูปแสดงแนวทางการปรับปรุงบัญชีแนบท้าย พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว
ธุรกิจของต่างชาติ
เข้ามาลงทุนมากราย
เข้ามาลงทุนน้อยราย
ธุรกิจของคนไทย
แข่งขันได้
เปิดเสรี
เปิดเสรีแบบค่อยเป็นค่อยไป
แข่งขันไม่ได้
เปิดเสรีแบบมีเงื่อนไข
ปรับโครงสร้างการถือหุ้น
สี่ ปรับปรุงบัญชีธุรกิจแนบท้าย พ.ร.บ. ดังนี้ (ดังรูป)
กลุ่มที่ 1 ธุรกิจที่มีต่างชาติเข้ามาเป็นเจ้าของกิจการเป็นจำนวนมากแล้ว แต่ไม่ทำให้เกิดการผูกขาด และธุรกิจของคนไทยยังแข่งขันได้ แม้มีต่างชาติเข้ามาแข่งขันด้วย ควรเพิ่มเติมรายชื่อธุรกิจกลุ่มนี้ในบัญชีธุรกิจที่อนุญาตให้ต่างชาติเป็นเจ้าของได้โดยเสรี
กลุ่มที่ 2 ธุรกิจที่ต่างชาติเข้ามาเป็นเจ้าของกิจการเป็นจำนวนมากแล้ว แต่ธุรกิจของคนไทยแข่งขันไม่ได้ แต่ไม่ทำให้เกิดการผูกขาด เพราะมีการแข่งขันกันเองระหว่างธุรกิจต่างชาติ ควรจัดให้อยู่ในบัญชีที่เปิดให้ต่างชาติเข้ามาเป็นเจ้าของได้แบบมีเงื่อนไข กล่าวคือ ต้องขออนุญาตจากรัฐบาลเป็นกรณี ๆ ไป และต้องร่วมทุนกับคนไทย เพื่อให้เกิดการถ่ายทอดเทคโนโลยีมาสู่คนไทย
กลุ่มที่ 3 ธุรกิจที่ต่างชาติเข้ามาเป็นเจ้าของกิจการเป็นจำนวนไม่มาก และธุรกิจของคนไทยยังคงแข่งขันได้ ควรจัดให้อยู่ในบัญชีพิเศษ กล่าวคือ ยอมให้ธุรกิจต่างชาติที่เข้ามาลงทุนแล้วสามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ โดยขออนุญาตจากรัฐบาล และกำหนดระยะเวลาการเปิดเสรีอย่างชัดเจน รวมทั้งกำหนดมาตรการพัฒนาธุรกิจของคนไทยให้แข็งแกร่งมากขึ้น
กลุ่มที่ 4 ธุรกิจที่ต่างชาติเข้ามาเป็นเจ้าของกิจการเป็นจำนวนไม่มาก แต่กลับทำให้ธุรกิจของคนไทยแข่งขันไม่ได้ ซึ่งทำให้เกิดการผู้ขาดโดยธุรกิจต่างชาติ ธุรกิจกลุ่มนี้ควรดำเนินการด้วยมาตรการพิเศษ (โดยอาจใช้อำนาจตาม พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้า) อาทิ การบังคับให้มีการปรับโครงสร้างการถือหุ้นและอำนาจควบคุมกิจการ การบังคับขายกิจการบางส่วนให้นักลงทุนรายอื่นที่ไม่มีความเกี่ยวข้องกัน ฯลฯ
การดำเนินการตามข้อเสนอเช่นนี้เป็นการกำหนดนโยบายหรือออกกฎหมายตามสภาพที่เป็นจริง หรือตามข้อมูลที่ได้จากการสำรวจ และน่าจะไม่กระทบต่อความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจและธุรกิจมากนัก เพราะธุรกิจต่างด้าว (ตามนิยามใหม่) ส่วนใหญ่ยังสามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ มีเพียงธุรกิจจำนวนเล็กน้อยเท่านั้นที่จะถูกดำเนินมาตรการปรับโครงสร้างการถือหุ้น รวมทั้งคำนึงถึงประสิทธิภาพในการบังคับใช้กฎหมาย การป้องกันการผูกขาด และความสามารถในการแข่งขันของคนไทยด้วย
admin
เผยแพร่: 
หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์
เมื่อ: 
2008-02-25