ผู้นำกับความสัตย์จริง
ldquo;คุณสมบัติสำคัญและจำเป็นยิ่งที่ผู้นำต้องมี คือ ความสัตย์จริง ด้วยว่า หากผู้นำปราศจากซึ่งสัตย์จริงเสียแล้ว ความสำเร็จที่แท้จริงย่อมมิอาจเกิดขึ้นได้ ไม่ว่าจะอยู่ในระดับกลุ่ม ก๊วน ในสนามกีฬา ในกองทัพ หรือในรัฐบาลrdquo;(Dwight D. Eisenhower)
จากคำพูดของนายดไวท์ ดี. ไอเซนฮาว์น ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ดังกล่าวข้างต้น สะท้อนให้เห็นสิ่งที่สำคัญที่สุดที่ ผู้นำ ต้องมี นั่นคือ ความสัตย์จริง (integrity) ซึ่งคุณลักษณะนี้มิได้กำหนดไว้เพียงแก่การบริหารงานภายในองค์กรเท่านั้น แต่ได้กล่าวรวมไปถึงผู้นำในทุก ๆ ระดับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับผู้นำทางการเมือง/ผู้นำประเทศที่ ldquo;ปฏิเสธrdquo; ไม่ได้ว่า สมควรอย่างยิ่งที่จะต้องมีคุณลักษณะดังกล่าว
สตีเฟ่น คาร์เตอร์ (Stephen L. Carter) ได้กล่าวไว้ในหนังสือชื่อ Integrity ของเขาว่า ความสัตย์จริงนั้น นับเป็นคุณธรรมอันดับแรกที่สะท้อนว่า เราเป็นคนดีหรือไม่ เป็นคุณสมบัติที่เหนือกว่าคุณสมบัติอื่น ๆ ที่สะท้อนให้เห็นถึงคุณธรรมในใจเรา ที่สำคัญ ความสัตย์จริงนั้น นับเป็นพื้นฐานของระบอบประชาธิปไตย หากต้องการจะเห็นประชาธิปไตยในประเทศเข้มแข็ง จะต้องประกอบไปด้วยการเมืองที่สัตย์จริง ประชาชนสัตย์จริง นักการเมืองสัตย์จริง
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้นำประเทศ ที่ยึดมั่นในความสัตย์จริง
คาร์เตอร์ได้ให้ความหมายของ คนที่มีความสัตย์จริง (integrity) ไว้ว่า ต้องประกอบด้วยองค์ประกอบ 3 ขั้นตอน อันได้แก่
ขั้นที่หนึ่งตระหนักรู้ว่าสิ่งใดถูก สิ่งใดผิด ให้เวลาในการใคร่ครวญแยกแยะว่าสิ่งใดถูกหรือผิดอย่างไร ให้เหตุผลได้อย่างชัดเจนว่าตนเชื่อว่าสิ่งนั้นถูกหรือผิดเพราะเหตุใด
ขั้นที่สองกระทำสอดคล้องกับสิ่งที่ตระหนักนั้นมั่นคงในความเป็นคนสัตย์จริง เมื่อเราเชื่อว่าสิ่งใดถูก ต้องมีการแสดงออกที่สะท้อนความเชื่อนั้นด้วยldquo;ทำในสิ่งที่คิด คิดในสิ่งที่ทำrdquo; แม้ต้องจ่ายราคาหรือสูญเสียบางอย่างก็ตาม และต้องต่อสู้อย่างเปิดเผย หากเราเชื่อว่าสิ่งใดไม่ถูกต้อง
ขั้นที่สาม สื่อสารอย่างเปิดเผยเกี่ยวกับสิ่งที่ตนทำ สิ่งที่ทำนั้นสอดคล้องกับสิ่งที่เขาคิดว่าถูกต้อง และไม่อายในการทำสิ่งที่ถูกต้องโดยกล้าบอกว่า ได้กระทำสิ่งใด เหตุใดจึงทำเช่นนั้น สามารถสื่อสารต่อสาธารณชนได้ว่า เราคิดว่าสิ่งที่เราทำนั้นถูกต้อง ชอบธรรม แม้มีบางคนที่ไม่เห็นด้วย
เมื่อพิจารณาเฉพาะ หัวหน้าพรรคการเมือง ในฐานะบุคคลที่มีโอกาสก้าวขึ้นเป็น ผู้นำ/ผู้บริหารประเทศ หากได้รับความไว้วางใจจากประชาชนในการเลือกตั้ง หากเป็นบุคคลที่มีความสัตย์จริงเช่นนี้ ประชาชนย่อมสามารถเชื่อมั่นและมั่นใจได้ว่า สิ่งที่เขาคิด สิ่งที่เขาพูด นโยบายต่าง ๆ ที่ได้สื่อสารหาเสียงไว้ จะสอดคล้องกับสิ่งที่เขาต้องการ และจะพยายามอย่างเต็มที่ที่จะทำให้เกิดขึ้นจริง มิใช่หาเสียงเพื่อให้ได้รับการเลือกเท่านั้น
