อธิการบดีรูเดนสไตน์: แบบอย่างผู้บริหารในยุคของการแข่งขัน

การแข่งขันที่รุนแรงในธุรกิจการศึกษา ส่งผลให้ผู้ที่จะก้าวขึ้นมาเป็นผู้บริหารมหาวิทยาลัยต้องมีความสามารถหลายประการ กล่าวคือไม่เพียงแต่เป็นผู้ที่มีความรู้ความสามารถในเชิงวิชาการเท่านั้น หากแต่ยังต้องมีความสามารถด้านอื่นประกอบด้วย เพื่อจะทำหน้าที่นำพามหาวิทยาลัยให้ก้าวไปสู่การเป็นผู้นำทางความคิด นำทิศนำทางแก่สังคม เป็นผู้ที่สามารถโน้มน้าวคนในสังคมให้คล้อยตามไปในทางที่สร้างสรรค์

อธิการบดีหลายท่านของฮาร์วาร์ด ได้แสดงให้เห็นถึงภาพของผู้นำที่เป็นแบบอย่างในการบริหารมหาวิทยาลัยให้ก้าวไปสู่ความเป็นผู้นำในโลก โดยแสดงถึงภาพของผู้บริหารที่ประกอบด้วยความสามารถหลายด้าน และมีลักษณะนิสัยที่เอื้อต่อการเป็นนักบริหารที่ดี

อธิการบดีนีล รูเดนสไตน์ (
Neil Rudenstine) นับเป็นผู้นำคนหนึ่งที่ถือได้ว่าเป็นผู้นำที่เป็นแบบอย่างที่ดี เขาได้แสดงวิสัยทัศน์ที่ชัดเจนว่า จะสร้างความยั่งยืนให้กับฮาร์วาร์ดโดยการสนับสนุนการเข้าถึงการศึกษาแก่นักเรียนทุกกลุ่ม การสร้างความหลากหลายให้เกิดขึ้นในมหาวิทยาลัย การก้าวไปสู่ความเป็นสากล การริเริ่มเป็นผู้นำในการเรียนการสอนข้ามสาขาวิชา รวมถึงการใช้ประโยชน์จากความก้าวหน้าของเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการพัฒนาการศึกษาและงานวิจัยของมหาวิทยาลัย

การเป็นนักการศึกษาที่มีวิสัยทัศน์และเป็นผู้บริหารที่กล้าทำในสิ่งที่ท้าทายนี้เอง ทำให้อธิการบดีรูเดนสไตน์ได้ชื่อว่า เป็นผู้นำที่เป็นตำนานที่มีชีวิตของฮาร์วาร์ดคนหนึ่ง

ในสมัยของอธิการบดีรูเดนสไตน์นั้น เราได้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงหลายประการในฮาร์วาร์ดไม่ว่าจะเป็น การขยายตัวของเงินสนับสนุนการศึกษาแก่นักศึกษา ที่กระจายไปยังนักศึกษาทุกกลุ่ม การริเริ่มหลักสูตรนานาชาติใหม่ ๆ การเกิดขึ้นของหลักสูตรการเรียนการสอนข้ามคณะ ข้ามสาขาวิชา

ผลงานที่สำคัญของอธิการบดีรูเดนสไตน์คือ การเป็นผู้ก่อตั้งสถาบันสหวิทยาการที่ทำให้เกิดการเชื่อมโยงการเรียนการสอนในส่วนต่าง ๆ ของมหาวิทยาลัย ผ่านการจัดตั้ง วิทยาลัยเรดคริฟฟ์เพื่อการศึกษาขั้นสูง
(
Radcliffe Institute for Advanced Study) ที่เป็นศูนย์การเรียนการสอนแบบสหวิทยาการของฮาร์วาร์ด