หากผู้นำทางการเมืองมีคุณลักษณะเช่นนี้ เขาจะเป็นคนที่เชื่อในสิ่งที่เขาทำ แม้ว่าสิ่งนั้นอาจจะก่อให้เกิดผลเสียกับเขามากกว่าผลดี บุคคลหนึ่งที่น่ายกย่องชื่นชม ได้แก่ นายอัล กอร์ (Al Gore) ในช่วงการเลือกตั้งประธานาธิบดีในปี 2000 เขาได้มุ่งมั่นรณรงค์เรื่องสิ่งแวดล้อม ชูประเด็นนี้ให้ประชาชนเห็นความสำคัญ ทั้ง ๆ ที่เขาสามารถเล่นในประเด็นอื่น ๆ เพื่อหาเสียงประชาชน เพราะเขาเคยดำรงตำแหน่งรองประธานาธิบดี ในสมัยของประธานาธิบดีคลินตัน แต่เขายังยืนหยัดหาเสียงเรื่องสิ่งแวดล้อม ซึ่งประชาชนขณะนั้นมองว่าเป็นเรื่องไกลตัว ตนไม่ได้รับผลประโยชน์โดยตรงและมีส่วนทำให้อัลกอร์พลาดตำแหน่งประธานาธิบดีในการเลือกตั้งครั้งนั้น
แม้จะพ่ายแพ้การเลือกตั้งครั้งนั้น สิ่งหนึ่งที่เราเห็นชัดเจน คือ เขาไม่ได้หยุดที่จะรุกเร้าให้คนทั้งโลกตระหนักถึงภัยร้ายของภาวะโลกร้อน เขาตระเวนบรรยายไปทั่ว และดำเนินกิจกรรมมากมายที่สอดคล้องไปกับประเด็นเรื่องสิ่งแวดล้อมอย่างชัดเจน ซึ่งเป็นการแสดงอย่างชัดเจนว่าเขายึดมั่นอยู่ในความสัตย์จริง และย่อมสร้างความเชื่อมั่นและแน่ใจได้ว่า หากเขามีโอกาสลงสมัครรับเลือกตั้ง และมีโอกาสได้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีหรือตำแหน่งสำคัญอื่น เขาย่อมผลักดันนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมตามที่ได้ประกาศไว้อย่างแน่นอน แม้จะถูกต่อต้านขัดขวางจากกลุ่มนายทุนหรือกลุ่มอิทธิพลอื่น ๆ ก็ตาม
ความสัตย์จริงของนักการเมืองหรือผู้นำทางการเมืองเป็นสิ่งที่สำคัญ เพราะจะเป็นสิ่งที่บอกว่าเขานั้นเป็นคนอย่างไรและเขาจะบริหารประเทศไปในทิศทางเช่นไร หากเป็นนักการเมืองแห่งความสัตย์จริง เขาจะยึดมั่นในสิ่งที่ถูกต้อง แม้ว่าสิ่งนั้นจะก่อให้เกิดผลเสียต่อเขามากกว่าผลดี เขาจะเลือกในสิ่งที่ถูกต้องมากกว่าผลประโยชน์ ทำให้การบริหารของเขาไม่ว่าจะเป็นพรรคหรือประเทศจะยึดอยู่ในความถูกต้องมากกว่าพวกพ้องหรือผลประโยชน์ที่จะได้รับ
ในทางตรงกันข้าม หากนักการเมืองหรือผู้นำทางการเมืองขาดความสัตย์จริง ผลเสียย่อมตกแก่ประชาชน ไม่ว่าจะเป็น การตัดสินบริหารอย่างไร้หลักการ การดำเนินนโยบายไม่ชัดเจน ขาดจุดยืน ตอบสนองเพียงความพึงพอใจของประชาชน หรือการดำเนินการเพื่อเอื้อประโยชน์ต่อพวกพ้องของตนเองโดยไม่สนใจว่าจะก่อให้เกิดผลเสียต่อภาพรวมเช่นไร ดังนั้นเองหากต้องการเห็นการเมืองที่เป็นธรรมาภิบาลจะต้องเริ่มต้นที่การสร้างการเมืองแห่งความสัตย์จริง เพื่อก่อให้เกิดการเมืองที่เป็นประชาธิปไตยที่เข้มแข็งต่อไป
* นำมาจากหนังสือพิมพ์โลกวันนี้ ฉบับวันศุกร์ที่ 21 ธันวาคม 2550
แสดงความคิดเห็น
เผยแพร่:
0
เมื่อ:
2007-12-27