ความสำเร็จของการบริหารมหาวิทยาลัย ส่วนหนึ่งเกิดจากลักษณะนิสัยของอธิการบดีรูเดนสไตน์ที่เป็นนักเรียนรู้ เป็นผู้นำที่ให้เกียรติคนอื่นอยู่เสมอ มีความรับผิดชอบต่อประชาคมฮาร์วาร์ด ยินดีรับฟังความคิดเห็นของทุกคน มีความถ่อมสุภาพต่อทีมงาน แต่ในขณะเดียวกันเป็นผู้ที่ยึดมั่นที่จะทำในสิ่งที่เป็นประโยชน์สูงสุดต่อมหาวิทยาลัย
ผมเชื่อว่า แบบอย่างชีวิตของอธิการบดีรูเดนสไตน์ จะเป็นเสมือนแรงบันดาลใจแ่ผู้บริหารมหาวิทยาลัยไทยหลายท่านซึ่งเป็นบุคคลสำคัญในการนำทิศทาง จะต้องพัฒนาและปรับบทบาทให้สอดคล้องและสามารถรองรับแนวโน้มการจัดการอุดมศึกษาในอนาคต เพื่อสามารถบริหารการจัดการศึกษาได้อย่างมีคุณภาพ สามารถอยู่รอดและแข่งขันได้ ยกตัวอย่างเช่น

เป็นนักระดมทุน
มีความสามารถในการบริหารจัดการมหาวิทยาลัย เพื่อสร้างรายได้เพิ่มเติมนอกเหนือจากที่ได้รับการอุดหนุนจากรัฐ หากแต่ยังคงต้องดำเนินการจัดการศึกษาที่มีคุณภาพ อีกทั้งควรมีสามารถบริหารงานที่เน้นความมีประสิทธิภาพทั้งด้านเวลาและค่าใช้จ่าย แต่มิใช่หมายความว่าเป็นผู้ยึดกำไรเป็นหลัก

เป็นนักพัฒนา ให้ความสำคัญในการพัฒนาตนเอง พัฒนางาน และระบบบริหาร ให้มีการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น รองรับต่ออนาคตที่จะมาถึง เปิดกว้างในการเข้าถึงและศึกษาข้อมูลข่าวสารและนวัตกรรม เื่อจะนำความรู้ที่มีอย่างมากมายมาใช้ในการพัฒนาระบบการบริหาร

เป็นนักเจรจาต่อรองและประสานงาน
เป็นผู้ที่สนับสนุนงานในส่วนงานต่าง ๆ ให้ดำเนินการอย่างราบรื่น เจรจากับหน่วยงานภายใน และภายนอกเพื่อสร้างความร่วมมือและจัดการผลประโยชน์ที่เกี่ยวข้องกับมหาวิทยาลัย รวมถึงการเจรจาเพื่อแก้ปัญหาความขัดแย้งต่าง ๆ ที่อาจจะเกิดขึ้น

เป็นนักบริการ เป็นผู้มีหัวใจบริการต่อคนทุกกลุ่มที่มาขอรับบริการ สามารถตอบสนองต่อความต้องการของกลุ่มเป้าหมายแบบรวดเร็วทันใจ ตรงตามความต้องการ และแสดงออกถึงความนับถือ และให้เกียรติผู้อื่นเสมอ

นอกจากความสามารถที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว ลักษณะชีวิตที่ดีของผู้นำก็เป็นอีกสิ่งที่เอื้อต่อการประสบความสำเร็จในการบริหารงาน ดังที่ผมเคยนำเสนอในหนังสือ ldquo;ยอดมนุษย์ : ลักษณะชีวิต พิชิตความสำเร็จrdquo; และ ldquo;คนแถวหน้าrdquo; ไม่ว่าจะเป็น การรักการเรียนรู้ การมีวิสัยทัศน์ การยินดีรับฟังความคิดเห็นที่แตกต่าง การเคารพทีมงาน การมีความรับผิดชอบในการบริหารงาน ฯลฯ

ช่วงรอยต่อของการพัฒนาการอุดมศึกษาไทย การแข่งขันกับมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ที่เพิ่มมากขึ้น ผู้บริหารมหาวิทยาลัยเป็นปัจจัยสำคัญในการนำทิศทาง และความสำเร็จมาสู่มหาวิทยาลัย ดังนั้นผู้บริหารจึงควรพัฒนาตนเองให้เป็นผู้นำให้เอื้อต่อการบริหารมหาวิทยาลัยในสภาพยุคแห่งการแข่งขัน
admin
เผยแพร่: 
สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์
เมื่อ: 
2007-12-14